ย่างเข้าเดือนสี่ ก็เป็นช่วงเวลาที่ผมมักจะได้เจอคำถามประจำคือ “จะไปวันที่ XX ที่เมือง XX จะได้เห็นซากุระบานมั้ย”

ตั้งแต่การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าสมัยผมแหกโค้งไปเรียนต่อที่นั่น การไปชมซากุระก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของชาวไทยที่รักญี่ปุ่น ซึ่งก็แน่นอนว่าการหวังชมดอกไม้ที่บานเพียงช่วงสั้นๆ นอกจากจะต้องมีเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลเต็มที่ว่าในแต่ละปี ซากุระที่สถานที่ที่ตัวเองอยากจะไปจะบานช่วงไหน หลักๆ ก็ต้องอาศัยพยากรณ์การบานของซากุระ ที่ก็เช็คได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ นั่นเอง แต่สุดท้ายแล้ว ก็ยังต้องหวังพึ่งดวงอีกด้วยว่าซากุระจะบานตรงตามที่พยากรณ์ไว้ ไม่มีเหตุอาเพศอะไรให้การบานเพี้ยนไปอีก

 

 

แม้ในภาพอิมเมจต่างๆ ของซากุระ จะเป็นสีชมพูซะส่วนใหญ่ แต่เอาจริงๆ แล้ว หลายคนไปเจอของจริงก็ตกใจ เพราะส่วนใหญ่แล้ว มันเป็นสีขาวอมชมพูระเรื่อเท่านั้นเอง ไม่ได้ชมพูจ๋าขนาดนั้น สาเหตุหลักๆ ก็คือ เจ้าสายพันธุ์ที่มีสีชมพูระเรื่อนี่คือสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมที่สุดในญี่ปุ่นนั่นเองครับ ซึ่งสายพันธุ์ที่ว่าก็คือ “โซเมโยชิโนะ” (Somei Yoshino) ที่เป็นภาพจำของซากุระไปแล้ว แต่จริงๆ แล้ว เจ้าโซเมโยชิโนะ นี่ก็มีความลับซ่อนอยู่ในความงามไม่น้อยนะครับ

ในปัจจุบัน โซเมโยชิโนะ ได้กลายเป็นตัวแทนของซากุระไปโดยปริยาย เนื่องจากความสวย สีสัน รูปทรงที่สง่างาม และขนาดที่ดูแลง่าย ทำให้มันถูกปลูกเป็นไม้ประดับในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาบาน เราก็จะได้เห็นสีขาวอมชมพูของมันเบ่งบานอย่างสวยงามเต็มไปหมด แต่ถึงมันจะเป็นที่นิยมจนกลายเป็นภาพจำของซากุระไป แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่สายพันธุ์แท้แต่เดิมในญี่ปุ่นนะครับ แต่มันคือสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีอายุน่าจะแค่ร้อยกว่าปีนี่เองครับ

เริ่มแรกคือ เป็นที่เชื่อกันว่า ซากุระสายพันธุ์โยชิโนะ มีถิ่นฐานในเขตโยชิโนะในจังหวัดนารา แล้วต่อมาในปี 1900 มันค่อยถูกตั้งชื่อเต็มเป็น โซเม โยชิโนะ ตามชื่อหมู่บ้านโซเมในโตเกียว เพราะมีการเพาะพันธุ์ในหมู่บ้านนี้เป็นจำนวนมากนั่นเอง ที่ต้องบอกว่า “เพาะพันธุ์” ก็เพราะว่า เจ้าโซเมโยชิโนะ นี่ ไม่สามารถแพร่พันธุ์ด้วยการเอาเมล็ดไปปลูกนะครับ ต้องอาศัยการตอนกิ่งเท่านั้น

 

 

นั่นล่ะครับ ว่าเป็นที่มาของความลับของมัน เพราะว่า ไม่มีใครทราบว่า มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร พอรู้อีกที ก็มีต้นซากุระสายพันธุ์ผสมแสนสวย ที่ถ้าใครอยากได้ก็ต้องตอนกิ่งไปปลูกต่อเท่านั้น แถมอายุอานามของมัน ก็ไม่ได้เก่าแก่อะไรมาก ทำให้หลายคนเชื่อว่ามันเกิดขึ้นในช่วงยุคเอโดะ โดยไม่แน่ใจว่า เกิดโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการตั้งใจเพาะพันธุ์ของใครกัน แล้วต่อมามันก็ได้รับความนิยมในช่วงต้นยุคเมจิเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำไปปลูกในสถานที่มีชื่อเสียงทั้งหลายในญี่ปุ่น (ดังนั้น ด้วยอายุที่ไม่มากนักของมัน หากใครเห็นสายพันธุ์นี้ในละครประวัติศาสตร์ที่เก่ากว่ายุคเอโดะ ก็ถือว่ามั่วนั่นเองครับ)

ซึ่งด้วยความลึกลับของที่มาของมัน ก็ทำให้เกิดการเคลมกันเรื่อง ชาติกำเนิด ที่แท้จริงของมัน โดยมีนักวิชาการชาวญี่ปุ่นเสนอว่า จริงๆ แล้ว ต้นกำเนิดของโซเมโยชิโนะ คือที่เกาะเจจู ในประเทศเกาหลี

ตายแล้ว สัญลักษณ์ของชาติ แต่กลับมาจากประเทศอื่น!

เท่านั้นล่ะครับ ก็เลยมีการค้นคว้าวิจัยการอย่างมาก ถึงที่มาของซากุระสายพันธุ์โซเมโยชิโนะ เพื่อหักล้างทฤษฎีดังกล่าว และในที่สุด เมื่อเทคโนโลยีดีพอ ก็ทำให้นักวิจัยสามารถตรวจสอบ DNA ของซากุระสายพันธุ์โซเมโยชิโนะ เทียบกับซากุระสายพันธุ์ King Cherry ของทางเกาหลีที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นพันธุ์เดียวกัน ซึ่งการตรวจสอบก็ทำอย่างเต็มที่ ด้วยการเก็บตัวอย่าง DNA ของโซเมโยชิโนะจากเกือบทุกจังหวัดในญี่ปุ่น (เว้นแค่โอกินาว่า) แล้วนำมาเทียบกัน ผลที่ได้น่าทึ่งมากครับ เพราะนอกจากจะหักล้างได้ว่า ไม่ได้เป็นสายพันธุ์เดียวกันแล้ว พวกเขายังพบว่า..

โซเมโยชิโนะทุกต้นในญี่ปุ่น เกิดจากโซเมโยชิโนะต้นแรกเพียงต้นเดียว แล้วค่อยๆ ตอนกิ่งต่อกันมา พูดง่ายๆ คือ ทุกต้นคือโคลนของต้นแรกต้นเดียวครับ

ซึ่งงานวิจัยก็สามารถชี้แจงออกมาได้ละเอียดเลยว่า มันคือสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ เอโดะฮิกัง และ โอชิมะซากุระ ซึ่งพบได้ในเกาะอิซุและหมู่เกาะโบโซในญี่ปุ่นเท่านั้น ทำให้ตัดความสัมพันธ์กับ King Cherry ของเกาหลีได้เลย แถมยังทราบอีกว่า มันเกิดขึ้นในช่วงปี 1720-1735 เรียกได้ว่า คุ้มกับการเก็บตัวอย่างจากทั่วประเทศจริงๆ นะครับ และในที่สุด ปี 2006 ทั้งสองสายพันธุ์ก็ถูกแยกกันในเชิงวิชาการอย่างเด็ดขาดครับ

 

 

ฟังดูแล้วก็น่าทึ่งดีนะครับ สัญลักษณ์ของชาติ แต่กลับเกิดจากต้นหลักเพียงแค่ต้นเดียว แล้วค่อยโคลนกันมาเรื่อยๆ แบบนี้ก็แน่ใจได้เลยว่า ไม่มีกลายพันธุ์แน่นอน เพราะต้องเหมือนกับต้นฉบับเป๊ะๆ แต่ที่ห่วงก็คือ ถ้าเกิดมีโรคหรือไวรัสที่เจาะทำลายต้นหนึ่งได้ ต้นอื่นๆ ก็มีโอกาสตายได้เหมือนกันหมด ก็เพราะมันขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมนั่นเอง ก็หวังว่าจะไม่มีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นนะครับ

TAGS

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ