สารบัญ

เมื่อเราพูดถึงรายการ “SUGOI JAPAN” แน่นอนว่าต้องนึกถึง “ฮิโระ ซาโนะ (Hiro Sano)” พิธีกรอารมณ์ดีที่พาไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นแบบ สุโก้ย สุโก้ย! ด้วยคาแรคเตอร์ที่ดู สดใสร่าเริงอยู่เสมอ แถมยังดูมีอินเนอร์ขณะนำเสนอรายการตลอดเวลา กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ค่อยๆแทรกซึมเข้าไปกลางใจของใครหลายคน รู้ตัวอีกทีก็ติดรายการนี้กันอย่างงอมแงมไปซะแล้ว และดูจะให้ใจเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ดังนั้น นิตยสาร KIJI ฉบับนี้ ขออาสาพาทุกคนไป สัมผัสอีกมุมหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มฉีกกว้างของฮิโระ ซาโนะ ผู้อยู่เบื้องหลังความสนุกในการชมรายการ SUGOI JAPAN รวมถึงสัมผัสมุมมองการใช้ชีวิตในเมืองไทย สถานที่ที่เขาเลือกให้เป็นถิ่นพำนักอาศัยจนไม่อาจย้ายไปไหนได้อีก ว่าแล้ว…ก็ไปสัมภาษณ์เจ้าของสำเนียงภาษาไทยที่แสนมีเอกลักษณ์กันเลยดีกว่า

Q. อาศัยอยู่เมืองไทยมากี่ปีแล้ว

อยู่ประเทศไทยมาได้ 16 ปีแล้วครับ แต่ก่อนที่จะเดินทางมาประเทศไทยก็เคยเดินทางไปหลายประเทศครับ

Q. ไปมาหลายประเทศแล้วทำไมถึงตัดสินใจมาอยู่เมืองไทย

ผมอยากเป็นนักแสดง แล้วก็เรียนด้านนี้มาตลอด ซึ่งตอนที่ผมพยายามหางานที่จะได้ยืนอยู่หน้ากล้องอยู่นั้น ก็มีเพื่อนชาวไทยที่อยู่ในวงการบันเทิงมาชวนไปแสดงโฆษณา นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งครับ อีกเหตุผลหนึ่งคือรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยก็ดีเหมือนกัน คนไทยนี่ดีจังเลยนะ น่ะครับ

Q. ที่ว่าคนไทยดีนี่ ดีอย่างไร

ก็…ทุกคนยิ้มตลอดเลย (หัวเราะ) ยังจำได้ว่าตอนที่ผมมาถึงเมืองไทยใหม่ๆก็เห็นคนยิ้มหรือหัวเราะกันตลอด แถมยังเจอบางคนร้องเพลงด้วยนะ

Q. หมายถึงช่วงปี 16 ปีก่อนที่เพิ่งมาถึงเมืองไทยใหม่ๆใช่ไหม

ใช่ครับ บรรยากาศตอนนั้นสดชื่น ทุกคนดูกระปรี้กระเปร่ามาก หัวเราะกันหมดเลย ทั้งๆที่อยู่ในเอเชียแท้ๆ เล่นเอาผมคิดว่านี่เป็นประเทศลาตินอเมริกาหรือเปล่า มันเป็นความประทับใจแรกพบทำให้รู้สึกว่าประเทศนี้น่าอยู่

Q. ตอนที่ได้งานโฆษณาแล้วตัดสินใจที่จะเป็นนักแสดงในเมืองไทยเลยหรือเปล่า

ผมมาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะนักท่องเที่ยว แต่พอได้รับงานโฆษณาหรืองานแสดงจากเพื่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตัดสินใจว่าอยากจะอยู่ที่เมืองไทย คือคิดว่าตัวเองเกิดในประเทศญี่ปุ่น เป็นคนญี่ปุ่นก็จริง แต่ก็เลือกว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหนด้วยตัวเองได้ไม่ใช่เหรอ แบบนี้ ก็เลยตัดสินใจเลือกเมืองไทยนี่แหละเป็นที่อยู่ของตัวเอง น่าจะเป็นช่วงประมาณปี ค.ศ. 2001 นะครับ

Q. พออาศัยอยู่ที่เมืองไทยแล้วค่อยเริ่มเรียนภาษาไทยใช่ไหม

ใช่ครับ อยู่แล้วค่อยเริ่มเรียนภาษาไทย

Q. เรียนภาษาไทยด้วยวิธีไหน

ครั้งแรกเริ่มเรียนภาษาไทยในโรงเรียนก่อน แต่ได้แค่ 3 เดือนก็ไม่ไหวแล้ว ผมไม่ถนัดเรื่องเรียนในห้องสักเท่าไหร่ เรียนได้แป๊บเดียวก็รู้สึกว่าน่าเบื่อจังเลย แล้วก็ออกจากห้องเรียนไปเลยครับ พอมานั่งคิดดีๆก็รู้สึกว่าชอบมีคนไทยเข้ามาพูดคุยด้วยเสมอ เลยตัดสินใจเรียนภาษาด้วยการพูดคุยกับคนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นกับคนขับรถแท็กซี่ คนที่เจอในรถเมล์ หรือคนในบาร์ที่ข้าวสาร ถึงบางครั้งจะรู้สึกอายนิดๆ เลยแก้ไขโดยการพูดให้มากขึ้น บางครั้งก็อาศัยวิธีดื่มเพิ่มความกล้าเมื่อต้องไปคุยกับคนอื่น

อีกวิธีหนึ่งคือผมเขียนคำศัพท์ในกระดาษ A4 แล้วแปะไว้เต็มห้อง กระดาษเล็กๆไม่ได้นะ ต้อง A4 เลย อย่างที่กระจกก็ติดคำว่า “กระจก” ไว้ หรือติดตามตู้เย็น โทรทัศน์ ฯลฯ เวลานอนแหงนหน้าก็เห็นคำว่า “ข้างบน” แปะที่เพดาน ตอนนั้นในห้องเต็มไปด้วยกระดาษ A4 เห็นแล้วก็ไม่ชอบมากเพราะมันดูไม่เรียบร้อย ผมเลยพยายามจำคำศัพท์ให้ได้แล้วก็ขยำกระดาษคำศัพท์นั้นทิ้งไปแทน

Q. คำศัพท์เขียนด้วยตัวคาตาคานะหรือว่าเขียนเทียบเสียงภาษาไทยด้วยตัวอักษรโรมัน

ผมเขียนเทียบเสียงด้วยตัวอักษรโรมัน อย่างคำว่าหน้าต่าง ก็ต้องแยกเสียง N กับ NG ให้ออกก่อน แล้วค่อยใส่สัญลักษณ์ที่ผันเสียงตามวรรณยุกต์ พวกนี้ผมจำได้จากตอนเรียนภาษาไทยในโรงเรียน จะได้แยกความแตกต่างของคำศัพท์ได้ พอทำแบบนี้แล้ว รู้ตัวอีกทีห้องก็เต็มไปด้วยกระดาษ A4 ตอนอยากกินถั่วนัตโตะ (Natto) พอเปิดตู้เย็นมาก็เจอกระดาษที่เขียนว่า “ข้างใน” บางครั้งเห็นแล้วก็หงุดหงิดนะ อยากจำคำศัพท์ให้ได้สักที เลยใช้วิธีพยายามจำเอาให้ได้ พอจำศัพท์คำนั้นได้แล้วก็ดึงกระดาษออกไป จนสุดท้ายในห้องก็ไม่มีกระดาษคำศัพท์เหลือเลย

พอจำได้ว่าสิ่งของรอบๆตัวเรียกว่าอะไรได้แล้ว หลังจากนั้นก็พยายามเรียนรู้อย่างอื่นต่อ อย่างเวลาขึ้นรถเมล์แล้วเจอป้ายอะไรก็จะพยายามอ่านแล้วจำให้ได้ ที่ตัวรถเมล์ยุคก่อนๆมีแต่ภาษาไทยนะ อย่างรถเมล์ที่ไปอโศกก็จะมีแต่ภาษาไทยเขียนไว้ว่า “อโศก” ไม่มีภาษาอังกฤษ ผมก็เบื่อตัวเองที่ต้องมาคอยลุ้นว่ารถจะไปถึงอโศกหรือเปล่า บางทีขึ้นไปแล้วก็ไม่รู้ว่ารถไปไหน เลยพยายามจำป้ายที่เห็นรอบตัวให้ได้ จำมันไปหมดทุกอย่าง บางทีก็เขียนตัวคาราโอเกะไว้ นี่แหละ วิธีการเรียนภาษาไทยของผม

Q. เวลาเรียนภาษาไทยตรงไหนคือสิ่งที่ยากที่สุด

การออกเสียงเลยครับ มันมีเสียงที่ไม่มีในภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษเยอะมาก ทุกวันนี้ก็ยังมีคำที่ผมออกเสียงไม่ได้อยู่เลย

Q. เช่นคำว่าอะไรบ้าง

ที่ยากๆเลยก็อย่างเช่น “ม้า” กับ “หมา” หรือ “เผ็ด” กับ “เป็ด” คือตอนถ่ายทำรายการหนึ่งอยากบอกว่าอาหารมันเผ็ดมากแต่กลายเป็นบอกว่า “อาหารเป็ดมาก” ไปซะงั้น พอพูดไปแล้วทีมงานก็หัวเราะ ผมเลยรู้ตัวว่าพูดผิด อีกเรื่องคือความแตกต่างของเสียง “P” กับ “Ph” หรือเสียง “K” กับ “Kh” อย่างคำว่า “ไก่” กับ “ไข่” ในภาษาญี่ปุ่นมันมีแค่เสียง คะ คิ คุ เคะ โคะ คือมีเสียงน้อยกว่าภาษาไทยไง หลายเสียงของภาษาไทยไม่มีในภาษาญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะว่าตัวอักษรภาษาไทยส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤต ทำให้มีตัวอักษรที่เขียนอยู่ในคำศัพท์แต่ไม่ได้ออกเสียง ทุกวันนี้ผมยังคิดอยู่เลยนะว่าทำไมต้องเขียนอย่างนั้น ไม่ออกเสียงแล้วจะเขียนไว้ทำไม สำหรับคนญี่ปุ่นเวลาเจออะไรแบบนี้ก็ช็อกสิ

Q. เรื่องไวยากรณ์ภาษาไทยล่ะคิดว่ายากตรงไหนบ้าง

อืม…โครงสร้างประโยคภาษาไทยไม่เหมือนภาษาญี่ปุ่น ตำแหน่งก็สลับกันไปมาทำให้บางครั้งเวลาจะพูดอะไรสักอย่างก็เผลอพูดสลับกัน เรียงประโยคตามแบบภาษาญี่ปุ่นไปซะงั้น

Q. ก็ฟังดูยากเหมือนกันนะ

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ผมไม่ได้ต้องการความแม่นยำเพื่อเอาไปสอบให้ได้คะแนนสูงๆขนาดนั้น แค่อยากสื่อความรู้สึกในตอนนั้นอย่างตรงไปตรงมา เพราะรายการทีวีมันมีข้อจำกัดเรื่องเวลา บางครั้งในเวลา 1 นาที ก็ต้องพยายามสื่อสิ่งที่อยากนำเสนอให้ได้มากที่สุด ถ้ามัวแต่คิดถึงความถูกต้องเป๊ะๆ คงหมดเวลาก่อน เลยเผลอพูดอะไรที่ติดสำเนียงญี่ปุ่นออกมาแทน

Q. หลักๆ คือสื่อความรู้สึกออกมาก่อนเรื่องไวยากรณ์เอาไว้ทีหลังใช่ไหม

ใช่ครับ แต่บางครั้งผมก็พูดตรงตามไวยากรณ์ถูกเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

Q. คิดว่าคนไทยกับคนญี่ปุ่น“เหมือน” หรือ “แตกต่าง” กันตรงไหนบ้าง

เรื่องที่เหมือนกันคงเป็นหน้าตา เพราะว่าอย่างน้อยก็เป็นชาวเอเชียเหมือนกัน แล้วในเมืองไทยก็มีคนเชื้อสายจีนไม่น้อย เวลาเจอคนผิวขาวทีนี่นึกว่าเป็นคนญี่ปุ่นก็มี ถึงรูปร่างหน้าตาจะเหมือนกัน แต่ลักษณะนิสัยคิดว่าต่างกัน 180 องศาเลยละ

Q. อยู่เมืองไทยมานานขนาดนี้ คิดว่าสถานที่แบบไหนตรงกับคาแรคเตอร์ของตัวเองมากที่สุด

คงเป็นภาคใต้ครับ เพราะผมชอบทะเลมาก โดยเฉพาะทะเลไทย เสื้อผ้าที่ใส่วันนี้ก็เลือกให้มีอิมเมจของทะเลด้วย ผมชอบไปดำน้ำตามเกาะต่างๆ ถึงตอนนี้ก็ประมาณ 400 ครั้งแล้ว อย่างที่เกาะเต่าครับ เมื่อไม่นานมานี้ก็ไปดำน้ำที่กระบี่ด้วย สถานที่เหล่านี้ถึงจะมีชื่อเสียงแต่ก็ยังคงความเรียบง่ายไว้ ผมชอบทะเลที่มีความสดชื่นและมีวิถีชีวิตเรียบง่ายของคนที่อาศัยมากครับ

Q. ชอบทะเลไทยมากเลยใช่ไหม

ชอบทะเลของประเทศไทยที่สุดเลยครับ ญี่ปุ่นไม่มีทางสู้ได้เลย

Q. รายการ SUGOI JAPAN มีแรงบันดาลใจมาจากอะไร

SUGOI JAPAN เป็นรายการแนะนำประเทศญี่ปุ่นภาคต่อของรายการที่ 1 และรายการที่ 2 ครั้งแรกผมทำรายการ Discover Japan ก่อน หลังจากนั้นจึงทำ  WABISABI แล้ว ค่อยมาเป็น SUGOI JAPAN ที่ตัดสินใจเริ่มทำ Discover Japan เพราะตอนที่ผม ทำงานในวงการ เวลาพักกองมักจะมีคนมาถามเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่น ถามสารพัด อย่างเช่นตอนนี้ดอกซากุระบานหรือยัง หรืออยากเห็นหิมะต้องไปช่วงไหน ตอนนั้นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นยังไม่ค่อยเยอะเท่าไร เลยทำให้ผมอยากทำรายการเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากทำรายการเหล่านี้คือ เวลาถ่ายโฆษณาหรือละคร บางบทที่ผมได้รับมันเหมือนจะเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่บอกว่าเหมือนเพราะว่ามันไม่ใช่วัฒนธรรมญี่ปุ่นจริงๆ พอเห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกว่ามีคนอยากรู้เรื่องญี่ปุ่นเยอะเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ลึกรู้จริง ซึ่งช่องว่างทางวัฒนธรรมตรงนี้บางทีก็สร้างความลำบากให้ผมเวลาทำงาน ต้องแสดงตามบทบาทที่มันไม่ตรงกับความจริง อย่างเรื่องการดื่มชาญี่ปุ่นหวานๆ ก็เพราะว่ามีช่วงหนึ่งที่คนคิดว่าชาญี่ปุ่นมีรสหวาน แล้วก็มีอีกครั้งหนึ่งที่ได้ถ่ายโฆษณาชาญี่ปุ่นเหมือนกัน ซึ่งผู้กำกับเขาชื่นชอบคุณคุโระซะวะ อะกิระ (ผู้กำกับละครคลาสิกญี่ปุ่น) มาก ผมก็เลยได้รับบทเป็นซามูไร ภาพที่ถ่ายออกมาตอนนั้นดูเท่มากเลยครับ แต่ดาบประกอบฉากที่ผมถือไม่ใช่ดาบซามูไร กลับเป็นกระบี่จีนไปซะอย่างนั้น เนี่ย…เวลาที่ถ่ายทำแล้วเจออะไรแบบนี้ ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่นะ ทำให้อินกับบทบาทได้ไม่เต็มที่ ผมจึงเปลี่ยนแนวคิดของตัวเองใหม่ จากที่ว่า “อยากทำอะไรตอนอยู่เมืองไทย” เป็น “ผมควรทำหรือทำอะไรได้บ้างให้แก่เมืองไทย” แล้วก็ออกมาเป็นการแนะนำประเทศญี่ปุ่นอย่างที่เห็นกัน ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องแบบนี้ทำที่ไหนก็ได้ แต่ผมไม่มีเงินพอที่จะตั้งโรงเรียนเปิดสอนเอง ดังนั้นเลยตัดสินใจให้ความรู้ในโรงเรียนที่ชื่อว่าโทรทัศน์แทน นั่นก็เป็นที่มาของรายการ “Discover Japan เปิดแดนซามูไร” นั่นเองครับ

Q. คิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของรายการ SUGOI JAPAN

ตอนแรกที่ทำรายการ Discover Japan ยังไม่ค่อยมีคนไทยไปญี่ปุ่นมากนัก เลยอยากแนะนำประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้คนไทยได้รู้จัก พอเป็นรายการ WABISABI ก็จะเน้นเรื่องไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรม แนวคิด และไลฟ์สไตล์ของญี่ปุ่นที่มีรายละเอียดมากขึ้น อย่างเช่นเวลาถอดรองเท้าเข้าบ้าน คนญี่ปุ่นจะหันหัวรองเท้าไปทางประตู เพื่อให้เวลาออกไปข้างนอกอีกครั้งจะได้สวมรองเท้าได้ทันที แต่พอมาเป็นรายการ  SUGOI JAPAN มันเป็นช่วงที่คนไทยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นแล้ว เลยเน้นไปที่เรื่องการแนะนำคนไทยว่าไปเที่ยวที่ไหนแล้วจะน่าทึ่ง น่าตื่นเต้น รู้สึก Sugoi (สุดยอด) ด้วยข้อมูลของชาวญี่ปุ่นโดยนำเสนอให้ดูสนุก ดูแล้วหัวเราะได้ แถมผมยังเป็นคนญี่ปุ่นแต่นำเสนอรายการเป็นภาษาไทย ก็ไม่มีรายการไหนทำแบบนี้ คิดว่านี่คือจุดที่ทำให้แตกต่างจากรายการอื่น

Q. ในรายการ SUGOI JAPAN ดูสดใสร่าเริงมาก ตัวจริงก็เป็นแบบนี้ด้วยเหรือเปล่า

ถ้าวันหนึ่งต้องกินราเมนให้ได้ 5 ชาม กว่าจะถึงชามสุดท้ายนี่ คงรู้สึกอร่อยได้ยากใช่ไหมครับ (หัวเราะ) จะไปบอกว่ามันไม่อร่อยก็ไม่ได้ เพราะราเมนเขาอร่อยอยู่แล้ว แต่เรากินไม่ไหวเอง อันที่จริงผมก็ยังรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองเหมือนกันนะ ดังนั้นจึงพยายามพรีเซ้นท์สุดฤทธิ์ว่าร้านนี้ดี อาหารอร่อย ไม่อยากให้ดูเหมือนเป็นการแสดง เลยพยายามเล่นใหญ่ไว้ก่อน อีกอย่าง คนไทยชอบรายการที่ดูแล้วสนุก ตลก ถ้าจะแนะนำนู่นนี่นั่นอย่างเดียวคนดูอาจจะเบื่อ ผมเลยต้องใส่มุกตลกเข้าไปด้วย ทุกๆ 2-3 นาทีก็ปล่อยมุกทีหนึ่ง อะไรอย่างนี้

อีกอย่างที่ผมเอามาปรับใช้คือ การแสดงออกของคนไทยกับคนญี่ปุ่น เรื่องที่เห็นได้ชัดคือ Facebook นี่แหละครับ คนไทยส่วนใหญ่ชอบถ่ายรูปอัพโหลดให้เห็นใบหน้าตัวเองชัดๆ ใช่ไหม แต่คนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยถ่ายรูปแบบนี้กัน รูปโปรไฟล์ก็เลือกใช้รูปที่หันข้างที่ไม่เห็นหน้าตาชัดเจนหรือไม่ก็เลือกใช้รูปเงา อาจเพราะว่าเป็นชนชาติที่ขี้อายด้วย ผิดกับคนไทยที่ค่อนข้างมั่นใจ เวลาถ่ายรายการทีวีเลยเอามาใช้เป็นแบบอย่าง พยายามตัดนิสัยขี้อายออกไป ตอนถ่ายก็ซูมให้เห็นหน้าตัวเองชัดๆ เต็มจอ เวลากินข้าวก็จะวางกล้องไว้ใกล้ๆ ให้เห็นหน้าผม เห็นอาหารกันเต็มๆ เลยครับ

เรื่องภาษาก็เหมือนกัน ผมเป็นคนญี่ปุ่น ใช้ภาษาไทยตอนนำเสนอรายการได้ไม่ดีเท่าคนไทย เลยพยายามจะแสดงออกทางอารมณ์ควบคู่ไปด้วย พวกนี้เป็นเทคนิคของนักแสดงที่ผมได้ใช้วิชาที่เรียนรู้มา ซึ่งนักแสดงจะไม่ได้แสดงออกด้วยคำพูดอย่างเดียวแต่จะใช้สีหน้าท่าทางด้วย ในละครไทยมักจะเน้นการแสดงออกด้วยคำพูด ต่างกับภาพยนตร์ในแบบที่ผมได้เรียนรู้มาคือเน้นเรื่องอารมรณ์ สีหน้า และท่าทาง แค่นี้ก็สื่อสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกมาได้แล้ว ผมเลยนำไปใช้ในรายการด้วย

Q. ต้องพูดภาษาไทยเวลาถ่ายทำรายการคนญี่ปุ่นด้วยกันเองมีปฏิกิริยากับเราอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่จะบอกผมว่า “พูดญี่ปุ่นเก่งจังเลยน้า…” แบบนี้ คือไม่มีใครคิดว่าผมเป็นญี่ปุ่นเลย (หัวเราะ)

Q. มีหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่ที่จะไปถ่ายทำรายการ SUGOI JAPAN อย่างไร

อืม…ก็มีหลายเกณฑ์นะ แต่ช่วงแรกๆ ที่รายการยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผมก็เลือกเองว่าอยากไปถ่ายที่ไหน ซึ่งค่อนข้างยากเหมือนกัน แค่ขออนุญาตถ่ายทำก็ลำบากแล้ว ผมเลยพยายามเลือกสถานที่ที่คิดว่าน่าสนใจสำหรับคนไทย เลือกมาเลยหลายๆ ที่แล้วให้ทีมงานคนไทยช่วยดูว่าที่ไหนน่าสนใจที่สุด ส่วนใหญ่แล้วคนที่ตัดสินใจว่าจะไปที่ไหนมักจะเป็นทีมงานครีเอทีฟ (Creative) หรือผู้กำกับ ผิดจากตอนนี้่ที่รายการ SUGOI JAPAN เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เลยมีเมืองหรือจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นมาขอให้ไปถ่ายรายการเพื่อโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดหรือเมืองนั้นๆ

Q. อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุกที่สุดหรือรู้สึกเหนื่อยที่สุด

เรื่องที่สนุกเหรอครับ น่าจะเป็นเรื่อง “การได้พบเจอกัน” ผมหมายถึงการได้เจอและพูดคุยกับคนที่ปกติแล้วอาจมีโอกาสพบกันได้ยาก เหมือนวันนี้ที่เราได้เจอกัน ถ้าผมไม่ได้ทำรายการโทรทัศน์มาก่อนหรือทำงานเป็นพนักงานกินเงินเดือนในบริษัทญี่ปุ่นธรรมดาๆ ก็อาจจะไม่ได้มานั่งคุยกันแบบนี้ใช่ไหม

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยก็ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บางครั้งก็เจอเรื่องน่าเหลือเชื่อเยอะเหมือนกัน เมื่อไม่นานมานี้ผมไปเที่ยวอิตาลีมา แล้วได้เจอนักท่องเที่ยวไทยที่นั่น เขาตะโกนทักผมเสียงดังเลยครับ หรือช่วงระยะหลังๆ นี้คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันเยอะมากขึ้น ไปหลายสถานที่มากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะเจอคนไทยได้แค่แถวอาซากุสะ (Asakusa) หรืออิเคะบุคุโระ (Ikebukuro) ผิดกับตอนนี้ที่ไปที่ไหนก็เจอครับ ไม่ว่าจะเป็นออนเซ็นไกลๆตัวเมืองหรือจุดพักรถตามทางหลวงข้ามจังหวัด ผมแวะเข้าห้องน้ำก็ได้ยินเสียงคนพูดคุยกันเป็นภาษาไทย ซึ่งผมคิดว่าการได้พบเจอคนมากมายหรือการให้สัมภาษณ์ต่างๆแบบนี้ ก็คือเรื่องสนุกของการทำงานครับ

ส่วนเรื่องที่คิดว่าลำบากหรือเหนื่อยคงเป็นเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมครับ เหมือนกับที่บอกไปว่าแนวคิดคนไทยกับคนญี่ปุ่นต่างกันมาก ถ้าผมไม่พยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ แล้วนำแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ติดตัวมาพยายามใช้กับคนไทยที่โตมาคนละวัฒนธรรม ก็จะทำให้ตัวเองเหนื่อยได้ง่ายเลย ผมไม่ได้หมายความว่าประเทศไหนถูกหรือผิดนะ แต่เมื่อต้องมาเจอ Culture Shock เนี่ย ทำให้ผมช็อกมากครับ

คนเราเนี่ย เวลาเจออะไรที่ผิดไปจากสามัญสำนึกของตัวเอง ก็มักจะคิดเสมอว่า “ต้องแบบนี้มันใช่เหรอ” หรือ “มันไม่ควรเป็นอย่างนี้นะ” ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นเป็นบรรทัดฐานที่เราตั้งขึ้นมาเองตามอำเภอใจ เหมือนกับตอนที่ผมไปอเมริกาหรืออิตาลี มันก็ต่างกันออกไปอีก เรื่องที่เห็นได้ชัดเลยอย่างเช่นตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ แล้วมีนัดถ่ายโฆษณาตอนตี 5 เป็นตัวเอกของโฆษณาด้วย ผมเลยไปสถานที่ที่ถ่ายทำตามเวลานัดหมาย แต่พอไปถึงกลับไม่มีใครมาเลย ขนาดผมรอตั้ง 2 ชั่วโมง ฝ่ายจัดแสงก็ยังไม่มา เลยได้แต่คิดว่า “แบบนี้มันใช่เหรอ” นั่นเป็นการถ่ายโฆษณาในเมืองไทยครั้งแรกของผมครับ ผมยังจำได้ดีถึงทุกวันนี้เลย

เหตุการณ์ที่เล่ามานี้ที่ญี่ปุ่นไม่เกิดขึ้นแน่นอนครับ เพราะแค่รถไฟชิงคันเซ็งวิ่งช้าไป 2 นาที ก็เป็นเรื่องให้ต้องออกมาขอโทษกันแล้ว ผมเกิดและโตมากับวัฒนธรรมแบบนี้ พอมาอะไรแบบนี้ในเมืองไทยแล้วก็อดคิดไม่ได้ กว่าผมจะรู้ตัวว่าการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งนั้นมันไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน ช่วงหลังๆผมเริ่มทำความเข้าใจได้แล้ว และเข้าใจว่าวิธีคิดของคนญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มงวด กว่าจะลบความเข้มงวดของตัวเองออกไปได้ก็ใช้เวลาไม่น้อยเหมือนกันครับ

Q. เท่าที่ถ่ายทำรายการมาชอบเทปไหนมากที่สุด

คงเป็นตอนที่ไปถ่ายทำที่จังหวัดโอกินาวา (Okinawa) ที่เกาะอิชิงะคิจิมะ (Ishigaki Island) ตอนนั้นเราเช่าเรือ Cruiser ขนาดใหญ่ออกไปตกปลากัน พร้อมพรีเซ้นท์ทะเลที่สวยงามมากๆ ต่อให้ตกปลาไม่ได้ ก็ยังดำน้ำลงไปถ่ายภาพปลาสวยๆในทะเลได้นะ ประมาณนี้ ผมชอบตกปลามากเลย เทปนี้เลยจริงจังเป็นพิเศษ

มีจังหวะหนึ่งผมไปนั่งตรงท้ายเรือส่วนที่เป็นบันไดสำหรับนักดำน้ำลงน้ำ ตกปลาไปได้สักพักก็มีปลามาตอดเหยื่อ คิดว่าเป็นปลาตัวใหญ่แน่ๆ เพราะดึงจนคันเบ็ดงอ ผมพยายามดึงรอกขึ้นมา พอดึงขึ้นมาได้แล้วกลับเป็นปลาตัวเล็กซะงั้น ซึ่งจังหวะนั้นเองผมดันร่วงลงไปในทะเลโดยไม่ได้ตั้งใจ เล่นเอาทีมงานฮากันหมดทุกคนเลย

ที่บังเอิญเข้าไปใหญ่ก็คือ หนึ่งในสปอนเซอร์รายการตอนนั้นเป็นบริษัทประกันภัย ผมเลยโปรโมตไปตอนนั้นว่า “เกิดอุบัติเหตุแบบนี้ ประกันดูแลให้อย่างดี มีไว้อุ่นใจทุกการเดินทาง” อันที่จริงคิดว่าจะใส่ไว้ในซีนอื่น แต่เพราะจังหวะมันได้เลยเสียบกลางซีนนี้เลย สปอนเซอร์เขาก็ดูชอบใจด้วยนะ แถมยังเลือกใช้ซีนนี้ด้วย คือมันเป็นเรื่องของความบังเอิญซ้อนทับกันหลายชั้นมากครับ มีทั้งเรื่องตกทะเล โปรโมตสปอนเซอร์ แถมยังตกปลาได้อีก ผมชอบตอนนั้นมากเลยครับ มันก็เป็นเรื่อง “บังเอิญ” (Guzen) เหมือนชื่อบริษัทผมด้วย นี่ก็บังเอิญเข้าไปอีก

Q. ทำไมถึงเลือก“นินจา” ให้เป็นคาแร็คเตอร์ของรายการ SUGOI JAPAN

ก็เพราะว่าเห็นปุ๊บก็เข้าใจได้เลยว่าเป็นรายการเกี่ยวกับญี่ปุ่นครับ ก่อนหน้านี้ใช้คาแรคเตอร์ซามูไรไปแล้วกับรายการ “Discover Japan เปิดแดนซามูไร” พอทำรายการใหม่ก็ปรึกษากันว่าจะใช้คาแรคเตอร์ตัวไหนดีนะ สุดท้ายก็ตกลงว่าจะใช้นินจานี่แหละครับ เข้าใจง่ายดีด้วย

Q. นอกจากจะนำเสนอประเทศญี่ปุ่นผ่านโทรทัศน์แล้ว มีวิธีประชาสัมพันธ์รายการ SUGOI JAPAN อย่างไรอีกบ้างให้คนได้รู้จักและติดตามมากขึ้น

ผมพยายามออกงานอีเว้นท์บ่อยๆ ครับ อย่างที่เมืองไทยก็มีงานท่องเที่ยวบ่อยมาก เช่นงาน TITF (Thailand International Travel Fair) ซึ่งพวกเราก็ไปออกบูธตลอด เลยได้พบปะกับแฟนๆ รายการ และยังได้ช่วยโปรโมตองค์กรต่างๆที่เคยร่วมงานกันมาก่อนด้วยครับ ถึงแม้ว่าพวกเราจะเป็นบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ แต่ระหว่างนี้ก็เริ่มทำอะไรใหม่ๆขึ้นมาด้วย คือไม่ใช่ดูรายการแล้วก็จบแค่นั้น แต่จะช่วยประสานงานเพื่อให้ข้อมูลคนไทยได้ไปเที่ยวที่เมืองหรือจังหวัดนั้นๆได้ด้วย

นอกจากที่พูดมา ผมยังมีโอกาสได้ไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆด้วยครับ คือคนญี่ปุ่นเขาชอบคนไทยมากนะ ตอนนี้คนไทยไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นกันเยอะอยู่แล้ว แต่คนญี่ปุ่นเขาก็อยากให้มาเที่ยวมากขึ้นอีก ซึ่งไม่ใช่แค่เมืองใหญ่ๆอย่างเดียว เขาอยากนำเสนอเมืองเล็กๆ อีกหลายที่ด้วยนะครับ ซึ่งมีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองใหญ่เลย พวกเขาพยายามศึกษาว่าคนไทยเป็นอย่างไร ผมจึงไปบรรยายตามหลายๆเมืองในญี่ปุ่น เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าคนไทยคิดแบบไหน สนใจอะไรน่ะครับ

Q. ก่อนผันตัวมาผลิตรายการโทรทัศน์ ทำงานอะไรมาก่อนบ้าง

ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่น สมัยเรียนผมทำงานพิเศษหลายอย่างมากเลยครับ น่าจะสัก 20 ประเภทได้ แต่พอเรียนจบก็ไม่ได้สมัครทำงานบริษัทนะ

Q. ทำงานเก็บเงินท่องเที่ยวอย่างเดียวหรือเปล่า

ผมเก็บเงินเอาไว้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ แล้วก็เก็บไว้สมัครเรียนการแสดงด้วยครับ เพราะผมอยากเป็นนักแสดง อยากเรียนรู้และเก็บประสบการณ์หลายๆอย่างเพื่อนำไปใช้ในด้านนี้ เพราะฉะนั้น เงินที่ได้มาจากการทำงานพิเศษเลยใช้ไปกับสองเรื่องนี้แหละครับ

Q. ถ้าให้เลือกแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น อยากแนะนำที่ไหน เพราะอะไร

ยากจังเลย… ถ้าให้เลือกที่เดียวนี่ลำบากนะครับ อย่างที่เมืองไทยนี่ก็มีทะเลสวยๆ เยอะมาก เอาเป็นว่าในญี่ปุ่นผมแนะนำให้เที่ยวแบบธรรมชาติก็แล้วกัน สำหรับผมแล้วมันเป็นสถานที่ที่ช่วยผ่อนคลายได้อย่างดีเลยทีเดียว ไม่นานมานี้ผมก็เพิ่งไปตั้งแคมปที่ชิซุโอะกะ (Shizuoka) มา รู้สึกดีมากเลยครับที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ถ้าคนไทยได้ไปเที่ยวทั้งครอบครัวก็คงจะได้อีกบรรยากาศหนึ่งเหมือนกันนะครับ

ในเมืองไทยต้นไม้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น แม้ว่าการตัดต้นไม้จะเป็นเรื่องง่าย แต่ที่ญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่มากเลยครับ เพราะแต่ละต้นก็มีประวัติศาสตร์ของมัน อย่างต้นไม้ที่พบตามศาลเจ้า อย่างน้อยก็มีอายุ 200-300 ปีขึ้นไปแล้ว ซึ่งผมเองก็ชอบที่ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมแบบนี้ ในรายการผมเองก็จะเน้นเรื่องการนำเสนอต้นไม้บ่อยมากครับ ผมชอบบอกผู้กำกับว่า ต้นไม้ต้นใหญ่จัง เอาเข้าฉากได้ไหม ถ่ายให้หน่อยได้ไหม แบบนี้

ผมเข้าใจนะครับว่าตอนนี้เมืองไทยกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้พื้นที่เลยต้องมีการตัดต้นไม้ไปบ้าง ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ก็เหมือนกัน ผมคิดว่าหากตัดเยอะไปอาจเป็นปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในภายหลังได้ ซึ่งทุกครั้งที่ผมไปเที่ยวตามธรรมชาติในญี่ปุ่น จะรู้สึกประทับใจมาก พอกลับมาเมืองไทยก็อยากให้มีอะไรแบบนี้ มีธรรมชาติที่สวยงามเหมือนกันน่ะครับ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะ แต่ถ้ามีคนที่รู้สึกแบบเดียวกันมากขึ้น ผมก็ดีใจครับ

Q. คิดว่าการท่องเที่ยวแบบไหนได้ซึมซับความเป็นญี่ปุ่นมากที่สุด

วิธีที่ดีที่สุดคือการได้พักในมินชุคุ (Minshuku: บ้านของชาวญี่ปุ่นที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าพักได้) การพักในเรียวคัง (Ryokan) ก็ดีครับ แต่ราคามันค่อนข้างแพงไปนิด ถ้าเป็นแบบมินชุคุ ราคาก็จะถูกกว่ามาก ประมาณ 1,500 บาทเท่านั้นเอง ยิ่งถ้าได้ไปพักในแถบจังหวัดชิบะ (Chiba) ละก็ จะมีกุ้งอิเสะเสิร์ฟอยู่ในเมนูอาหารด้วย ได้ทั้งพักผ่อนและกินอาหารดังของท้องถิ่นแน่นอน ที่ลำบากหน่อยคือที่พักแบบนี้เข้าถึงค่อนข้างยาก ยิ่งไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าได้ไปพักในมินชุคุแล้วลองนั่งรถไฟท้องถิ่นท่องเที่ยวดู น่าจะได้ภาพสวยๆ มาลง Instagram หลายภาพแน่นอนครับ

 

ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 9:00 น. ทางช่อง ONE 31

ติดตามชมรายการย้อนหลังได้ที่

Youtube: WabisabiTV

Website: SugoiJP.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ