สารบัญ
ก่อนหน้านี้ KIJI เคยเล่าเรื่อง ราเมน มาก็หลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยเจาะถึงราเมนในแต่ละ ภูมิภาค มาก่อน พอได้ลองค้นคว้าก็ทำให้รู้ว่าในกรุงเทพฯ มีหลายร้านที่นำเสนอรสชาติราเมนในแบบท้องถิ่น หนำซ้ำยังมีสาขาแม่ที่ญี่ปุ่นก็มาก อีกทั้งหลายๆ ร้านก็ได้รับการครีเอทรสชาติโดยราเมนมาสเตอร์
ประจวบเหมาะกับตอนนี้ที่ยังตีตั๋วไปประเทศต้นทางของราเมนไม่ได้ เราจึงได้ลิสต์ความอร่อยแบบออริจินอลมาให้ตระเวนซู้ดเส้นกันถึง 24 ร้าน โดยไล่จากเหนือลงใต้ ตั้งแต่ฮอกไกโด โทโฮคุ คันโต ชูบุ คันไซ ชิโกกุ จรดถึงคิวชู ใครที่ปวารณาตัวว่าเป็นคนรักราเมนและมีบัตรเครดิต JCB อยู่ในมือ แมตช์นี้จะบอกว่าไม่อยากให้พลาดกันเลยจริงๆ
มีความหลากหลายของ ราเมน ไม่แพ้ ภูมิภาค ไหนๆ สำหรับโซนที่อยู่เหนือสุดของญี่ปุ่นอย่างฮอกไกโด ด้วยวัตถุดิบพื้นฐานการอย่างมิโซะ โชยุ อีกทั้งเกลือ และมันหมู แถบนี้ก็เรียกได้ว่าอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้ราเมนของฮอกไกโดล้วนมีรสชาติลุ่มลึกไม่เหมือนกับที่ไหน เส้นที่นำมาใช้ส่วนมากนอกจากจะมีขนาดกลาง ยังออกแบบให้มีลักษณะหยิกเพื่อจิกซุปข้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ซัปโปโรราเมน (Sapporo Ramen) ปัจจุบันเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย มีเบสซุปเป็นกระดูกหมูก่อนที่จะเพิ่มมันหมูและเนยลงไปเป็นท็อปปิ้ง ส่วนเส้นมีลักษณะหยิก เหนียวนุ่ม จิกซุปได้ เป็นความครบเครื่องที่ไม่ลองกินไม่ได้เลยทีเดียว ถัดมาคืออาซาฮิคาวะราเมน (Asahikawa Ramen) อีกเมนูราเมนท้องถิ่นที่ใส่เนยพร้อมกับมันหมูแบบไม่ยั้ง ว่ากันด้วยซุปก็เคี่ยวจากกระดูกหมูและปลาแมคเคอเรลแห้งที่เมื่อซดลงคอแล้วรสชาติกลับกินง่ายกว่าที่คาด ขณะที่ฮาโกดาเตะราเมน (Hakodate Ramen) เด่นเรื่องรสอูมามิด้วยมีซอสเกลือเข้ามาผสมกับซุปกระดูกหมูไม่ก็ไก่ จึงเป็น ราเมน ที่กินง่ายรสชาติมายด์ๆ เมื่อเทียบกับบรรดาฮอกไกโดราเมนทั้งหมด ปิดท้ายที่คุชิโระราเมน (Kushiro Ramen) โชยุราเมนที่มีเบสซุปเป็นสาหร่ายเคลป์และปลาซาร์ดีนแห้ง เส้นราเมนเน้นไปที่ลักษณะหยิกทั้งเรียวเล็กเป็นพิเศษ ว่ากันว่าคุชิโระราเมนมีให้กินเฉพาะใน ภูมิภาค ฮอกไกโดที่เมืองคุชิโระเท่านั้นอีกด้วย!
เบาทั้งเนื้อสัมผัสและรสชาติจนรู้สึกเซอร์ไพรส์เมื่อเทียบกับภูมิอากาศของโทโฮคุ เส้นราเมนที่ใช้นั้นโดยส่วนมากจะมีลักษณะหยิกและบาง โดยศูนย์กลางของราเมนจะอยู่รอบๆ ยามากาตะ แต่ก็มี ราเมน ตัวแทนจังหวัดอื่นๆ ใน ภูมิภาค โทโฮคุที่ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
ไม่ว่าจะเป็นราเมนคิตะคาตะ (Kitakata Ramen) จากฟุกุชิมะที่เด่นเรื่องโชยุราเมน มีเบสเป็นซุปเคี่ยวจากกระดูกหมู ไก่ ไม่ก็ปลาขณะที่เส้นจะใหญ่และหนา ส่วนราเมนแบบโยเนซาวะส่วนใหญ่จะมีเบสซุปไก่ที่ต้มกับปลาซาร์ดีนแห้งและผัก ขณะที่เส้นจะเล็กแต่มีเอกลักษณ์ด้วยทรงของเขาจะหยิกงอกว่าปกติ เป็นผลให้ราเมนของที่นี่มีรสสัมผัสที่เข้มข้นกว่าที่อื่น ฟากของอิโสะราเมน (Iso Ramen) แห่งจังหวัดอิวาเตะจะเน้นไปเส้นราเมนขนาดเล็กเสิร์ฟพร้อมซุปเกลือโดยมีเบสเป็นดาชิที่ปรุงมาจากคอมบุกับคัตสึโอะบุชิ ท้ายสุดที่ราเมนมิโซะแกงกะหรี่นมวัว (Miso Curry Milk Ramen) ของอาโอโมริ ที่นอกจากซุปจะมีส่วนผสมของมิโซะ แกงกะหรี่ และนม ยังโปะหน้าด้วยเนยก้อนและสารพัดผัก
นอกจากความอร่อย ราเมน ในแถบ ภูมิภาค คันโตยังมีความเป็นวาไรตี้ไล่ไปตั้งแต่โชยุราเมน ซุปทงคตสึ หรือบางแห่งก็ครีเอทออกมาในรสชาติเผ็ดร้อนด้วยการใส่น้ำมันพริกเผาลงไป ตัวเส้นก็ใช้กันหลากหลายแบบไม่ว่าจะเป็นเส้นเล็กหยิกหรือลักษณะหนาตรง
อย่างราเมนแบบโตเกียวที่เสิร์ฟเส้นหยิกในซุปโชยุใสผ่านการเคี่ยวกระดูกหมูและไก่ หรืออิเอะเคราเมน (Iekei Ramen) จากคานางาวะที่ได้รวมเอาซุปกระดูกหมูแบบเข้มข้นมาผสมกับซอสโชยุเสิร์ฟพร้อมบะหมี่เส้นใหญ่ ซึ่งอิเอะเคราเมนครีเอทขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1974 ที่โยโกฮาม่า ปัจจุบันยังเสิร์ฟในรูปแบบของซุปเกลืออีกด้วย ขณะที่ซาโนะราเมน (Sano Ramen) ของจังหวัดโทชิกิจะเสิร์ฟโชยุราเมน ยกมาพร้อมเส้นราเมนแบบหนาทว่าแบน ยามเคี้ยวจะรู้สึกถึงความเหนียวนุ่ม ส่วนคัตสึอุระทันทันเมน (Katsuura Tantanmen) จากชิบะจะโดดเด่นตรงที่ใส่น้ำมันพริกเผาในซุปงาปริมาณมาก ใครที่ชอบราเมนรสชาติจัดจ้านน่าจะถูกปากกับชามนี้
แม้พื้นฐานจะเป็นซุปโชยุแต่ราเมนโซนนี้ก็มีความครีเอทสูงทั้งเทกซ์เจอร์และรสชาติ เป็นต้นว่าราเมนมันหมูจากนีงาตะกับทางนาโกย่าที่เสิร์ฟราเมนแบบเผ็ด หรือจะเป็นซุปดำจากโทยามะไปจนถึงราเมนรสชาติเบาแต่ลุ่มลึกของกิฟุ ประเภทของเส้นส่วนมากแถบนี้จะใช้เป็นเส้นกลางเพราะซู้ดคู่กับโชยุจะอร่อยที่สุด
สึบาเมะซันโจราเมน (Tsubame Sanjo Ramen) ของนีงาตะแม้จะอยู่ในหมวดโชยุราเมน แต่พิเศษตรงที่มีเบสเป็นซุปปลาต้มมาจากปลาแมคเคอเรลกับปลาแห้งแถมมันหมูปริมาณมากที่ใส่มาในชาม แตกต่างกับทาคายาม่าราเมน (Takayama Ramen) ของกิฟุที่นิยมต้มน้ำสต๊อกไปพร้อมๆ กับโชยุกินคู่กับราเมนเส้นเล็ก ด้านจังหวัดโทยามะก็ได้ส่งราเมนน้ำดำ (Black Ramen) เข้าประกวด ไม่ใช่หน้าตาที่อิมแพคแต่รสชาติก็เข้มข้นอีกด้วย ปิดจ๊อบที่นาโกย่ากับไต้หวันราเมน (Taiwan Ramen) เส้นราเมนไซส์ใหญ่คลุกซอสถั่วเหลืองใส่ท็อปปิ้งต่างๆ อย่างเนื้อสับรสเผ็ด กุยช่าย ต้นหอมญี่ปุ่น ผงปลา และไข่แดงดิบ พัฒนาโดยร้านราเมนที่นาโกย่า Menya Hanabi เมื่อปี ค.ศ. 2008
โชยุราเมนเท่ากับคันไซ มีแตกต่างต่างนิดหน่อยตรงรายละเอียดเรื่องความข้นของซุปและลักษณะเส้นที่เอามาจับคู่กันของแต่ละแหล่ง อย่างวากายามะจะชอบกินเส้นเล็ก ส่วนเกียวโตเน้นเป็นซุปเทกซ์เจอร์เข้มข้นกับเส้นใหญ่ ขณะที่โอซาก้าชอบราเมนรสชาติเบาๆ แต่หวาน ซึ่งสไตล์จะคล้ายๆ กับที่เฮียวโงะ
เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่ารสชาติราเมนแบบเกียวโตนั้นเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นซุปโชยุที่มีดาชิเคี่ยวมาจากกระดูกหมูและไก่ ไหนจะเส้นขนาดกลางที่ใช้ก็ลวกจนนิ่มถึงจะเป๊ะตามมาตรฐาน สำหรับวากายามะโชยุราเมนของเขาจะมีทั้งซุปใสและซุปข้นเคี่ยวจากกระดูกหมู อารมณ์โตเกียวกับชิโกกุผสมกัน และมักจะมีจานเคียงเป็นไข่ต้มกับโอชิซูชิที่คนท้องถิ่นนั้นมักจะสั่งมากินคู่กันกับราเมน ไม่เหมือนกับทาคาอิดะเคราเมน (Takaida-kei Ramen) จากโอซาก้าที่เส้นจะใหญ่หนาเสิร์ฟมากับซุปโชยุสีเข้มที่ต้มกับไก่กับสาหร่ายเคลป์ สำหรับท็อปปิ้งก็เป็นอะไรที่มินิมอลมาก อาทิ หมูชาชู หน่อไม้ และต้นหอมญี่ปุ่น กับบันชูราเมน (Banshu Ramen) แห่งเฮียวโงะ โชยุราเมนที่นิยมในหมู่ผู้หญิงด้วยมีรสหวานจากสต๊อกที่เคี่ยวมาจากกระดูกหมู ไก่ และผักอีกหลากชนิด
พบเห็นได้ทั้งชิโอะราเมนและโชยุราเมนสำหรับที่เกาะชิโกกุ ว่ากันด้วยขนาดของเส้นที่ใช้ก็เป็นเส้นตรงผอมแต่ก็มีความยูนีคแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อย่างโทคุชิมะเราจะเห็นราเมนที่มีท็อปปิ้งเป็นไข่สด ส่วนจังหวัดโคจินั้นโด่งดังเรื่องเสิร์ฟราเมนในหม้อดินเผา ไปจนถึงเอฮิเมะที่ยกระดับราเมนไปอีกขั้นด้วยการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น
ราเมนสไตล์โทคุชิมะส่วนใหญ่จะใช้ซุปที่เคี่ยวจากกระดูกหมูมาปรุงกับซอสโชยุ รสชาติเข้มข้นออกเค็มหวาน ขณะที่เส้นราเมนจะเป็นขนาดเล็กไม่หยิกงอ พร้อมท็อปหน้าด้วยไข่สด แต่ถ้าเรื่องพรีเซนเทชั่นต้องยกให้นาเบะยากิราเมน (Nabeyaki Ramen) ของโคจิ เพราะนอกจากจะเสิร์ฟมาในหม้อดินเผา ตัวซุปโชยุของเขาก็ทำมาจากไก่อีกทั้งผัก จับคู่กับเส้นเล็กตรง มีท็อปปิ้งเป็นไก่ ผัก และไข่สดที่คล้ายกับราเมนโทคุชิมะ หากเป็นราเมนที่ค่อนข้างเฉพาะตัวมีคำตอบเดียวก็คืออิมาบาริราเมน (Imabari Ramen) จากเอฺฮิเมะ ราเมนซุปเกลือที่ใช้น้ำสต๊อกจากสาหร่ายโนริ เลม่อน และปลาหลากหลายชนิด กินกับราเมนเส้นเล็กและไก่ชิ้น ถือเป็นเมนูท้องถิ่นที่ทำให้คนกินได้สัมผัสถึงทะเลยามรับประทาน
ซุปกระดูกหมูคือคาแรคเตอร์ราเมนของคิวชู ไล่ไปตั้งแต่สูตรเข้มข้นแบบฟุกุโอกะ หอมอบอวลไปด้วยกระเทียมและงาจากคุมาโมโตะ กับคาโกชิม่าที่ผสมผสานรสชาติของไก่กับผักท้องถิ่น และมิยาซากิที่ราเมนเสิร์ฟเป็นซุปปลา
ฮากาตะราเมน (Hakata Ramen) โดดเด่นที่เนื้อสัมผัสอันครีมมี่ของซุปกระดูกหมูบวกกับเส้นราเมนที่ค่อนข้างจะเฟิร์มแน่นและมีขนาดเล็ก ทำให้ฮากาตะราเมนโดดเด่นกว่าสไตล์อื่นๆ ที่มีเบสเป็นซุปกระดูกหมูด้วยกัน ขณะที่ราเมนแบบคุมาโมโตะคือราเมนซุปกระดูกหมูบวกไก่ รสชาติเลยเบากว่าเมืองอื่นๆ ทั้งมีอีกหนึ่งไฮไลท์คือน้ำมันกระเทียมและน้ำมันงาที่เข้ามาทำให้ราเมนชามนี้มีมิติมากขึ้น ฟากของคาโกชิม่าราเมน (Kagoshima Ramen) เขามีจุดเด่นในเรื่องของซุปกระดูกหมูที่ผสานเข้ากับไก่และผัก เกิดเป็นราเมนที่มีรสชาติไม่หนักจนเกินไปแถมยังมีน้ำมันน้อยอีกด้วย สุดท้ายในโซนนี้ที่มิยาซากิราเมน (Miyazaki Ramen) โดยตัวซุปจะแตกต่างกับ 3 จังหวัดด้านบนนิดหน่อยตรงที่เบสของซุปเป็นกระดูกหมูเคี่ยวกับปลา หมายความว่ารสชาติของมิยาซากิราเมนนั้นจะไม่หนักเท่า ใครที่ไม่ถนัดมันๆ ข้นๆ น่าจะถูกใจกับราเมนบ้านนี้มากกว่า
ยึดแนวทางหลักคือสไตล์ฮอกไกโด ทั้งคงรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับราเมนท้องถิ่นด้วยเครื่องปรุงชั้นเลิศส่งตรงจากญี่ปุ่น Hokkaido Miso Ramen ใช้มิโซะจากฮอกไกโดหลายชนิดผัดรวมกับเนื้อหมูและผัก ผสมในซุปทงคตสึ เคี่ยวนาน 15 ชั่วโมง
เริ่มต้นถิ่นฐานแรกที่ฮอกไกโดก่อนกระจายความอร่อยทั่วเมืองซับโปโรกว่า 12 สาขา ด้วยความเข้มข้นในรสชาติและความพิถีพิถันจนได้ใจคนญี่ปุ่นและคนไทยไปเต็มๆ Tonkotsu Miso Ramen ราเมนปรุงรสมิโซะกลมกล่อม มาพร้อมหมูชาชู ไข่ และผักเคียง ในราคา 99 บาท
ยืนหนึ่งของร้านคือราเมนรสชาติส่งตรงจากเมืองซัปโปโร ไม่ต่างกับเมนูจานอื่นๆ ที่ Bishamon เขาก็ไม่พร่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นครัวเย็นหรือร้อนทั้งหมดนั้นซีเรียสพอๆ กับราเมนแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ Spicy Miso Ramen ราเมนที่ให้เราได้เลือกความเผ็ดถึง 3 ระดับ ด้านซุปนั้นจะเป็นซุปมิโซะรสชาติเข้มข้นแบบซัปโปโร และเส้นสดที่คำนวณมาแล้วว่าเหมาะ อีกทั้งตัวท็อปปิ้งต่างๆ ก็จัดมาแบบพูนชาม อย่างชาชูย่าง ถั่วงอก ต้นหอมญี่ปุ่นซอย ข้าวโพด และปิดท้ายที่สาหร่ายวากาเมะ
ถือกำเนิดที่เมืองอาซาฮิคาวะของเกาะฮอกไกโดโดยคุณฮาตานากะ ฮิโตชิ เป็นที่รู้จักและนิยมในวงกว้างไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นแต่ขยายสาขาไปทั่วโลกทั้งยุโรปและเอเชีย ด้วยรสชาติของราเมนซุปเกลือเสิร์ฟพร้อมหมูย่างสูตรพิเศษที่ฮาตานากะซังได้คิดค้นขึ้น Shio Tokusen Toroniku Ramen ชิโอะราเมนบวกแก้มหมูสูตรพิเศษเสิร์ฟพร้อมลูกพลับดองกับหน่อไม้ และด้วยเนื้อส่วนแก้มเป็นส่วนที่หายากทางร้านจึงมีจำนวนจำกัดต่อวัน
เพราะว่าซุปเป็นมิโซะมาจากทั่วทุก ภูมิภาค ของญี่ปุ่นทั้งฮอกไกโด โตเกียว คิวชู และนาโกย่า เพราะฉะนั้นมาร้านเดียวคุณจะได้ลองน้ำซุปมิโซะรสชาติหลากหลาย Hokkaido Aburi Chashu-men ราเมน แบบฉบับฮอกไกโด ที่เสิร์ฟหมูย่างชาชูมาให้พิเศษแบบเต็มอิ่ม หมูสับผัดมิโซะ และมันฝรั่ง ด้วยน้ำซุปมิโซะสีขาวนวลกลมกล่อม รสเข้มข้นทำให้เราซู้ดจนหมดชามโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะ
ร้านราเมนสไตล์เซนไดย่านสีลมพร้อมเสิร์ฟราเมน ข้าวหน้าต่างๆ อาหารจานเดียว และของกินแกล้มให้เลือกกว่า 140 เมนู Aburi Chashu Men แม้ซุปจะดูใสแต่เมื่อได้ซดเข้าไปจะสัมผัสได้ถึงความเข้มข้นจัดจ้านในแบบเซนได ด้านเส้นทางร้านก็ต้มออกมาได้เหนียวหนึบ ตลอดจนท็อปปิ้งอย่างหมูต้มซีอิ๊วย่างที่เคี่ยวมาจนเปื่อยหอมทั้งเคี้ยวง่าย ถึงจะเสิร์ฟมาชามใหญ่แค่ไหน ก็สามารถซดได้จนเกลี้ยงชามแน่นอน
คุณโชโนะ โทโมะฮารุ Hyper Ramen Creators ได้ผสมผสานเอกลักษณ์ของราเมนออริจินอล รวมถึงปรับเปลี่ยนโฉมหน้าให้ดูทันสมัย พร้อมนำเสนอรสชาติที่แปลกใหม่ ทั้งหมดก็เพื่อถ่ายทอดความสมบูรณ์แบบของราเมนแต่ละชามให้ดีที่สุด Tori Paitan ราเมนซุปไก่จากการเคี่ยวไก่ทั้งตัวนาน 8 ชั่วโมง เข้ากันกับเส้นราเมนขนาดกลางรูปร่างหยักเล็กน้อย ท็อปมาด้วยหมู เป็ดชาชู ผักคะน้าไทย กะหล่ำปลี และตะไคร้ทอดกรอบ
ร้านราเมนชื่อดังจากเมืองโยโกฮาม่า รับประกันความอร่อยโดยเชฟอุชิดะผู้ก่อตั้งร้าน ซึ่งมักจะได้รับการโหวตจากชาวญี่ปุ่นผู้รักราเมนให้เป็นเชฟราเมนอันดับหนึ่งของย่านคันโตอยู่บ่อยครั้ง Uchidaya Tokusei Ramen คือราเมนออริจินอลของร้าน กับความหวานหอมแบบเข้มข้นของน้ำซุปที่ได้จากกระดูกหมูและน้ำมันจากไก่ เลือกใช้เส้นราเมนกลมไซส์ใหญ่ ท็อปด้วยหมูชาชูชิ้นโต ผักปวยเล้ง ต้นหอม ไข่ยางมะตูม และสาหร่าย 5 แผ่นใหญ่
ร้านราเมนจากย่านสถานีชินโคอิวะ (Shin-Koiwa) ของโตเกียวที่อร่อยโด่งดังจนต้องต่อคิวนานถึงจะได้กิน สำหรับเมนูของร้านที่นอกจากสึเคเมนจะขึ้นชื่อแล้ว Noko Gyokai Ramen ราเมนซุปไก่เคี่ยวกับส่วนผสมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเล กุ้งซากุระ ทำให้ซุปชามนี้เข้มข้นกลมกล่อมติดรสเค็มนิดๆ โปะมาด้วยท็อปปิ้งทั้งอกไก่ เนื้อหมู หมูสามชั้น และเส้นราเมนโฮมเมดที่ทางร้านทำสดๆ ทุกเช้า
ซุปที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องความมันเต็มไปด้วยคอลลาเจนจากไขสันหลังกระดูกหมูจนคนไทยบางรายต้องขอลดดีกรีลง แต่หากได้ลิ้มลองจะรู้ว่าเหตุใดลูกค้าชาวญี่ปุ่นถึงเลือกเพิ่มระดับความมันขึ้นไปอีก Chashu Men ราเมนรสต้นตำรับประจำร้าน มาพร้อมกับซุปซิกเนเจอร์ของบังคาระปรุงด้วยโชยุ ด้านเส้นราเมนทางร้านเลือกใช้ขนาดกลาง ก่อนโปะมาด้วยหมูชาชู 6 ชิ้นใหญ่ๆ เอาให้จุใจกันไปเลย
ซึ่งกว่าจะได้เป็นร้านที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดร้านราเมนแห่งปี 2007 โดย Tokyo Isshukan ตลอดจนชนะการแข่งขัน Ramen Champions 5 ปีซ้อน เชฟฟุรุยะ อิชิโร ใส่ความทุ่มเทอย่างสุดตัว จนได้ออกมาเป็นซุปทงคตสึอันมีสัดส่วนความเข้มข้นกับความมันที่พอเหมาะกับมายุ (น้ำมันกระเทียมสีดำ) อีกหนึ่งคีย์อินกรีเดียนท์ที่ขาดกันไม่ได้ Koro Nantsu ทงคตสึราเมนเหยาะน้ำมันกระเทียมสีดำที่กว่าจะได้มาทางร้านต้องคั่วกระเทียมด้วยวิธีที่แตกต่างกันถึง 7 ขั้นตอน
มาที่นี่คุณจะได้ลิ้มลองซุปหลากหลายแบบส่งตรงจากนาโกย่าที่สำคัญร้านนี้ยังทำเส้นราเมนสัมผัสเหนียวนุ่มแบบวันต่อวันด้วย Deluxe Tamari (Special) ราเมนเส้นสดในซุปทามาริโชยุ เรียกได้ว่าเป็นซุปที่ขึ้นชื่อของจังหวัดไอจิ ในชามโปะหน้ามาด้วยหมูชาชูที่ผ่านการต้มนาน 8 ชั่วโมงจนนุ่มละลายในปาก
เฉพาะทางเรื่องมาเซโซบะทั้งเป็นร้านที่มีสาขาแม่ในนาโกย่า มาเซโซบะของที่นี่จึงเป็นเมนูที่เรียกได้ว่านิยมและถูกปากชนิดที่ว่าใครมาก็ต้องสั่ง “Mazesoba Yamato Style” ในชามประกอบไปด้วยเครื่องเคราที่ก็มีทั้งราเมนเส้นอวบ หมูสับผัดพริกญี่ปุ่น กุยช่ายซอย ต้นหอมญี่ปุ่น กระเทียมสับ ผงปลาแห้ง สาหร่าย และไข่แดงสด เพื่อความเป๊ะแนะนำให้คนส่วนผสมทุกอย่างก่อนคีบเข้าปาก
เชนใหญ่ที่บินตรงมาเปิดที่ไทยจากนาโกย่า โดยที่ญี่ปุ่นตั้งกระจายขยายความอร่อยมากกว่า 50 แห่ง ที่นี่ชูสึเคเมนให้เป็นนักแสดงนำแถมยังครีเอทคาแรคเตอร์แต่ละเมนูก็ไม่ซ้ำกับเจ้าอื่นๆ Nou Kou Tsukemen ซุปทงคตสึรสชาติเข้มข้นผ่านการเคี่ยวกว่า 48 ชั่วโมงจนงวด ท็อปปิ้งก็มาเต็มอย่างหมูชาชู หน่อไม้ปรุงรส ต้นหอมญี่ปุ่น และผงปลาโอแห้ง และเส้นราเมนอวบๆ ที่เสิร์ฟมาให้กินคู่กันก็จิกน้ำซุปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ร้านราเมนดีกรีแชมป์จากจังหวัดโทยามะที่รังสรรค์ราเมนชามอร่อยโดยเชฟคุริฮาระ คิโยชิ เชฟผู้ชนะเลิศรายการ Tokyo Ramen Show ของประเทศญี่ปุ่นถึง 5 สมัย Toyoma Black Ajitama Ramen ราเมนเส้นเหนียวหนึบในซุปสีดำ รสชาติกลมกล่อมหอมกลิ่นปลาทะเลอ่อนๆ จากอ่าวโทยามะ โปะด้วยหมูชาชู ไข่ หน่อไม้ และสาหร่าย
ได้อารมณ์ความเป็นราเมนสูตรดั้งเดิมจากนาโกย่า โดยทางร้านทำเองตั้งแต่เส้น ซุป รวมไปถึงเลือกใช้วัตถุดิบหลักนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด Shoyu Soba คือเมนูแนะนำของทางร้านกับราเมนเส้นเล็กและในซุปโชยุกลมกล่อมหอมติดจมูก ที่ได้จากการเคี่ยวผักหลายชนิด หัวหอม กระดูกหมู ไก่ รวมถึงปลาแห้ง
ส่งตรงจากย่านชินไซบาชิสู่พร้อมพงษ์ พร้อมเสิร์ฟราเมนซุปกระดูกหมูชามโตรสชาติกลมกล่อม ในบรรยากาศเหมือนได้ไปนั่งกินราเมนที่ประเทศญี่ปุ่น Premium Tonkatsu Shoyu ราเมนซุปทงคตสึพิเศษท็อปด้วยโฟมสีขาวครีมที่เคี่ยวจากกระดูกหมู จับคู่มากับเส้นราเมนเหนียวนุ่ม พร้อมด้วยหมูชาชูสัมผัสละลายในปาก เรียกได้ว่าหวานมันเค็มกลมกล่อมลงตัวตามสไตล์ชามซิกเนเจอร์ของร้าน
ราเมนท้องถิ่นจากเมืองเทนริ จังหวัดนารา มาพร้อมกับความโดดเด่นของซุปที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว Stamina Ramen ราเมนจอมพลังซิกเนเจอร์ประจำร้าน กับน้ำซุปกระดูกหมูโปะด้วยสารพัดที่เชฟเอาไปผัดกับกระทะจนหอมบวกกับซอสสูตรลับรสเผ็ดนิดๆ อร่อยไม่แพ้ร้านไหนแถมได้เรื่องสุขภาพอีกด้วย
ไม่ธรรมดาตั้งแต่เป็นร้านราเมนจากเอฮิเมะแถมยังเป็นเจ้าของรางวัล Hong Kong Michelin Guide ถึง 6 ปีซ้อน Shugetsu Ramen โชยุราเมนเส้นสดขนาดเล็กเบสซุปไก่เคี่ยวนาน 6 ชั่วโมง เพิ่มความกลมกล่อมด้วยน้ำมันหอยเชลล์และผงปลาแห้ง ถือว่าเป็นราเมนที่มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว ทั้งยังให้สัมผัสเบาๆ ไม่หนืดหรือข้นจนเกินไป
ราเมนเจ้าดังจากเขตฮากาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ ที่ตอนนี้ขยายความอร่อยไปทั่วทั้งญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยที่กรุงเทพฯ มีให้เช็คอินถึง 2 แห่งด้วยกัน Ikkousha Tokusei Ramen เมนูออริจินอล กับราเมนน้ำซุปกระดูกหมูเข้มข้นสูตรของร้าน ถูกอกถูกใจกับหมูราเมนชิ้นโตวางแผ่มาเต็มชาม 4 ใหญ่ๆ แบบที่แทบจะไม่เห็นเส้น และไข่ยางมะตูม
จากร้านราเมนเล็กๆ ริมถนนย่านฮากาตะ สู่ 41 ปี ให้หลังช่วง ค.ศ. 1994 ที่ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ Uma Uma และย้ายร้านมาอยู่หน้าสถานีรถไฟฮากาตะ สำหรับสาขาประเทศไทยสามารถแวะไปอร่อยได้แถวอโศก Uma Uma Original Ramen ราเมนน้ำซุปทงคตสึรสต้นตำรับ ส่งกลิ่นหอมและเข้มข้นของน้ำซุปที่ทางร้านเคี่ยวกระดูกหมูนานหลายชั่วโมง ให้รสเค็มนิดๆ ว่ากันด้วยความเข้มข้นบอกเลยว่าไม่แพ้เจ้าอื่นๆ
โดดเด่นในเรื่องรสชาติและการนำเสนอ ตลอดจนความพิถีพิถันทั้งในส่วนของเส้น และน้ำซุปทงคตสึที่ได้จากการเคี่ยวกระดูกหมูในหม้อแรงดันพิเศษ เพื่อให้ได้น้ำซุปที่มีความใสสะอาดทว่าเข้มข้นในรสชาติ Kazan Pork Sukiyaki ชามซิกเนเจอร์ที่ทางร้านใช้เส้นราเมนแบบแบนพันด้วยหมูชาชูเป็นทรงภูเขาไฟ ทั้งหมดถูกเสิร์ฟมาในชามหินที่สามารถเก็บความร้อนได้ถึง 300 องศา แนะนำให้เทซุปทงคตสึแล้วปิดฝา รอ 1 นาที แล้วกินได้เลย
มีสาขาแรกที่โตเกียวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ปรุงราเมนแบบชามต่อชามด้วยความเอาใส่ใจ กับน้ำซุป 2 สูตร คือ ซุปข้นจากกระดูกหมูเคี่ยวนานกว่า 9 ชั่วโมง และ น้ำซุปใสเคี่ยวจากกระดูกหมู ไก่ ปลา ผลไม้ และผักกว่า 4 ชั่วโมง Tan Tan Ramen ซุปงารสเข้มข้นเผ็ดเล็กๆ ที่ทางร้านเคี่ยวซุปและคั่วงาเองแบบวันต่อวัน เพิ่มความหอมและเผ็ดร้อนด้วยน้ำมันพริกรายุแบบฉบับญี่ปุ่น มีเครื่องเป็นหมูชาชูหั่นเป็นเส้นและผักต่างๆ อร่อยสมกับที่ได้เป็นเมนูยอดนิยมจริงๆ
จุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1985 กับร้านราเมนเล็กๆ ในเขตฮากาตะ โดยเชฟคาวาฮาระ ชิเกมิ ราเมนมาสเตอร์ผู้ได้รับเกียรติอยู่ใน Ramen Hall of Fame โดย Ippudo วางตัวเป็นราเมนไดนิ่งที่เสิร์ฟราเมนควบคู่ไปกับของว่างและเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีสาขาใน 15 ประเทศ Shiromaru Special ราเมนซุปทงคตสึที่เคี่ยวจากกระดูกหมูนาน 15 ชั่วโมง กลิ่นหอมมันและรสนุ่มกลมกล่อม เพิ่มสาหร่ายแผ่นโต ไข่ต้มยางมะตูม และหมูชาชูแบบพิเศษ