YAYOI KUSAMA | ด้วยรักและบูชาวิญญาณอันเป็นนิรันดร์ของป้ายะโยะอิ EP.2
YAYOI KUSAMA
เรามักจะคุ้นเคยกับผลงานภาพเขียนลายจุดบนแคนวาส พื้นผิวเรียบดูเงียบ ไร้สุ้มเสียง หากแต่ซุกซ่อนความหมายผ่านสัญลักษณ์ความหมกมุ่นในลายจุด ความกลัว และภาพหลอนของคุซะมะ ยะโยะอิ แต่ใครจะรู้บ้างว่าผลงานศิลปะสร้างชื่อที่สั่นสะเทือนวงการศิลปะในยุค 60 ในมหานครนิวยอร์กคือ ผลงานแนว Happening Art ที่คุซะมะออกมาเรียกร้องสันติภาพ ต้องการให้รัฐบาลอเมริกันยุติสงครามเวียดนาม แถมทั้งยังมีผลงานศิลปะ Soft Sculpture ที่สะท้อนความอ่อนระทวยของเพศชายอย่างมีนัยสำคัญ
ความแซ่บยังไม่จบเพียงเท่านั้น คุณป้าที่รักของพวกเรายังทำงานแฟชั่นออกแบบเสื้อผ้า ลุคของเธอสวยโฉบเฉี่ยว ผมสีดำ แววตามุ่งมั่น เธอไว้ผมหน้าม้ายาวปิดคิ้วเวลาที่ต้องสวมวิญญาณนางแบบ เธอมักจะยิ้มมุมปากหรือบางทีก็ตีสีหน้าไร้อารมณ์ เห็นแล้วใจเต้นระทึก…นี่หรือคุณป้าผมบ๊อบที่เราเจอบนโปสเตอร์ในย่านรปปงหงิ ยิ่งย้อนกลับไปดูวีรกรรมและผลงานชุดเก่า ฉันก็ยิ่งตกหลุมรักป้ายะโยะอิ
เพราะงานศิลปะของเธอช่างมั่นคงและยืนยาว ฉันเริ่มเข้าใจคำพูดเก๋ๆ ที่ว่า “ศิลปะคือชีวิต” ศิลปะในแต่ละช่วงชีวิตของคุซะมะเป็นดั่งภาพสะท้อนความคิดและทัศนคติของศิลปิน เราอาจสังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง การเลือกใช้สีหรือรูปทรงที่แตกต่างแปรผันไปตามภาวะอารมณ์และสภาพแวดล้อม ความหมายที่พรั่งพรูถูกบอกเล่าอย่างไร้คำพูด แต่ส่งเสียงผ่าน ‘รูปทรง’ แม้กระทั่งการสื่อ (media) ที่หลากหลายที่ศิลปินเลือกใช้ คุซะมะไม่เคยหยุดตัวเองไว้ที่งานเพ้นต์ แต่ผลงานของเธองอกเงยออกมาให้เห็นหลายรูปแบบจนน่าตกใจ ทั้งวิดีโออาร์ต ประติมากรรม ภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง แฟชั่น เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต งานศิลปะในที่สาธารณะ
ล่าสุดที่ National Gallery Singapore (ปี 2017) ฉันได้ฟังเพลงที่ป้าทั้งร้องและแต่งเนื้อเพลงเอง ป้าลายจุดของพวกเราร้องเพลงด้วยนะคะทุกคน! ศิลปะของคุซะมะเหมือนไวรัสที่ระบาดไปทั่ว ผลงานของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจของคนดังหลายคนรวมถึง โยโกะ โอโนะ สุดที่รักของจอห์น เลนนอน ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คุซะมะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของเธอ”
ลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) ที่งอกออกมาจากวัตถุต่างๆ เรือ เก้าอี้ บันได ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า ดูแล้วงงในงง นี่มันอะไรคะป้า! คือผลงานชุดเก่าที่น่าจดจำอีกชุดหนึ่งของคุซะมะที่อยากหยิบขึ้นมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไป วันนี้ขอปิดเบรกไปด้วยเพลงที่ป้าร้องเองแต่งเองที่ฉันได้ไปฟังในงานนิทรรศการของป้าที่สิงคโปร์ ชื่อเพลง Manhattan Suicide Addict