12:00-15:00 น., 18:00-21:00 น.
เพราะปากต่อปากกล่าวขานถึงความเทพในราเมนบวกกับแรงโซเชียล จนถึงตอนนี้จำนวนคนต่อคิวที่ 69MEN ก็ยังคงเนืองแน่นแม้จะเปิดให้บริการมาแล้วกว่าหนึ่งเดือนก็ตาม
ที่จริงร้านที่ทองหล่อไม่ใช่สาขาแรกแต่ยังมีอีกร้านเปิดเมื่อ 3 ปีที่แล้วในย่านโคเอนจิ (Koenji) ของโตเกียว ว่ากันด้วยชื่อเสียงก็ไม่ธรรมดาเพราะโด่งดังเรื่องราเมนสไตล์โทริจินตัน (Tori Chintan) ท่ามกลางร้านราเมนแถบนั้นที่มีทั้งแบบซุปกระดูกหมู (Tonkotsu Ramen) ไปจนถึงราเมนจับกังที่เสิร์ฟกันเป็นภูเขา (Jiro Style) ซึ่งเชฟอิโนอุเอะหนึ่งในผู้ที่อยู่กับ 69MEN มาตั้งแต่ต้นเล่าให้บังเมชิฟังว่าเหตุผลที่ร้านเลือกนำเสนอราเมนซุปไก่น้ำใสมากกว่าจะเป็นแนวอื่นก็เพราะว่าหนึ่งกินง่าย สามารถแวะเวียนมาซู้ดเส้นซดน้ำได้ทุกวัน กับสองราเมนชนิดนี้ยังเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ด้วยทางร้านใช้ไก่ชาโมะร็อค (Shamorock) จากจังหวัดอาโอโมริมาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำอาหาร รวมถึงเบสซุปของราเมนทุกชามที่ร้านก็ยังเคี่ยวมาจากไก่พันธุ์นี้ด้วยเช่นกัน
ส่วนสาขาที่กรุงเทพฯ เมนหลักก็ยังคงเป็นอิโนอุเอะซังที่เป็นผู้ดูแลความอร่อยทั้งหมดโดยยังคงคอนเซ็ปต์ราเมนสไตล์โทริจินตันเอาไว้ ประกอบกับเชฟตั้งใจใช้ไก่บ้านของไทยเป็นวัตถุดิบหลักในการเคี่ยวออกมาเป็นซุป และก็เพราะด้วยความที่เป็นซุปใสนี่แหละ ตามเทคนิคแล้วจำเป็นต้องต้มไก่ด้วยไฟอ่อนไม่เหมือนกับซุปข้นขาวนวลแบบโทริไพตัน ทำให้กว่าจะแล้วเสร็จเป็นซุปแบบที่ได้ซดกันนั้นก็ใช้เวลาไปกับมัน 28 ชั่วโมงพอดิบพอดี
ยังไม่รวมถึงซอส (Kaeshi) โชยุและเกลือที่ต้องผ่านหลายขั้นตอนหลากกระบวนการกว่าจะได้รสชาติตามที่ตั้งใจ ถ้าให้ยกตัวอย่างก็ซอสโชยุที่เชฟใช้เวลานานกว่าเดือนครึ่งถึงจะนำซอสออกมาใช้ได้ ในขณะที่ฟากของซอสเกลือก็ไม่ง่าย เพราะเชฟต้องใช้วัตถุดิบหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเกลือจากโอกินาว่า โฮตาเตะ เอบิ รวมถึงหอยอาซาริที่ต้องนำเข้าจากฮอกไกโดเท่านั้น
สำหรับเส้นแม้ตอนนี้ทางร้านจำเป็นต้องวานให้โรงงานเป็นคนทำเส้นราเมนให้ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่ในอนาคตอิโนอุเอะซังก็มีแพลนที่จะทำเส้นราเมนเองภายในร้าน เพื่อให้ราเมนทุกชามที่เสิร์ฟออกไปนั้นสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นั่นรวมถึงเหตุผลที่ทำให้เสิร์ฟราเมนต่อวันได้เพียง 69 ชาม ทำการเปิดขายวันละ 2 รอบ ช่วงเที่ยงจวบจนถึง 15:00 น. กับมื้อเย็นที่เริ่มเสิร์ฟตั้งแต่ 18:00-21:00 น. ซึ่งจำนวนที่ว่ามาแมตช์กับกำลังที่เชฟจะสามารถดูแลมาตรฐานรสชาติได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งหม้อซุปของที่ร้านเสิร์ฟได้เต็มที่ 70 ชาม หักไป 1 ชามสำหรับเชฟเอาไว้เช็ครสชาติกับทีมนั่นเอง
หลายคนที่เคยชิมฝีมือของเชฟมาแล้วจาก Tenshow แต่ยังไม่มีโอกาสมาตามเก็บที่ 69MEN จากใจคนที่ได้ลองมาแล้วทั้ง 2 แบบ แนะนำให้เหล่าคนชอบกินราเมนเหมาเลยทั้งสองชาม (แม้จะต้องกลับมาต่อคิวอีกรอบวันหลังก็ตาม) เพราะไม่ว่าจะด้วยความต่างของรสชาติ หนำซ้ำดีเทลในส่วนของท็อปปิ้งในชามก็ไม่เหมือนกัน
อย่าง Shio Ramen ที่เราสั่งมาเป็นแบบใส่ทุกอย่าง Shio Rock Men All Star ตั้งแต่หมูชาชู 2 ชนิดทั้งย่างกับซูวี ผัก หน่อไม้ปรุงพิเศษ สาหร่าย ไข่ลาวาสีชมพูที่เชฟนำไปแช่กับซากุระเอบิ ก่อนจะท็อปด้วยต้นหอมซอย และเปลือกยูซุเพิ่มความสดชื่น ว่ากันด้วยเรื่องของซุปที่เชฟผสมสต๊อกไก่กับดาชิเคี่ยวด้วยคอมบุนาน 6 ชั่วโมงที่อัตราส่วน 50 ต่อ 50 บวกกับซอสเกลืออีกทั้งน้ำมัน 4 ชนิด เป็นความละมุนในทุกๆ มิติที่ทำเอาซดหมดชามได้อย่างง่ายๆ อ้อ! สำหรับใครที่สั่งซุปเกลือทางร้านเขาจะเสิร์ฟมาพร้อมกับยูซุโคโช เราลองกินด้วยกันกับราเมนหลังจากที่ซู้ดเส้นซดซุปพร่องไปกว่าครึ่ง นับว่าเป็นความอร่อยอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่มาทั้งทีก็อยากให้คุณได้ลองเหมือนกันกับเรา
ส่วน Shoyu Rock Men All Star ชามนี้เป็นอะไรที่สัมผัสได้ถึงโชยุในทุกๆ อณู ด้วยเชฟผสมสต๊อกไก่เพียวๆ 100 เปอร์เซ็นต์กับซอสโชยุหมักนานจนรสชาติอยู่ตัวกว่าเดือนครึ่ง ผนวกกับเส้นที่ลวกมาแบบหนึบๆ รวมถึงท็อปปิ้งที่เข้ามาสร้างสีสันอีกทั้งรสชาติ อย่างหมูชาชู หน่อไม้ และไข่ลาวาสีน้ำตาล นอกจากจะคุมโทนเพื่อการถ่ายภาพ รสชาติทั้งหมดทั้งมวลยังกินขาดจนต้องขอซูฮกด้วยการกลับไปซ้ำอีกหลายๆ รอบ