อ.-อา. 18:00-LATE (หยุดวันจันทร์)
ถ้าจะบอกว่ายกร้านซูชิที่โอซาก้ามาไว้ที่กรุงเทพฯก็คงไม่ผิดนัก สำหรับ Kitaro Sushi (คิทาโร่ ซูชิ) ร้านซูชิที่มีถิ่นกำเนิดในย่านโซเอะมอนโช (Soemoncho) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 และอร่อยเป็นที่นิยมจนขยายสาขาไปสู่ย่านชื่อดังต่างๆ กว่า 8 สาขา อย่างชินไซบาชิ (Shinsaibashi), คิตะชินจิ (Kitashinchi), นัมบะ (Namba) และมินะมิโฮริเอะ (Minamihorie) เป็นต้น
ในไทย Kitaro Sushi กระจายความอร่อยในแบบโอซาก้ากว่า 3 สาขา โดยล่าสุดเปิดในโครงการนิฮอนมาชิ (Nihonmachi The Japanese Mall) แหล่งแฮงเอาต์ที่อัดแน่นไปด้วยร้านรวงสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งใครหลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกันดี สำหรับสาขานี้แม้ไซส์จะมินิกว่าร้านที่ทองหล่ออยู่มาก แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องคุณภาพอาหาร ราคา และการบริการ บอกเลยว่าเต็มเหนี่ยวเหมือนกันทั้ง 3 สาขาแน่นอน
ร้านอยู่ชั้น 1 ในโครงการ Nihonmachi
อย่างที่บอกไปว่าสาขานี้เล็กกว่าอีก 2 สาขาของคิทาโร่ แต่ภายในก็ยังแบ่งสันปันส่วนออกมาได้อย่างลงตัวไม่มีอึดอัด ไม่ว่าจะส่วนของโซนเคาน์เตอร์บาร์สำหรับคนไหนที่แวะมากินซูชิดีๆ สัก 6-7 คำ หรือในกรณีที่มากันเป็นกลุ่มเป็นแก๊งก็ยิ่งไม่ติดขัด แถมยังต้อนรับด้วยไพรเวทรูมถึง 4 ห้อง ที่สำคัญแต่ละห้องนั้นสามารถเปิดทะลุหากันได้แบบยาวๆ นับแล้วก็ราวๆ 24 ที่นั่งพอดิบพอดี และเพื่อให้ครบทุกๆ ความต้องการ ใครที่เดินทางสายกลางมากันแค่ 2-4 คน ทางร้านก็มีอีกโซนรับรองชนิดที่พอเหมาะพอเจาะกับจำนวนสมาชิกไว้เช่นกัน
ส่วนใครที่มาคนเดียวทางร้านก็มีโซนเคาน์เตอร์บาร์ให้นั่งเช่นกัน แม้สาขานี้จะจุแขกได้ราวๆ 50 ที่นั่ง แต่ก็มีห้องส่วนตัวที่สามารถเปิดทะลุถึงกันกว่า 4 ห้องเลยทีเดียว
มาถึงพาร์ทของอาหารบ้าง ความดีงามของคิทาโร่ ซูชิที่ทำให้ลูกค้าติดใจไปตามๆ กันก็คือราคาที่สวนทางกับคุณภาพ “สวนทาง” ณ ที่นี้หมายความว่าอาหารที่เสิร์ฟมาแต่ละจานนอกจากจะให้ปริมาณเต็มที่ (จริงๆ นะ) วัตถุดิบแต่ละชนิดก็ล้วนคัดสรรสดๆ มาจากโอซาก้า (และเมืองละแวกใกล้เคียง) แทบทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อพอเอามาเทียบกับราคาก็ถือว่ามิตรภาพต่อกระเป๋าสตางค์อยู่มากเลยทีเดียว
เริ่มตั้งแต่ Kanimiso++ จานเรียกน้ำย่อยที่ประกอบไปด้วยมันปูหอมๆ อุนิ และไข่แดงออร์แกนิคนำเข้าจากจังหวัดโออิตะ (Oita) ซึ่งคิจิแนะนำให้คลุกเคล้าทั้งหมดให้เข้ากันแล้วห่อเข้ากับสาหร่ายก่อนรับประทาน สำหรับใครที่กังวลว่ารสสัมผัสจะคาว อยากบอกว่าไม่ต้องวอรี่ไปค่ะ เพราะนอกจากจะไม่คาวแล้วรสชาติมวลรวมยังดีงามมาก ซึ่งเราคิดว่าเพราะเจ้าไข่แดงจากโออิตะนี่แหละที่เข้ามาช่วยบาลานซ์รสชาติให้เมนูนี้พิเศษมากขึ้นกว่าเก่า
Kanimiso++ (950 บาท)
Kitaro Roll อีกจานซิกเนเจอร์ไซส์เบิ้มที่เสิร์ฟมาจานนึงก็กินได้รอบวงแล้ว ซึ่งเท่าที่คิจิสังเกตไม่เพียงแค่ไส้ของโรลจะมีวัตถุดิบสุดพรีเมียมอย่างฮงมากุโร่ (Hon Maguro) สารพัดส่วน อันได้แก่ โอโทโร่ (Otoro), อากามิ (Akami), เนื้อส่วนหน้าผาก (Noten), เนื้อส่วนแก้ม (Hoho Niku) และคาง (Kama Toro) เชฟยังใส่มันปูรวมถึงอุนิเข้ามาเพื่อสร้างมิติแห่งรสชาติร่วมด้วย ด้านข้าวก็ปรุงมาอย่างพิถีพิถันจากไข่แดงออร์แกนิกและโชยุ ไม่พอ! ก่อนเสิร์ฟยังโปะหน้าด้วยอุนิกับอิคุระเสียพูน อีกหนึ่งดีเทลที่สัมผัสได้ว่าร้านนี้เขาให้เยอะแบบไม่หวงเครื่องจริงๆ
ให้เต็มที่ไม่มีกั๊กม้วนมาแบบชิ้นหนาๆ Kitaro Roll (1,800 บาท)
หรือแม้แต่เมนูซาชิมิก็จะเสิร์ฟมาแบบชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพด้วยจาน Maguro Zanmai ที่ครบถ้วนไปด้วยส่วนอร่อยของฮงมากุโร่ เรียงจากซ้ายไปขวาตั้งแต่เนื้อส่วนหน้าผาก, ส่วนท้อง, ส่วนเนื้อแดงไร้มัน, แก้ม และส่วนคาง สำหรับใครต้องการความวาไรตี้ด้านเนื้อสัมผัสและรสชาติของฮงมากุโร่ขอแนะนำเป็นจานนี้เลย คุ้ม!
Maguro Zanmai (650 บาท)
ส่วนซูชิกินแบบคำต่อคำของ Kitaro Sushi ก็ไม่ธรรมดา หนึ่งด้วยราคาที่ว่ากันว่าย่อมเยาสุดๆ แล้วในกรุงเทพฯ อย่าง Uni ใครจะไปเชื่อว่าคำละ 60 บาท หรือแม้แต่ Honmaguro Toro เองก็ 60 บาทเช่นกัน กรณีเดียวกันกับ Sushi Omakase ปั้นเสิร์ฟแบบตามใจเชฟ 10 คำ ที่แต่ละครั้งคุณจะได้ซูชิตามฤดูกาลนั้นๆ มาอยู่ในจาน เหมือนเป็นการแรนดอมที่น่าตื่นเต้นซึ่งมีแต่โอมากาเสะเท่านั้นที่ทำได้
Uni (120 บาท)Honmaguro Toro (120 บาท)Sushi Omakase 10P (600 บาท)
สุดท้ายคือ Unagibozushi จานที่มีอุนางิ (Unagi) ฉ่ำซอสเค็มๆ หวานๆ เป็นพระเอกม้วนเข้ากับข้าวปรุงรสอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ที่แม้ว่าเราจะเพียรถามเชฟว่าอะไรคือเคล็ดลับอีกฝ่ายก็เอาแต่อมยิ้มระคนส่ายหน้าเป็นนัยว่าบอกไม่ได้จริงๆ
Unagibozushi (500 บาท)