ไม่หล่อแต่จริงใจ ไกด์บุ๊กนิสัยดีจาก D&DEPARTMENT
Long Life Design D&DEPARTMENT
ช่วงเวลาที่ฉันชอบที่สุดเมื่อไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นคือตอนอยู่ในร้านหนังสือ หนังสือญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความพิถีพิถัน ไม่ว่าจะรูปเล่ม ขนาด กระดาษ อาร์ตเวิร์ค ฟอนต์ ภาพประกอบ หรือการใช้สีสัน แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าน่าจะเป็นข้อดีที่สุดประการหนึ่งของหนังสือญี่ปุ่นก็คือ “เนื้อหา” เสียดายที่ฉันอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ หากได้เจอหนังสือที่ชอบและมีภาษาอังกฤษกำกับด้วย ก็จะรู้สึกว่าคุ้มค่าต่อการซื้อหามาครอบครอง
ตอนเข้าร้าน Muji ในญี่ปุ่นครั้งแรกที่สาขา Yurakucho ใกล้กับกินซ่า มุมที่ฉันจมหายไปนานมากๆ ก็คือมุมขายหนังสือ ที่นั่นฉันได้เจอหนังสือชุดหนึ่งชื่อ d design travel หน้าปกจะมีตัวอักษร d ตัวใหญ่ๆ กับภาพพื้นหลังที่เปลี่ยนไปในแต่ละเล่ม ด้านล่างมีชื่อ D&DEPARTMENT มุมขวาบนของหนังสือมีชื่อจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นกำกับไว้ เล่มละจังหวัด จะว่าไปหน้าตาของหนังสือชุดนี้ไม่ถึงกับสวยโดดเด่น แต่เมื่อวางเรียงอยู่เป็นกลุ่มก้อนกลับมีพลังดึงดูดชวนให้เปิดดู ขณะนั้นหนังสือชุดนี้เพิ่งออกมาได้ถึงเล่มที่ 12 จากทั้งหมด 47 เล่ม เท่ากับจำนวนจังหวัดในญี่ปุ่น แล้วฉันก็ตัดสินใจซื้อมา 3 เล่ม ว่าด้วยจังหวัดยามากุจิ โอกินาว่า และซากะ
ข้อดีประการแรกสุดของหนังสือชุดนี้คือเป็นหนังสือสองภาษา เนื้อหาส่วนมากมีภาษาอังกฤษกำกับ แม้ตัวหนังสือจะเล็กหน่อย แต่เราก็สามารถบริโภคเนื้อหาในหนังสือได้เต็มอิ่ม เมื่อเปิดอ่านจึงพบว่าหนังสือที่หน้าตาดูธรรมดาๆ นี้ ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย ไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่แนวความคิดของการทำหนังสือชุดนี้ต่างหากที่เราต้องพยักหน้ายอมรับ
ก่อนจะเล่าต่อไป อยากให้ผู้อ่านลองคิดดูเล่นๆ ก่อนว่า ถ้าจะทำหนังสือไกด์บุ๊กสักเล่มให้ประสบความสำเร็จ คุณจะดึงอะไรมาเป็นจุดขาย หรือถ้ามองในฐานะผู้บริโภค คุณคิดว่า คุณมองหาอะไรเมื่อต้องการหนังสือไกด์บุ๊กสักเล่ม
หนังสือชุดนี้ คือหนึ่งในหลายโปรเจ็กต์ของ D&DEPARTMENT ซึ่งก่อตั้งโดยคุณนางาโอกะ เคนเม (Kenmei Nagaoka) นักออกแบบที่มีผลงานและความสนใจหลากหลายด้าน ผู้เล็งเห็นว่าในโลกทุนนิยมและสังคมบริโภคนิยมมีสินค้าที่ถูกผลิตออกมามากมายเกินความต้องการ และการแข่งขันอย่างดุเดือดก็ทำให้ผู้ผลิตใส่ใจคุณภาพของสินค้าน้อยลงขณะเดียวกันเขาก็มีความเชื่อมั่นว่าทั่วประเทศญี่ปุ่นยังมีสินค้าคุณภาพดี อายุการใช้งานยืนยาวอยู่อีกไม่น้อย เขาจึงเปิดร้าน D&DEPARTMENT ขึ้นในปี ค.ศ. 2000 เพื่อนำเสนอแนวคิด “Long Life Design” ผ่านสินค้าเหล่านั้น การเดินทางเพื่อตามหาสินค้าดีๆ จากทุกท้องถิ่น นี่เองที่จุดประกายให้เขาทำโปรเจ็กต์หนังสือชุด d design travel นี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 2009 เพื่อแนะนำสิ่งที่เขาและทีมงานได้พบเจอมาตามแต่ละท้องถิ่น แต่ละจังหวัด ผ่านมุมมองของนักออกแบบ เพื่อเป็นคู่มือที่ไม่เพียงนำเที่ยว แต่ยังนำทางให้ผู้อ่านได้พบคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ
หน้าแรกของหนังสือทุกเล่ม คือถ้อยแถลงอธิบายแนวคิดของหนังสือชุดนี้โดยเขียนกำกับไว้อย่างชัดเจนว่า ทุกกิจการ ร้านค้า สินค้า หรือบริการที่แนะนำไว้ล้วนผ่านการทดลองจากทีมงานโดยตรง กล่าวคือ ของทุกชิ้น อาหารทุกจาน หรือทุกการเข้าพักในโรงแรม ทีมงานจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองโดยปราศจากสปอนเซอร์ ทุกถ้อยคำแนะนำที่เขียนเป็นความเห็นของผู้เขียนเอง ทุกสิ่งที่เลือกมาแนะนำในหนังสือจะต้องตรงกับคอนเซ็ปต์ “Long Life Design” ภาพทุกภาพในหนังสือไม่มีการใช้เลนส์พิเศษใดๆ จะนำเสนอภาพที่ตรงกับความเป็นจริง แนวทางในการเลือกแนะนำสินค้าและบริการมีระบุไว้ชัดว่าต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีราคาเหมาะสมและเป็นการออกแบบที่มีนวัตกรรม โดยทีมงานผู้เขียนจะใช้เวลามากกว่าสองเดือนในแต่ละจังหวัด เพื่อทำความรู้จักกับท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง วิธีการนี้เองทำให้ผู้อ่านอาจได้รู้จักร้านเล็กๆ ที่ไม่มีในไกด์บุ๊กเล่มอื่นพิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ หรือผู้คนที่ไม่ดังแต่น่าสนใจ
ย้อนกลับไปยังคำถามที่ชวนผู้อ่านคิดตามไว้ในย่อหน้าก่อน คำตอบของหลายคนอาจจะเป็น… ความแปลกใหม่ เรื่องราวที่อยู่ในกระแส แนะนำที่ที่ไม่มีใครเคยไป เสนอภาพที่ไม่มีใครเคยเห็น แต่สำหรับ d design travel จุดขายคือความซื่อสัตย์ คือความจริงใจ ท่ามกลางโฆษณาชวนเชื่อ ถ้อยคำปลุกเร้ากระตุ้นความสนใจที่เกลื่อนกลาด ภาพถ่ายสวยปรุงแต่งเกินจริง d design travel เลือกใช้ภาษาที่สั้นกระชับ ไม่อ้อมค้อม แนะนำจากการใช้งานจริงผ่านสายตาของผู้ที่หลงใหลงานออกแบบที่ดี ในหนังสือมีส่วนที่เป็นบทความที่ชวนให้เรา “รู้ลึก” และ “รู้สึก” ถึงอารมณ์ของเมืองนั้นๆ ได้ดีขึ้นไปอีก
d design travel เล่มที่ 31 เพิ่งวางจำหน่ายไปไม่นาน นอกจากสิ่งพิมพ์เรายังสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ผ่านทางเว็บไซต์ นิทรรศการสินค้าท้องถิ่น และเวิร์คช็อปมากมาย ร้าน D&DEPARTMENT เองปัจจุบันมีถึง 12 สาขาในญี่ปุ่น และตั้งใจจะเปิดสาขาให้ครบ 47 สาขาทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ความจริงใจบวกความมุ่งมั่นของโปรเจ็กต์นี้ นอกจากทำให้คนนอกอย่างเราได้เห็นของดีที่ซ่อนอยู่ในท้องถิ่น ยังอาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คนในพื้นที่เองยืนหยัด มีกำลังใจในการสร้างสินค้าและบริการที่ดีต่อๆ ไป ซึ่งในที่สุดจะเป็นเครื่องยืนยันว่า “Long Life Design” นั่นเองที่เป็นคำตอบสำหรับทุกๆ การบริโภคของเรา
รายละเอียดเพิ่มเติม www.d-department.com