Midnight Diner: Tokyo Story

หมอกไอขาวยามเธอทอดหายใจ
ค่อยๆ ลอยไปกับสายลม
ไปสู่เมฆบนท้องฟ้า
ทีละน้อยค่อยๆ จางหาย
ทีละน้อยค่อยๆ จางหาย

ท่วงทำนองเหงาเอื่อยกับเสียงร้องแหบพร่า คล้ายจะบอกเราว่าผู้ขับร้องเพลงๆ นี้คงผ่านร้อนหนาวในชีวิตมาจนเนื้อเสียงของเขาเต็มไปด้วยร่องรอยความทรงจำ ข้อความข้างต้นคือบางส่วนของเนื้อเพลงแปลไทยของเพลงที่มีชื่อว่า “ความทรงจำ” ขับร้องโดย Tsunekichi Suzuki เพลงไตเติ้ลจาก Midnight Diner: Tokyo Story ซีรีส์สัญชาติญี่ปุ่นจาก Netflix ที่เล่าเรื่องเชื่อมโยงระหว่างอาหารกับชีวิตคน ผ่านตัวละครหลักของเรื่องคือ มาสต้า (Master) และร้านอาหารยามวิกาลของเขาที่เปิดบริการในเวลาเที่ยงคืนไปจนถึงเจ็ดโมงเช้า

 

Midnight Diner: Tokyo Story

 

ฉันดูซีรีส์นี้จบทั้งสองซีซั่นแล้ว โดยส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นซีรีส์ดูง่ายแต่ไม่ว่างเปล่า ดูจบแล้วอุ่นใจ เข้าข่ายหนังฟีลกู๊ด เมื่อลองสำรวจความนิยมแบบง่ายๆ เอาเองจากเพื่อนและในสังคมออนไลน์ ก็เห็นได้ชัดว่ามิดไนท์ไดเนอร์คงมีแฟนๆ อยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่า เมื่ออยู่ในแพลตฟอร์มที่ชื่อ Netflix ความนิยมนี้ก็คงแผ่ขยายไปทั่วโลก ฉันอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า อะไรในมิดไนท์ ไดเนอร์ที่โดนใจเรา ได้คำตอบมาห้าข้อตามนี้

หนึ่ง เพลงไตเติ้ล… มีภาพประกอบเป็นย่านชินจูกุกับแสงสีอันไม่เคยหลับใหลของโตเกียวยามค่ำคืน เป็นภาพเมืองชวนตื่นตาทว่าสะท้อนถึงความเหงาจับหัวใจ เสียงเพลงนี้คือประตูบานแรกที่ค่อยๆพาเราเขยิบเข้าไปยังซอกมุมหนึ่งของเมือง ที่ซึ่งร้าน-อาหารเล็กๆ แสนธรรมดาตั้งอยู่ ปกติช่วงไตเติ้ลนี้ถ้าเราไม่อยากเสียเวลาดูก็สามารถกดปุ่มข้ามไปได้ รายการอื่นๆ ฉันมักใช้ปุ่มนี้เสมอ แต่มิดไนท์ ไดเนอร์คือเรื่องเดียวที่ฉันไม่เคยกดข้ามช่วงนี้เลย ทุกครั้งที่เริ่มตอนใหม่ ฉันจะฟังเพลงนี้และดูภาพนี้ซ้ำๆ อาจจะเพื่อตอกย้ำความรู้สึกพร่องท่ามกลางเมืองที่ดูเหมือนจะพร้อมไปเสียทุกอย่างก็เป็นได้

สอง อาหารเมนูบ้านๆ… ไม่มีอะไรวิลิศมาหราเลยแต่การถ่ายภาพภายใต้แสงที่แสนจะอบอุ่นและการจัดจานที่เรียบง่ายนั่นเองที่ทำให้อาหารยังคงเป็นอาหาร เป็นอาหารที่คุ้นเคย คุ้นตา เป็นภาพเดียวกับที่อยู่ในความทรงจำของเราๆ มากกว่าชวนให้หิว อาหารที่ถูกเลือกมาเป็นเมนูเด่นในแต่ละตอน ยังเชื่อมโยงกับชีวิตของตัวละครเอกของตอนนั้นๆ ด้วย อย่างอีพีที่ว่าด้วย Hot Pot for One หรือหม้อไฟสำหรับกินคนเดียว ปกติเรามักกินหม้อไฟกันท่ามกลางวงล้อมของเพื่อนฝูงหรือครอบครัว ให้ความรู้สึกถึงการเฉลิม-ฉลองและความอบอุ่น หม้อไฟกินคนเดียวในตอนนี้จึงเป็นการตอกย้ำความปรารถนาลึกๆ ของสตรีวัยกลางคนที่มีชีวิตโดดเดี่ยวผู้สั่งเมนูนี้มากินคนเดียวเสมอ

 

ซีรีส์ญี่ปุ่น Netflix

 

สาม บรรยากาศร้าน… ร้านเล็กมากแถมยังดูเก่าแต่นั่นก็คือภาพของความ “ญี่ปุ่นบ้านบ้าน” ที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบันซึ่งเราต่างถวิลหา ประตูบานเลื่อนไม้ผนัง Shikkui (ฉาบด้วยปลาสเตอร์) สีหม่น เคาน์เตอร์-บาร์รูปตัวยูที่บังคับให้ลูกค้าทุกคนหันหน้าเข้าหากัน โดยมีเจ้าของร้านเป็นศูนย์กลางจักรวาลย่อมๆ ที่มีชีวิตของผู้คนโคจรผ่านมาผ่านไป

สี่ คุณมาสต้า… รอยแผลเป็นบนใบหน้าเหมือนจะแทนร่องรอยความเจ็บปวดที่แม้จะผ่านมานานแล้วแต่ยังคงหลงเหลือหลักฐาน อย่างไรก็ตาม แววตาและรอยยิ้มที่พร้อมจะเข้าใจ การรับฟังโดยไม่ตัดสิน แล้วยังความเอาใจใส่ต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าใครนึกอยากกินอะไร เขาจะพยายามทำให้ และมักอร่อยด้วย ผู้ชายที่ทำอาหารเก่งมีเสน่ห์อยู่แล้ว แถมยังอยู่ในชุดเสื้อคลุมผ้าย้อมครามตัวเก่าตัวเดิมเสมอ คนที่ออกแบบคาแรคเตอร์นี้ช่างเก็บรายละเอียดเก่งจริงๆ

 

Midnight Diner: Tokyo Story ซีรีส์สัญชาติญี่ปุ่นจาก Netflix

 

ห้า สังคมเสมือน… ฉันคิดว่าข้อสุดท้ายนี้ล่ะที่เป็นหัวใจสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกันของตัวละครที่วนเวียนมาพบเจอในร้านวิกาลโภชนาที่เอื้ออาทรกัน ไม่รู้สึกแปลกหน้าต่อกัน แบ่งปันเรื่องราวทุกข์สุข ทุกคนที่เข้ามานั่งในร้านไม่มีใครที่มัวแต่นั่งก้มหน้ามองสมาร์ทโฟนในมือ ภาพแบบนี้อาจดูคุ้นๆ เพราะเคยมีอยู่ในอดีตหรือในสังคมชนบท แต่มันช่างห่างไกลจากภาพชีวิตจริงในเมืองใหญ่ที่เราพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในโลกความจริงจะมีสักกี่ที่ที่เราสามารถระบายความทุกข์ใจให้ใครสักคนฟัง หรือขอให้เจ้าของร้านช่วยทำเมนูโปรดที่หากินไม่ได้จากที่ไหน ถ้าถามว่าคนเหงาในเมืองใหญ่ต้องการอะไรมากที่สุด ก็คงเป็นอะไรคล้ายๆ สิ่งนี้ล่ะ

นี่ก็คงเป็นเหตุผลที่เรารักซีรีส์เรื่องนี้ ดูไปก็คิดฝันไปว่าได้ลิ้มรสอาหารที่เห็นในจอ คิดไปว่าได้นั่งอยู่ในร้าน ได้แสดงความคิดเห็นในบทสนทนา ได้ร่วมชิมเหล้าบ๊วย ได้หัวเราะ ได้ผ่านคืนเหงาๆ ไปอีกคืน แล้วก็เคลิ้มหลับไปกับรอยยิ้มจางที่มุมปากและหัวใจที่อุ่นขึ้นมาอีกนิดนึง

อ้างอิง: www.netflix.com/th/

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ