เวลาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่เราๆ รู้สึกได้เลยคือ “ทำไมอากาศดีจัง” สูดได้เต็มปอด สัมผัสได้ว่าสะอาดบริสุทธิ์

 

 

เรื่องนี้เราๆ ไม่ได้รู้สึกไปเอง เพราะหากเช็คในแอปพลิเคชั่น เช่น AirVisual ค่า AQI (Air Quality Index) ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ จะเห็นว่า ญี่ปุ่นจะเขียวๆ เหลืองๆ ดูสะอาดตาทั้งประเทศ (สีแดงคืออากาศไม่ดี) แม้กระทั่งโซนที่เป็นเมืองศูนย์กลางใหญ่ประชากรหลายสิบล้านคนอย่างโตเกียวและเมืองรอบๆ ก็ยังเขียวแทบทั้งหมด

 

Photo Cr. aqicn.org/city/tokyo ข้อมูลเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2019 เวลาประมาณ 11:00 น.

 

เกริ่นกันก่อนว่า อากาศในญี่ปุ่นไม่ใช่จู่ๆ ก็ดีของมันเองแต่ไหนแต่ไร ญี่ปุ่นก็เคยผ่านช่วงเวลาที่บ้านเมืองปกคลุมไปด้วยมลภาวะทางอากาศ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยของเสียอย่างไม่มีความรับผิดชอบ เป็นสภาพที่แตกต่างจากปัจจุบันพอสมควร เราลองมาดูวิธีการต่างๆ ที่ญี่ปุ่นพยายามแก้ไขจนมาถึงจุดนี้ได้กันดีกว่า

ค่า AQI แปลผันโดยตรงกับประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองๆ หนึ่ง นี่เป็นสเกลเล็กแต่สำคัญ ถ้าเราอาศัยอยู่ในเมืองเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อเราโดยตรง หากยกเว้นตามร้านอิซากายะและร้านอาหารบางแห่งแล้ว การสูบบหรี่มักถูกจัดในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น ตามท้องถนนเราเลยมักเห็นคนเดินไปสูบไป ไม่มากเท่าไร เพราะสำหรับคนไม่สูบบุหรี่ กลิ่นควันบุหรี่เหม็นและเป็นตัวทำลายสุขภาพ (บุหรี่มือสองร้ายแรงกว่า)

 

ห้องสูบบุหรี่ที่จัดไว้ให้ในอาคาร

 

ผู้คนไม่มีแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ เพราะขนส่งมวลชนสะดวกสบายกว่า ประหยัดเงินกว่า และประหยัดเวลากว่า มาจากการที่รัฐลงทุนในระบบคมนาคมแบบ “บูรณาการ” ไม่ใช่แค่รถไฟเป็นหลัก แต่รวมถึงเครือข่ายรถเมล์ เลนจักรยานและฟุตบาธทางเดินเท้า จาก A ไป B สามารถทำไปโดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์

 

จุดขึ้นรถเมล์ แท็กซี่ รับคนต่อจากสถานีรถไฟ (Tokyo Station)

ออกแบบเผื่อ จักรยานและคนเดิน

 

อีกทั้งรัฐยังออกกฎหมาย เวลาใครจะซื้อรถ ถ้าไม่มีที่จอดรถ ไม่ว่าจะพื้นที่ในบ้านของตนหรือไปเช่าที่ ก็ไม่สามารถซื้อได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเสมอ แต่มีเงื่อนไขยกเว้นพิเศษ เช่นสำหรับรถจิ๋ว K-Car เมื่อการครอบครองรถทำได้ยาก (ยังไม่รวมการสอบใบขับขี่ที่เข้มงวดและที่จอดรถในเมืองที่แพงอีก) รถบนท้องถนนก็น้อยลง และปริมาณการปล่อยควันพิษก็น้อยลงเช่นกัน

 

ซื้อรถต้องมีที่จอด จอดข้างทางหรือในซอยไม่ได้

บางครั้งบางจุดถนนโล่งมาก

 

รถเมล์ก็ได้รับการตรวจสภาพรถสม่ำเสมอ คันไหนที่เก่าเกินก็ถูกปลดระวาง ส่วนคันรุ่นใหม่ๆ ก็ปล่อยควันเสียน้อยลง เราจึงแทบไม่เคยเห็นรถเมล์ในญี่ปุ่นระเบิดควันดำไอเสียฟุ้งออกมาเลย ไซต์งานก่อสร้างต่างๆ มีระเบียบการคุมเข้มงวด ต้องมีการปิดคลุมทั่วทั้งตึกเพื่อให้ฝุ่นเล็ดลอดออกมาได้น้อยที่สุด มีการตรวจอายุรถบรรทุกไม่ให้มีควันดำ และรถที่จะออกจากไซต์ก่อสร้าง ต้องมีการล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ก่อน

 

ผ้าคลุมมิดชิดทั้งตึก!

 

ญี่ปุ่นได้ออกกฏหมายพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะทั้งในเมืองและนอกเมืองอยู่หลายฉบับ แม้แต่โตเกียวที่เป็นมหานครใหญ่ ผู้คนหลายสิบล้านคนแออัดกันในนี้ ยังมีพื้นที่สีเขียวราว 12 ตารางเมตร/คน สูงกว่ามาตรฐานโลกอยู่ที่ 9 ตารางเมตร/คน (กรุงเทพ 3 ตารางเมตร/คน) ยังมีอีกหลายเมืองที่ทำได้ดีกว่าโตเกียวมากในแง่พื้นที่สีเขียว อย่างเช่น เซ็นได ที่ปลูกต้นไม้สูงใหญ่ตามข้างถนนทั่วทั้งเมือง ร่มรื่น อากาศดี

 

เซ็นได เขียวร่มรื่นทั้งเมือง

 

หรือมาดูสเกลในภาพรวมกันบ้าง ญี่ปุ่นหันมาใช้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 1960 แทนที่พลังถ่านหินที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าอันเกิดจากการเผาไหม้โรงงานอุตสาหกรรมถูกตรวจสอบจากหน่วยงานอย่างเข้มงวดถึงการผ่านเกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนต้องเปิดเผยโปร่งใส เพื่อลดช่องว่างปัญหาการยัดเงินใต้โต๊ะ มีตั้งค่าปรับสูงๆ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เช่นปี 1972 ได้ออกกฎหมาย Absolute Liability Law ที่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ก่อมลภาวะ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก่ผู้เสียหาย สื่อมวลชนญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยตรวจสอบเช่นกัน

ภาคประชาชนก็มีส่วนแข็งแกร่ง กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษจับกลุ่มรวมตัวกัน มีการยื่นหนังสือร้องเรียน เข้าพบประชุมหารือกับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ถึงปัญหานี้ เช่นในปี 1973 มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นองค์กร National Liaison Council for Pollution Victims Organizations มีการประสานงานกันระดับภูมิภาคในสเกลที่กว้างขึ้น นำไปสู่การริเริ่มมาตรการภาครัฐที่มีความเข้มข้นมากขึ้น

 

อากาศดีในวันนี้ เพราะอดีตเคยฝ่าฟันกันมาก่อนทั้งนั้น

 

ควันไอเสียจากรถคือสิ่งที่คนพบเจอในชีวิตประจำวันและสูดดมเข้าร่างกายโดยตรง บริษัทรถยนต์เอกชนก็เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เราจะเห็นชัดเลยว่ารถยุคใหม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emissions) น้อยกว่ายุคเก่ามาก ทั้งเพราะใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการทำการตลาดในหลายประเทศ

ภาครัฐก็ช่วยด้วย เช่นในปี 1999 ได้ออกกฎข้อบังคับ Diesel Vehicle Regulation ควบคุมและสร้างการตระหนักถึงผลเสียจากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากรถดีเซล เป็นตัวทำให้เกิดมะเร็งและความผิดปกติทางด้านทางเดินหายใจได้

บริษัทรถเองก็คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาตลอดไม่ว่าจะรถพลังงานไฮโดรเจน Toyota Mirai  รถไฟฟ้า Nissan Leaf หรือของ Tesla เหล่านี้กำลังเติบโตและน่าจะมาแทนรถน้ำมันในอนาคต

 

Toyota Mirai รถไฮโดรเจน ปล่อย CO2 เป็น 0

 

ญี่ปุ่นยังคงมีปัญหาสิ่งแวดล้อมในรายละเอียดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกันอยู่ตลอด (ญี่ปุ่นเองก็เปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีมาตรฐานสูงเช่นกัน อย่างประเทศแถบยุโรปตะวันตก) แต่ภาพรวมอากาศที่ญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่ได้มาจาก “จิตสำนึก” ของบุคคลเท่านั้น แต่มาจากทั้ง “ระบบ” ที่ส่งเสริมช่วยกันนำพาสังคมไปสู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดตัวพวกเขาเองก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ