“เข้าร้านนี้ละกัน…(ตัวอย่างอาหาร)…น่ากินดี!!”

เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลของใครหลายคน เมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่คิดไม่ออกว่าจะกินอะไรดี ขณะยืนดูกระจกหน้าร้านอาหารในญี่ปุ่น ที่เบื้องหน้ามักเต็มไปด้วย “ของกินจำลอง” อันสุดแสนตระการตามากมาย

และนี่ก็คือที่มาที่ไปของอาหารจำลองเหล่านี้…

เริ่มแรกเลย ทางร้านที่ต้องการโชว์ของกินจำลองหน้าร้าน จะส่งรายละเอียด Spec มาให้ทำพร้อม “อาหารของจริง” เพื่อให้ทีมงานผู้ผลิตวัดขนาดและคำนวณ Dimension ต่างๆ ของอาหารผ่านกรรมวิธีหล่อแบบให้ความร้อนผสมสารต่างๆ นานา

ก่อนจะออกมาเป็นชิ้นอาหารให้ช่าง “แต่งหน้า” เพิ่มความประณีต เช่น หากเป็น โอโทโร่ ที่มีไขมันเป็นลายหินอ่อน ก็ต้องพ่นตรงเฉดคราบไขมัน (อันแสนอร่อย) ให้เนียนๆ ขั้นตอนนี้คงไว้สำหรับช่างผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ก็ยังไม่งามพอ (กรณีสำหรับโอโทโร่) จึงต้องปิดฉากด้วยการทาสารชนิดหนึ่งให้ดู “มันวาว” เพื่อให้ของกินจำลองนี้ดูสดใหม่อยู่เสมอ รวมถึงสะท้อนวาววับเล่นกับแสงไฟของร้านด้วย

กว่าจะออกมาสมจริงแบบที่เราเห็น ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมายโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ

ความเหมือนจริงของมันช่างล่อตาล่อใจ (และกระเป๋าตังค์) ผู้คนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของแปลกใหม่

“ภาพหนึ่งภาพ แทนคำพูดนับพัน”

แต่นี่ยิ่งกว่าภาพ มีมิติ จับต้องได้ แถมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยก็หมดห่วง เพียงยืนหน้าร้านดูของกินตัวอย่าง และ “ชี้” เอาอันที่ถูกใจแก่พนักงาน

(ใครเคยเลือกร้านอาหาร ด้วยการตัดสินว่า “ของกินจำลอง” ไหนสวยที่สุดบ้าง? ยกมือขึ้น! 555)

แม้ของกินจำลองนี้ บางชิ้นอาจมีต้นทุนสูงกว่าอาหารจริงๆอยู่มาก แต่บรรดาร้านค้าก็ทุ่มทุนทำขึ้นมา เพราะของกินจำลองไม่ใช่แค่เพื่อนำเสนออาหารเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องความสนใจได้อีกด้วย

เดินผ่านเห็นแบบนี้แล้ว ขาก็ก้าวเข้าร้านไปข้างหนึ่งแล้วละ 555

ยิ่งสวย = คนยิ่งอยากเข้าร้าน

แถมอายุขัยของมันก็นานแสนนาน เรียกว่าทำครั้งเดียว ใช้จนเจ้าของร้านเกษียณอายุส่งต่อให้ลูกหลาน ก็อาจยังไม่พังถ้ารักษาดีๆ

สำหรับคนญี่ปุ่นจะเรียกตัวอย่างของกินจำลองนี้ว่า 食品サンプル (Shokuhin sanpuru) และ หากใครอยากสื่อสารกับชาวต่างชาติถึงของกินจำลองนี้ด้วยภาษาอังกฤษ ก็เลือกใช้คำได้หลากหลาย ทั้ง replica food / artificial food / fake food / model food / plastic food / display food / food sample ฯลฯ โอ๊ย เยอะมากจริงๆ (เชื่อว่าคำใดคำหนึ่งในนี้อีกฝ่ายน่าจะพอเข้าใจ ^^)

ในหนังสือ 「眼で食べる日本人」”คนญี่ปุ่นกินโดยใช้ตา” บอกว่า การกินเกิดขึ้นครั้งแรกด้วย “ตา” จากนั้นจึงตามด้วย “ปาก” และ “กระเพาะลำไส้” (จริงสุดๆ ><)

หนังสือเล่มดังกล่าว เจ้าของประโยค “การกินครั้งแรกเกิดขึ้นด้วยตา”

ที่มาภาพ – amzn.to/2p1EKid

“การจัดวาง” ของกินจำลองหน้าร้าน ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

  • ของหวานกินเล่น มักวางอยู่ด้านบน เพราะมีสีสันเตะตา จัดกลุ่มประเภทอาหาร ให้อยู่ด้วยกัน
  • ชุดอาหารคุณหนูสำหรับเด็ก มักวางไว้ด้านล่างสุด เพื่อที่เด็กๆจะมองเห็นได้ง่าย ไม่ต้องเขย่งดู ^^
  • จัดวางให้เอียงประมาณ 45 องศา จะรับกับสายตาเราพอดี และให้อยู่ในระดับที่ความสูงโดยเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองเห็นได้ง่าย
  • มีการวิจัยว่า การจัดวางที่สมเหตุสมผล สามารถเพิ่มยอดขายโดยรวมได้ถึง 20-40% เชียวนะ!! ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีเหตุผลรองรับ

การจัดวางตัวอย่างของกินหน้าร้าน ที่ไม่ได้วางเล่นๆมั่วๆ แต่คิดมาดีแล้ว

สำหรับประวัติ(ย่อๆ) ของเจ้าของกินจำลองสุดเนียนนี้

เกิดขึ้นช่วง 1920s ที่การกินข้าวนอกบ้าน เริ่มได้รับความนิยมที่ศูนย์อาหารของห้างแห่งหนึ่ง ผู้คนแห่กันมารับประทานอาหาร ใช้บริการกันมากถึงราว 20,000 คน/ วัน เลยทีเดียว อาจเพราะมีทั้งอาหารญี่ปุ่น+ตะวันตก ซึ่งเป็นของใหม่มากในสมัยนั้น เป็น Choice ให้เลือกหลากหลาย

จึงเกิดปัญหาหนึ่ง คือ เวลาคนเข้าร้านเยอะมากๆ อาหารที่ลูกค้าได้รับ “มักไม่ตรงกับที่ตนคิด” ไซด์เล็กไป ทำไมไม่มีนั่น ไม่มีนี่ จึงเกิดการขอเปลี่ยนหรือยกเลิกไปเลย ทางร้านก็เสียหาย เสียรายได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางร้านเลยทำ “โชว์ตัวอย่างของกิน” ให้ดูซะเลย แต่ตัวอย่างของกินยุคแรกนั้นดันเป็นของจริง! หน้าตาและความสดใหม่ของกินบางชนิดเลยเปลี่ยนไปตามกาลเวลา นานวันไป ยิ่งดูไม่น่ากิน อาหารบางชนิดก็บูดเน่าลง

มาในปี ค.ศ. 1932 ทากิโซะ อิวะสะกิ (Takizo IWASAKI) พนักงานของบริษัททำอาหารกล่องแห่งหนึ่ง ลองจุดเทียนในบ้านตอนกลางคืน เขาลองใช้นิ้วรองน้ำตาเทียน อาจฟังดูเป็นความบังเอิญ พอเช้ามาสังเกตที่นิ้วตัวเอง น้ำตาเทียนนั้นกลับแข็งตัวตามทรงนิ้วมือเขาเป๊ะเลย! พอลองเอาไปหยดลงบนเสื่อทาทามิ เมื่อแข็งตัว Wax นั้นก็เป็นลายเสื่อทาทามิ เป๊ะๆเหมือนกัน!!  

เขาจึงเกิดไอเดียเอามาประยุกต์ทำเป็นของกินจำลอง เห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้นี้!

คุณ Takizo IWASAKI (1895-1965)

ที่มาภาพ – bit.ly/2owQjfV

ต้นแบบแรกที่เขาทำคือ “ข้าวห่อไข่”  ซึ่งก็ออกมาดูสวยดี! และเห็นโอกาสทำเงินจากตรงนี้ แต่แทนที่จะผลิตส่งขายตามร้านอาหาร เขากลับเปิด “ให้เช่า” แทน ด้วยระยะเวลา 1 เดือน และชาร์จราคาแพงกว่าของกินปกติถึง 10 เท่า แต่เมื่อคำนวณแล้วก็ถือว่าคุ้มค่าสำหรับร้านค้า แถมไม่ต้องทำอาหารสดใหม่ทุกวันด้วย

จุดเริ่มต้นที่ “ข้าวห่อไข่” อันดูเรียบง่าย

ที่มาภาพ – bit.ly/2owQjfV

นั่นคือจุดเริ่มต้น รูปแบบการดำเนินธุรกิจก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย พร้อมๆกับการสรรสร้างค์ของกินจำลอง ที่แตกแขนงครอบคลุมแทบจะทุกหมวดหมู่อาหาร (พอๆกับความสมจริงของมัน)

จุดเริ่มต้นที่ข้าวห่อไข่ มาวันนี้…มาไกลจริงๆ (เห็นชีสเยิ้มๆนั่นไหมครับ! หูยยย o_O)

มาวันนี้บริษัทที่อิวะสะกิ (Iwasaki) สร้างขึ้น มี market share กว่า 65% ในธุรกิจนี้ และการสร้างของกินจำลอง ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพื่อร้านอาหารเท่านั้น แต่ได้แพร่หลายไปในจุดประสงค์อื่นๆอีก เช่น เป็นของที่ระลึกแก่บรรดานักท่องเที่ยว ^^

เห็นด้วยไหมครับ? เจ้าของกินจำลองที่วางโชว์หราหน้าร้าน นับวันมันยิ่งเหมือนจริงเข้าไปทุกทีจนแยกแทบไม่ออกแล้วว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม 555 และยังเป็นการสร้างสีสันให้แก่หน้าร้าน รวมถึงมุมนึง ก็เป็นดั่ง Identity ของร้านอาหารญี่ปุ่นหลายๆร้านด้วย (เพราะอาหารชาติอื่นมักไม่ค่อยทำกัน)

ให้ทายอันไหนของจริง? (อย่าถามผมนะ เพราะบางทีก็แยกไม่ออกเหมือนกัน! 555)

ที่มาภาพ – bit.ly/2pyZSJ6

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ