Hyogo Prefectural Museum of Art : พิพิธภัณฑ์ศิลปะเฮียวโงะจากแนวคิดฟื้นฟูพื้นที่ริมอ่าวโอซาก้าโดยอันโดะ ทาดาโอะ
ณ ริมน้ำหน้าอ่าวโอซาก้า เบื้องหลังเป็นภูเขารกโกะ จังหวัดเฮียวโงะ พื้นที่นี้เคยถูกภัยธรรมชาติถล่มจนเรียกได้ว่าราบเป็นหน้ากลองจากแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1995 ด้วยความรุนแรง 7.3 ริกเตอร์ ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ เมืองพังทลาย ผู้คนล้มตายกว่า 600 ชีวิต แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น เมื่อเกิดความเสียหายจากทุกภัยธรรมชาติ พวกเขาจะหาทางฟื้นฟูมันกลับคืนมาได้อย่างน่าทึ่งเสมอ อีกแนวทางหนึ่งคือการเติมความสมบูรณ์ใหม่ด้วยสถาปัตยกรรม
แนวคิดฟื้นฟูพื้นที่ริมอ่าวโอซาก้าส่วนนี้ซึ่งเป็นเมืองท่าสมัยใหม่ ได้ถูกฟื้นฟูหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่นาน สถาปนิกที่รับหน้าที่คือ อันโดะ ทาดาโอะ (Tadao Ando) ด้วยการผสานพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Hyogo Prefectural Museum of Art และสวน Kobe Waterfront Plaza เข้าด้วยกัน พวกมันถูกออกแบบเมื่อปี ค.ศ. 1997 และเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ. 2002 เพื่อรองรับกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ของเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากการทับเรื่องราวความเศร้าครั้งนั้น
ผมเดินทางสู่จังหวัดเฮียวโงะ เพื่อมาชมสถาปัตยกรรมจากสถาปนิกเจ้าพ่องานคอนกรีต แรกมาถึงจากสถานีรถไฟนะดะ ผมพบกับเปลือกสีดำขนาดใหญ่บนสะพานลอยสูงกว่า 7 เมตร อาคาร Hyogo Prefectural Museum of Art ที่ปรากฎแก่สายตาเป็นอาคารขนาดมหึมาที่ดูแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นจุดหมายปลายทางหรือไม่ คงเพราะวัสดุที่แปลกตาด้วยผนังดำก้อนใหญ่ แต่เมื่อเข้าสู่ตัวอาคารจากการลัดเลาะผ่านทางเดินมาจากทิศเหนือมายังทิศใต้ มุมหลักที่สถาปนิกต้องการสื่อสารค่อยๆ เผยตัวออกมายังพื้นที่ริมน้ำในที่สุด แม้ว่าส่วนแรกที่จะพบเจอกับงานนี้คือด้านถนนที่มีก้อนมวลอาคารสีดำ แต่ด้านหลักที่สถาปนิกต้องการเสนอคือพื้นที่ริมน้ำที่ติดกับอ่าวโกเบ ด้านนี้ถูกออกแบบให้เป็นลานคอนกรีตขนาดใหญ่เชื่อมไปยังสวน Kobe Waterfront Plaza ด้านตะวันตกซึ่งอันโดะได้ออกแบบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่นี้ด้วยเช่นกัน
เมื่อมาถึงริมอ่าว ก็พบกับก้อนคอนกรีตขนาดใหญ่ คลุมด้วยหลังคาคอนกรีตเรียบแบน ยื่นออกมาคลุมกล่องกระจก หากดูแบบผ่านตาด้วยความรวดเร็ว ชวนให้ดูคล้ายกับ Modern Art Museum of Fort Worth ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบในช่วงเดียวกันคือปี ค.ศ. 1997 ส่วนต่างที่เห็นได้ชัดคือโครงสร้างเสาที่รับหลังคาคอนกรีตผืนใหญ่ที่เฮียวโงะเป็นเสาตรงคู่ แต่ที่ฟอร์ทเวิร์ธเสารับหลังคาเป็นตัว Y ส่วนร่วมกันของ 2 งานนี้เมื่อมองเข้ามาคือความขัดแย้งในตัวมันเอง มันถูกออกแบบให้เรียบบางแต่แลดูหนาหนักด้วยคอนกรีต ดูลอยในอากาศตัดกับกระจกผืนใหญ่ที่หุ้มด้านล่างไว้
วัสดุหลักสำหรับงานนี้คือคอนกรีตเปลือยตามแบบฉบับของอันโดะ วัสดุรองเป็นหินแกรนิตสีเทา ทำให้ภาพรวมของงานมีลักษณะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ยิ่งเมื่อมองจากมุมริมน้ำมันกลายเป็นก้อนสีเทาขนาดใหญ่แต่ใช้ระนาบ ทั้งบันไดและทางลาด มีการ กระจายระนาบผืนต่างๆ จนดูเล็กลง ดังคำศัพท์ที่เหล่าสถาปนิกเรียกว่า ‘ทอนเสกล’ อีกเทคนิคลวงตาที่ทำให้อาคารดูเล็กลงคือการแบ่งอาคารออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ การใช้หลังคายื่นยาวออกมาทำให้มันแลดูเบาขึ้นได้อีกทาง
แม้ว่ารูปทรงภายนอกจะดูทึบตันเพื่อรองรับเนื้อหาภายในที่ประกอบด้วยนิทรรศการงานศิลปะต่างๆ แต่เมื่อเข้ามาชมภายในแล้ว แสงและคอนกรีตยังเป็นลูกเล่นที่ใช้ได้ดีเสมอกับงานของอันโดะ ทางเดินภายในส่วนต่างๆ แสงธรรมชาติเข้ามาไล้ผืนคอนกรีตทั้งจากผนังกระจก แต่ที่ดูประทับใจที่สุดคือลูกเล่นของแสงธรรมชาติที่มาจากช่องแสงด้านบน มันส่งผลให้ที่ว่างภายในอบอุ่นและดูมีชีวิตชีวาขึ้น สำหรับผมนอกจากคอนกรีตแล้ว แสงถือเป็นเหมือนลมหายใจในงานของอันโดะเลยก็ว่าได้
ก่อนที่ผมเดินทางกลับ หลังจากที่ใช้เวลาสาละวนไปกับบันไดเวียนคอนกรีต เมื่อต้องแสงในช่วงเวลาต่างกันทำให้บันไดนี้มีมิติต่างกันออกไปมาก แสงที่ไล้ไปกับคอนกรีตเปลือยโค้งชวนให้ต้องรอถ่ายภาพในแต่ละช่วงวัน และนั่นคือสเน่ห์ของแสงในงานอันโดะ
Info
Website: www.artm.pref.hyogo.jp