Patterner คือใครกัน : ทำไม Designer ถึงขาดเธอไม่ได้
Who is PATTERNER ?
เอาละค่ะ ถ้าว่ากันด้วยวงการแฟชั่น คงหนีไม่พ้นคำว่า แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่จะผุดขึ้นมาในหัวของทุกคน แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า ในการทำงานแฟชั่น คนที่ขับเคลื่อนแบรนด์ ไม่ได้มีแค่แฟชั่นดีไซเนอร์เท่านั้น แต่มีอีกคนหนึ่งค่ะ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าเขาคือใคร และมีความสำคัญกับแบรนด์ขนาดไหน ขนาดที่ถ้าไม่มีเขา ดีไซเนอร์อาจจะต้องกุมขมับ ร้องไห้โฮเลยก็ว่าได้
คนนั้นมีชื่อว่า “Patterner” ค่ะ คำนี้เป็นคำที่คนญี่ปุ่นสร้างขึ้นมาเอง ไม่มีบัญญัติอยู่ในภาษาอังกฤษแต่อย่างใด ถ้าพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นก็คือ パタンナー หรืออ่านออกเสียงว่า พัด-ทัน-น่า นั่นเอง (พอแปลงเป็นภาษาไทย ก็แอบมีความตลกเล็กน้อย ฮ่า~) ในส่วนของภาษาอังกฤษแท้จริงแล้วเขาก็จะเรียกกันว่า Pattern Maker นั่นเอง ว่าแต่ว่า คนๆนี้ทำหน้าที่อะไร ทำไมถึงดูสำคัญนักนะ?
Patterner คือ คนที่ทำหน้าที่แปลงสารค่ะ สารอะไรเอ่ย สารที่ว่านี้ก็คือ Sketch หรือรูปที่ดีไซเนอร์วาดมาในกระดาษ โดยที่รูปมักจะมาในรูปแบบของร่างคนในชุดต่างๆ ซึ่งถ้าดูเผินๆ บางครั้งอาจจะดูไม่ออกเลยว่า ดีไซเนอร์ต้องการจะสื่ออะไร และรูปที่วาดมาจะกลายไปเป็นชุดสวยงามที่เราเห็นในแฟชั่นโชว์ได้ยังไง นี่แหละ คือหน้าที่ของ Patterner ที่จะแปลงรูปภาพ ให้กลายเป็นของจริง จะสวยงามดั่งใจหรือเปล่า ก็อยู่ที่ฝีมือของ Patterner ดังนั้น ทั้งดีไซเนอร์และ Patterner จะต้องทำงานกันแบบเหมือนเป็นคู่ขา คู่ชีวิต เส้นที่วาดลงในกระดาษหนึ่งเส้น มีผลกระทบมหาศาลกับชุดที่จะเกิดขึ้นจริง บางครั้งถ้าทั้งคู่ไม่เข้าใจกัน ชุดกระโปรงทรงสุ่มจับจีบ ก็อาจจะกลายเป็นชุดกระโปรงทรงอะไรไม่รู้ที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการเลยก็ได้
ดังนั้นในญี่ปุ่นและ Fashion House ดังๆ ของไทย ตำแหน่งของ Patterner จึงมีความกดดันมาก เพราะต้องดึงเอาตัวตนของดีไซเนอร์ออกมาให้ได้ โดยที่ยังต้องคงความสวยงามของเสื้อผ้าให้สวมใส่ได้จริง มีความสบาย ไม่ใช่สวมหัวได้ แต่ติดสะโพก อันนั้นก็ถือว่า เป็นงานที่ผิดพลาด
ที่เหนือไปกว่านั้น ในประเทศญี่ปุ่น การที่แฟชั่นแบรนด์จะเติบโต มีเอกลักษณ์ชัดเจน เป็นที่ยอมรับระดับโลกได้ เรื่องของ Pattern นั้นมีความสำคัญมาก Pattern จะเป็นตัวกำหนดเอกลักษณ์ของรูปทรงชุด และบอกตัวตนของแบรนด์ รวมถึงบอกได้ว่าลูกค้าของแบรนด์จะเป็นคนแบบไหน ถ้าเป็นผู้หญิง จะอายุเท่าไหร่ ชอบอะไร ไลฟ์สไตล์น่าจะเป็นแบบไหน สิ่งเหล่านี้จะลิงค์ไปถึงความแน่นความหลวมของชุดด้วย
สำหรับในบริษัทญี่ปุ่น การทำงานของ Patterner นอกจากการคุยกับดีไซเนอร์ให้เข้าใจในดีไซน์อย่างละเอียดแล้ว ยังจะต้องวาดสิ่งที่เรียกว่า Flat Drawing หรือก็คือ ดึงเอารูป Sketch ขยุกขยุย ของดีไซเนอร์ มาแปลงเป็นรูปเสื้อผ้า ที่เข้าใจง่าย ให้คนเย็บเห็นภาพชัดเจน บอกรายละเอียดให้หมดว่า ปกกว้างเท่าไร แขนยาวเท่าไหร่ วาดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงบอกเทคนิคการเย็บที่สำคัญ เอาให้เคลียร์ที่สุด และสิ่งนี้จะกลายเป็นเสมือนไบเบิ้ลของชุดนั้นๆ ไปเลย เมื่อเสื้อผ้าผลิตเสร็จแล้ว จึงต้องกลับมาที่ Patterner และดีไซเนอร์อีกครั้งเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และปรับแก้จนกว่าชุดจะสวยสมบูรณ์สมใจ
จะว่าไปแล้ว มีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเลยที่ใฝ่ฝัน อยากจะทำอาชีพ Patterner เพราะเขารู้ตัวว่า เขาชอบในโครงสร้าง ชอบความท้าทาย เพราะพูดเลยว่างานนี้ไม่ใช่งานที่ง่าย ถ้าเทียบกัน ก็เหมือนเป็นวิศวกรด้านแฟชั่น มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ราคาสูงลิ่วที่สร้างมาโดยเฉพาะในการออกแบบแพทเทิร์นให้เป๊ะทุกมิลลิเมตร ชุดแต่ละชุดที่เราเห็นกันราคาแพงๆ ก็มาจากความทุ่มเทของคนเหล่านี้
หวังว่า คำว่า Patterner จะเป็นอีกคำหนึ่งที่คุณผู้อ่านรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นนะคะ เผื่อว่าถ้าวันใดวันหนึ่ง คุณอยากจะมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง จะได้เข้าใจและหา Patterner คู่ใจของคุณจนพบนะคะ แล้วเรามาพบกันใหม่ในคอลัมน์หน้า ที่ Kiji นะคะ ;3