Tokyo Station ที่มากกว่าแค่สถานีรถไฟ
Tokyo Station หรือ สถานีรถไฟโตเกียว มีประวัติอยู่คู่กับชาวโตเกียวมาเนิ่นนาน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1914 หรือเมื่อ 114 ปีมาแล้ว แรกเริ่ม มี 4 แพลตฟอร์ม ตึกสูง 3 ชั้น โดยมีนายทัตสึโนะ คิงโกะ (Tatsuno Kingo) เป็นผู้ออกแบบ (เขาได้ออกแบบตึก Bank of Japan ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีนี้อีกด้วย)
สถาปัตยกรรมภายนอกแบบตะวันตกนี้ ว่ากันว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับสถานี Amsterdam Centraal Railway Station ที่ประเทศเนเธอแลนด์ (ยุคนั้นอิทธิพลตะวันตกสูงมาก สถานีเกียวโตเดิมทีก็มีหน้าตาแบบตะวันตก)
ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งถึงยุคสงครามโลก การทิ้งระเบิดจากฝูงบิน B-29 เครื่องบินทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั่วกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1945 ทำให้สถานีได้รับความเสียหายมหาศาล และน่าจะเป็นความเสียหายใหญ่ครั้งแรกของสถานี
ยังดีที่การซ่อมแซมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี ก็ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับมาใช้งานใหม่ได้ เพียงแต่หลังการซ่อมแซมจากเดิมที่มีอยู่ทั้งสิ้น 3 ชั้น กลับเหลือเพียง 2 ชั้นเท่านั้น สร้างความเคลือบแคลงใจแก่ผู้คนไม่น้อย
ความโชคร้ายก็ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ สถานีนี้มีทางออกหลักอยู่ 2 ทางคือ ฝั่ง Marunouchi (ทิศตะวันตก) และ ฝั่ง Yaesu (ทิศตะวันออก) ภายหลังฝั่ง Yaesu Exit นี้ก็มาโดนไฟไหม้อีกในปี 1949 เพียงแค่ 4 ปีหลังสงครามโลกจบลง (ยังไม่ทันฟื้นตัวดีเลย) แต่ยังดีที่ต่อมาได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงจนกลับมาใช้งานได้
เมื่อถึงยุคสร้างชาติใหม่ไม่นานห้าง Daimaru ก็มาเปิดตัวที่นี่ ในปี 1953 ตามด้วย Yaesu Shopping Mall แหล่งช็อปปิ้งใต้ดินแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่น ในปี 1965 การมีห้างสรรพสินค้ามาตั้งที่นี่ถือเป็นยุคบุกเบิกของการใช้แนวคิด Transit-Oriented Development (TOD) จนในเวลาต่อมาที่สถานีรถไฟแห่งนี้ก็มีทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ออฟฟิศ พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ รายล้อมอยู่รอบๆ (หรือแม้แต่ภายใน) Tokyo Station
การมาถึงของรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ได้มีการขยายแพลตฟอร์มไว้รองรับ Tōkaidō Main Line โดยเฉพาะ ในปี 1964 ชินคันเซ็นประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีการขยายเส้นทางไปหยุดยังสถานี Ueno เมื่อปี 1991 ทำให้พื้นที่บริเวณฝั่ง Yaesu Exit บางส่วนถูกทุบและบูรณาการใหม่อีกครั้ง
ไม่ผิดนักหากจะบอกว่า Tokyo Station เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งย่าน Marunouchi รอบๆ สถานีเติบโตอย่างมาก อาจเพราะการเดินทางสะดวกสบาย จนผู้คนจากทุกภูมิภาคสามารถมาติดต่อธุรกิจทำงานที่นี่ได้อย่างง่ายดาย
มาถึงยุคปัจจุบันสถาปัตยกรรม Tokyo Station ที่เป็นอาคารอิฐแดงฝั่ง Marunouchi (ทิศตะวันตก) ถูกปิดบูรณะปรับปรุงเป็นเวลานานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2007 จนเสร็จและเปิดอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2012 กลายมาเป็นโฉมหน้าที่เราเห็นแบบปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังถูกปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัย ใช้งานได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังเป็น Barrier-Free มีทางลาด ลิฟต์สำหรับผู้พิการ ใช้รถเข็น ฯลฯ ภายในตกแต่งงดงาม ประดับประดาด้วยไฟสีนวล โดยเฉพาะยามราตรี
พื้นที่โดยรอบสถานียังประกอบไปด้วยร้านอาหารชั้นนำ โรงแรมชั้นดี ออฟฟิศชั้นเลิศ (จะชั้นไปไหน! ฮ่าๆๆ) ชุมทางรถบัส รถแท็กซี่ ฯลฯ นอกจากบนดินแล้ว พื้นที่ ‘ใต้ดิน’ มีทางเดินทางออกแยกย่อยเชื่อมถึงไปยังตึกออฟฟิศในย่านนี้แทบทั้งหมด! สะดวกสบายมาก เรียกว่าเป็นเมืองใต้ดินย่อมๆ เลยก็ว่าได้
ทุกวันนี้ Tokyo Station เป็นสถานีชุมทางรถไฟ (มีหลากหลายประเภทรถไฟผ่าน) ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นสถานีที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในญี่ปุ่น
ล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ววันที่ 9 ธันวาคม 2017 “Marunouchi Square” ลานโล่งกว้างด้านหน้าสถานี (ฝั่ง Marunouchi) ก็ได้เปิดพื้นที่ให้เป็นสาธารณะไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากปิดพื้นที่ปรับปรุงเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ “ภูมิทัศน์” ย่านนี้ยิ่งสวยงาม ปลอดโปร่งโล่งสบายตาเป็นอย่างมาก “จุดชมวิว” ยอดนิยมคือ บนตึก KITTE และตึก Shin Marunouchi ทั้งคู่อยู่ตรงข้ามสถานีและเข้าชมฟรี!
ความสวยงามที่เราเห็นอยู่…ครั้งหนึ่งเคยไฟไหม้เป็นเธ้าธุลี ทุกย่างก้าวในสถานี…ครั้งหนึ่งเคยลุกเป็นไฟจากผลพวงสงคราม
สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า เคยผ่านกาลเวลาการทุบ–ซ่อม–บูรณะ–ไฟไหม้ ล้วนเคยถูก “ทำลาย” แล้วทั้งสิ้น บางที นี่อาจจะเป็นข้อดีเดียวของการถูกทำลายคือการ “สร้างใหม่ให้ดีกว่า”
Tokyo Station เป็นตัวอย่างหนึ่งของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมนิยมกับเรื่องราวอดีตไว้ด้วยกัน รวมถึงเปิดรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ พร้อมรับกับอนาคตที่ดีกว่า ^^