Japanese Traditional Food |

OSECHI มื้ออาหารปีใหม่ส่งความสุข

เวลาช่างผ่านไปไวเหมือนโกหก อีกนิดก็จะถึงวันปีใหม่แล้ว หากเป็นบ้านเรา บ้างคงนอนพักผ่อนอยู่บ้าน บ้างคงจองทริปเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หรือไม่ก็กลับภูมิลำเนาเพื่อใช้เวลาร่วมกับครอบครัว

ไม่ใช่แค่คนไทยที่มีกิจกรรมหลากหลายทำในช่วงวันหยุด คนญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกัน ผู้คนส่วนหนึ่งกลับบ้านเกิดเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว (เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองกลายเป็นเมืองเงียบไปชั่วขณะไม่แพ้กรุงเทพฯ เลย) ได้ทำอาหารรับประทานพร้อมหน้าพร้อมตากัน หนึ่งในนั้นคือ “โอเซจิ” (Osechi) ซึ่งนิยมรับประทานกันในวันที่ 1-3 มกราคมของทุกปี

 

มื้ออาหารโอเซจิ (Osechi) ซึ่งนิยมรับประทานกันในวันที่ 1-3 มกราคมของทุกปี

 

แม้ดูเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารทั่วๆ ไป แต่ประเพณีการรับประทานโอเซจินี้ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะหรือราว 400 กว่าปีก่อนเลยละ อาหารแต่ละอย่างถูกจัดเรียงอยู่ในกล่องที่เรียกว่า “จูบะโกะ” (Jubako) สวยงาม มีหลายชั้น เพื่อเก็บไว้กินถึง 3 วัน และยังเป็นช่วงเวลาที่เหล่าแม่บ้านจะได้หยุดพักหลังต้องดูแลคนในครอบครัวมาทั้งปีอีกด้วย

แต่ก่อน แม่บ้านญี่ปุ่นจะออกไปจ่ายตลาดแล้วทำโอเซจิเตรียมไว้เพื่อรับประทานร่วมกันเมื่อเริ่มวันใหม่ของปี คนในครอบครัวจะได้รับประทานอาหารรสมือแม่ แต่ในปัจจุบัน โอเซจิมีจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป หรือตามร้านอาหารหลายแห่งก็พร้อมรับออร์เดอร์อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าหรือคุณแม่บ้านเพื่อย่นระยะเวลาเตรียมอาหาร แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็มีร้านอาหารญี่ปุ่นบางแห่งรับสั่งจองเมนูโอเซจิด้วยเหมือนกันนะ

_

อาหารแห่งความโชคดี กินแล้วแฮปปี้ตลอดปี

 

อาหารแต่ละอย่างถูกจัดเรียงอยู่ในกล่องที่เรียกว่า จูบะโกะ (Jubako)

 

วัตถุดิบมากมายในกล่องที่จัดเรียงอย่างสวยงาม อัดแน่นเต็มกล่องจนแทบไม่กล้าแตะหรือบ้างก็จัดแต่งลงจาน ล้วนมีความหมายเพื่อเป็นสิริมงคล แม้มีวัตถุดิบหลายชนิด แต่เราจะเห็นวัตถุดิบพื้นฐานที่ต้องมี เช่น

 

ไข่ปลาเฮอร์ริ่ง (Kazu no ko)

 

โอเซจิ (Osechi) : ไข่ปลาเฮอร์ริ่ง (Kazu no ko)

 

ปลาชนิดนี้วางไข่จำนวนมาก ไข่ปลาจึงสื่อว่าให้มีลูกหลานสืบตระกูล โดยปกติจะนำไปหมักเกลือ หรือหมักในน้ำต้มปลาทูน่าแห้งให้มีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น

ถั่วดำ (Kuro mame)

 

โอเซจิ (Osechi) : ถั่วดำ (Kuro mame)

 

คำว่าถั่ว (mame) ในภาษาญี่ปุ่น ยังเป็นคำพ้องเสียงที่หมายถึง “ร่างกายแข็งแรง, สุขภาพดี” ปกติจะนำถั่วดำไปต้มหวานหรือทำถั่วเคี่ยว

ปลาซาร์ดีนตากแห้ง (Gomame)

 

โอเซจิ (Osechi) : ปลาซาร์ดีนตากแห้ง (Gomame)

 

Gomame แปลตามตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นได้ว่า “ข้าวห้าหมื่น” เพื่อขอให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ นิยมปรุงเนื้อปลาด้วยน้ำตาลและโชยุ โรยงาเพิ่มกลิ่นหอม

กุ้ง (Ebi)

 

โอเซจิ (Osechi) : กุ้ง (Ebi)

 

ตัวกุ้งงอดูคล้ายผู้สูงอายุหลังค่อม การกินกุ้งก็เพื่อขอให้มีอายุยืนยาวจนหลังงองุ้ม

สาหร่ายม้วน (Kobu maki)

 

โอเซจิ (Osechi) : สาหร่ายม้วน (Kobu maki)

 

คำว่า Kobu พ้องเสียงกับคำว่า “ยินดี” (Yorokobu) เพื่อขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืน    

คะมะโบะโกะ (Kamaboko)

 

โอเซจิ (Osechi) : คะมะโบะโกะ (Kamaboko)

 

เนื้อปลาบดนึ่ง ผิวนอกสีชมพู เนื้อในสีขาว ดูคล้ายดวงอาทิตย์ และเป็นสีมงคลแห่งการเฉลิมฉลอง  

 

ไข่เจียวม้วน (Datemaki)

 

โอเซจิ (Osechi) : ไข่เจียวม้วน (Datemaki)

 

Date แปลว่า รุ่งเรือง สีเหลืองของไข่ยังแสดงถึงโชคลาภและเงินทอง เพื่อขอให้มีฐานะมั่งคั่ง

_

นอกจากโอเซจิแล้ว ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่นิยมรับประทานในช่วงปีใหม่เหมือนกัน ซึ่งอาหารแต่ละอย่าง ก็มีความหมายดี กินแล้วจะโชคดี ชีวิตแฮปปี้ไม่แพ้โอเซจิเลย ในครั้งนี้จะขอยกมาแนะนำ 3 เมนู คือ

 

โซบะข้ามปี (Toshikoshi Soba)

 

โซบะข้ามปี (Toshikoshi Soba)

 

เหง่ง หง่าง เหง่ง หง่าง (อาจฟังดูแปลกไปนิด แต่นี่คือเสียงระฆัง) หลังจากที่วัดตีระฆังต้อนรับปีใหม่จนครบ 108 ครั้ง เสียงบนโต๊ะอาหารก็จะดังซู้ด~ ตามมา นั่นคือเสียงสูดเส้นโซบะนั่นเอง

หนึ่งเมนูสุดฮิตที่นิยมรับประทานกันแทบทุกบ้านคือโซบะข้ามปี เพื่อขอพรให้มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาวเหมือนเส้นโซบะ (ยิ่งยาวยิ่งดี) เมนูนี้หน้าตาไม่ได้พิเศษเท่าโอเซจิก็จริง แต่กินแล้วทั้งโชคดี (และอร่อย) ไม่แพ้กัน มีหลายรูปแบบเหมือนเมนูที่มีให้สั่งทั่วไป ทั้งโซบะแบบออริจินัล เคียงท็อปปิ้ง แบบเย็น แบบร้อน เสิร์ฟในตะกร้า ในถาดไม้ไผ่ เลือกรับประทานตามที่ถูกใจได้เลย

ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ขอแค่กินให้หมดอย่าให้เหลือ เพราะแอบมีความเชื่อที่ว่า หากกินไม่หมด สิ่งที่ขอพรไว้อาจจะไม่สมหวังก็ได้นะ

โอะโซนิ (Ozoni)

 

โอะโซนิ (Ozoni)

 

ซุปใส่โมจิ (เสิร์ฟในถ้วยคล้ายซุปมิโซะ) ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในซุปมีเครื่องมากมาย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ “โมจิ”

ในอดีต เมื่อใกล้วันสิ้นปี ทุกครอบครัวจะทุบแป้งโมจิ ปั้นเป็นก้อน เตรียมไว้ถวายเทพแห่งการเกษตร เพื่อขอให้พืชที่ปลูกอุดมสมบูรณ์และช่วยคุ้มครองคนในครอบครัว ดังนั้น เมื่อถึงวันปีใหม่ ทุกคนในครอบครัวจะรับประทานโมจิร่วมกับเทพเจ้าที่อยู่ในรูปแบบโอะโซนิ เป็นอาหารมงคล กินแล้วจะโชคดีนั่นเอง โอะโซนิในแต่ละพื้นที่มีสูตรแตกต่างกันซึ่งบางพื้นที่อาจจะไม่ใส่โมจิ

ข้าวต้มสมุนไพร 7 ชนิด (Nanakusa Gayu)

 

ข้าวต้มสมุนไพร 7 ชนิด (Nanakusa Gayu)

 

หลังฉลองกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ เมื่อเข้าสู่วันที่ 7 หลังเทศกาลปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานข้าวต้มสมุนไพรจากพืช 7 ชนิด ทั้งช่วยปรับสภาพกระเพาะอาหารหลังอิ่มหมีพีมันกับอาหารและเครื่องดื่มมากมายอยู่หลายวัน อีกทั้งยังเชื่อว่าช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บจากสภาพอากาศหรือไม่ทำให้เป็นหวัดด้วย

สมุนไพรทั้ง 7 ชนิดที่ใส่ในข้าวต้ม มีสรรพคุณดีๆ มากมาย ช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนเลือด ระบบขับถ่าย ลดอาการไอ ขับเสมหะ ระบบการย่อยอาหาร อุดมไปด้วยสารอาหาร กินแล้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้งนอกจากจะนิยมใช้พืช 7 ชนิด ซดพร้อมข้าวต้มร้อนๆให้คล่องคอที่ว่านี้แล้ว คนญี่ปุ่นยังเชื่อว่าเลข 7 คือลักกี้นัมเบอร์ กิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเลข 7 จึงถือว่าเป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้นเลย

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ