11:30-14:00 น., 17:00-22:00 น.
Ranichi (รันอิจิ) ร้านยากินิกุย่านทองหล่อที่เสิร์ฟทั้งเนื้อโคขุนของไทยและวากิวนำเข้าระดับ A5 กำกับคุณภาพโดยร้านดาวมิชลิน Yoroniku ชื่อดังแห่งกรุงโตเกียว
ไม่ให้บอกว่าร้านนี้เขาจริงจังเรื่องเนื้อได้ยังไง ในเมื่อชื่อ “Ranichi” ยังหมายถึงเนื้อส่วนที่อยู่ระหว่างสันนอกกับสะโพก ในขณะเกณฑ์การคัดเลือกวัตถุดิบยังเน้นว่าเนื้อจะต้องเป็นวากิว Marbling Score ระดับ A5 ที่สำคัญเป็นเนื้อแหล่งเดียวกันกับที่ Yoroniku ร้านดาวมิชลินใช้ และโดยส่วนใหญ่เป็นเนื้อนำเข้าแบบไม่ผ่านคนกลางจากจังหวัดยามากาตะ
ด้านบรรยากาศก็ดีงามรองรับลูกค้าได้กว่า 60 ที่นั่ง แบ่งออกเป็นสองฝั่งสำหรับที่นั่งปกติและแบบหย่อนขาตามแบบร้านอาหารญี่ปุ่น ตัวร้านเน้นโทนสีดำแต่งขรึมเสริมด้วยงานไม้ช่วยให้ลุคของร้านกลมกล่อมน่าเข้า ที่ตั้งก็หาง่ายเพราะอยู่ใกล้ๆ กับตลาดปลาญี่ปุ่นใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง Thonglor Nihon Ichiba
แน่นอนว่ามาร้านยากินิกุก็ต้องลองเนื้อของร้านสักหน่อย เริ่มด้วยจานแรก Truffle Wagyu Yukke ที่ทางร้านใช้เป็นเนื้อวากิวนำเข้าส่วนเซอร์ลอยน์บด ปรุงด้วยซอสที่เชฟผสมมาเฉพาะออกรสหวานเล็กๆ ท็อปหน้าด้วยไข่แดงสด ทรัฟเฟิลสไลซ์ และแอปเปิ้ลหั่นเต๋าที่เข้ามาช่วยเพิ่มมิติให้กับรสชาติ ดูจากหน้าตาหลายคนอาจจะรู้สึกไม่กล้าชิมเพราะเป็นเนื้อแรร์ แต่ถ้าได้ลองแล้วคุณจะพบว่าถ้าใช้เนื้อดีคุณภาพแน่นจะไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์เลย
ถัดมาเป็น Omakase Wagyu 3 Kind Plate ซึ่งเชฟจะเลือกส่วนของเนื้อมาให้เราได้ย่างเอง อย่างคราวนี้เป็นเนื้อวากิวส่วนหัวไหล่ไล่ตามระดับความนุ่มและไขมันแทรก อันได้แก่ Maru คือเนื้อตรงส่วนโคนไหล่ มอบเนื้อสัมผัสนุ่มละลายในปาก ดูได้จากลายหินอ่อนของเนื้อ ถัดมาคือ Kata Rosu เป็นเนื้อส่วนใกล้กับข้อพับ กับ Kata Sankaku คือเนื้อส่วนที่มีไขมันแทรกน้อยที่สุด อีกทั้งเรายังสามารถรีเควสกับทางร้านว่าตัวเนื้อที่สั่งมาจะหมักกับซอสหรือเกลือน้ำมันงาได้เลยตามชอบใจ
ส่วนจานซิกเนเจอร์ที่ไม่สั่งมากินไม่ได้คือ Silky Rosu ที่ก่อนจะคีบเนื้อเข้าปากต้องผ่านขั้นตอน ตั้งแต่การนำเนื้อวากิวส่วนเซอร์ลอยน์แผ่นใหญ่ไปแกว่งกับซุปสุกียากี้สูตรของร้านให้พอสะดุ้งสัก 2 นาที ก่อนที่จะนำขึ้นมา ฝนทรัฟเฟิลใส่ (ในกรณีที่ใส่ทรัฟเฟิลต้องจ่ายเพิ่ม 600 บาท) แล้วยีกับไข่แดงให้ขึ้นฟอง เท่าที่ได้ลองจะบอกว่ายิ่งฟองเยอะเท่าไหร่เนื้อคำนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าคำว่าฟิน