วาบิซาบิ คือมอสสีเขียวครึ้มที่เกาะอยู่บนหิน

 

นี่คือคำถามร้อยล้านคำตอบเลยล่ะค่ะ จะให้ฟันธงระบุความหมายของคำๆ นี้ไปเลยนั้น ก็ลำบากเหลือเกิน แม้จะถามคนญี่ปุ่นก็หาคนที่สามารถตอบได้ยาก เพราะเหมือนต้องให้เขามานั่งอธิบายเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่จะลองทำให้เห็นภาพกันนะคะ

วาบิซาบิ เป็นทั้งวัฒนธรรม เป็นวิสัยทัศน์ เป็นค่านิยม เป็นแนวคิดและปรัชญา และเป็นอะไรอีกหลายๆอย่างที่หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบและเห็นคุณค่าของความเรียบง่าย ความไม่สมบูรณ์แบบและความไม่จีรังของสิ่งรอบๆ ตัว ถ้าจะให้เห็นภาพชัดกว่านั้นก็นี่เลย วาบิซาบิคือถ้วยชารูปทรงบิดเบี้ยวที่ปั้นด้วยมือ มอสสีเขียวครึ้มที่เกาะอยู่บนหิน กำแพงปูนที่สีหลุดจนเห็นอิฐด้านใน ต้นไม้ที่ใบร่วงหมดต้นจนเหลือแต่กิ่งก้านโล้นๆ หรือทางเดินหินตะปุ่มตะป่ำในสวน เห็นภาพหรือยังล่ะทีนี้

 

วาบิซาบิ

 

วาบิซาบิ เป็นแนวคิดของศาสนาพุทธนิกายเซ็นค่ะ และมันประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ”วาบิ” และ “ซาบิ” คำว่า “วาบิ  (侘) “ หมายถึงความไม่สมบูรณ์แบบหรือความเรียบง่ายไม่สวยจนเด่น ส่วนคำว่า “ซาบิ (寂) หมายถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่งและความผุพังตามธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

ต้นกำเนิดของวาบิซาบิมาจากไหนน่ะเหรอ มันเริ่มมาจากพิธีชงชาเขียวค่ะ จุดเริ่มต้นของพิธีชงชาเริ่มขึ้นจากพระในนิกายเซ็น 2 ท่าน หนึ่งคือท่านจูโค ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 15 ในสมัยนั้นคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มราชวงศ์และผู้มีตำแหน่งสูงในวงราชการรับวัฒนธรรมการดื่มชามาจากประเทศจีน และมักชวนกันดื่มชาชมพระจันทร์โดยใช้ถ้วยชาชุดสุดหรูในห้องหรือระเบียงที่มีการตกแต่งอย่างฟุ่มเฟือย แต่ท่านจูโคกลับสอนลูกศิษย์ให้ลองชื่นชมพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและใช้ถ้วยชาที่ปั้นจากดิน

 

วาบิซาบิ : ท่านจูโคสอนลูกศิษย์ให้ลองชื่นชมพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวและใช้ถ้วยชาที่ปั้นจากดิน

 

ศตวรรษต่อมา ท่านริคิว ปรมาจารย์ด้านพิธีการชงชาเขียวที่รับใช้โชกุนโอดะ โนบุนากะและโชกุน โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้ออกแบบห้องชงชาเขียวให้มีขนาดกะทัดรัด (ว่ากันว่าขนาดเท่ากับเสื้อทาทามิแค่ 2 ผืนเท่านั้น) ตกแต่งอย่างเรียบง่าย อุปกรณ์ที่ใช้ชงชาเขียวก็ไม่ได้วิจิตรพิสดารอะไร เป็นแค่กาต้มน้ำเล็กๆ กระบวยตักน้ำและไม้ตีชาเขียวทำจากไม้ไผ่และถ้วยชาที่ปั้นด้วยมือ ท่านริคิวไม่ต้องการให้ไปสนใจเรื่องการตกแต่งห้องหรือการทำพิธีกรรมใหญ่โตให้มากนัก เพราะเมื่อมาดื่มชา ถึงถ้วยชาจะไม่สวย ห้องจะแคบ แต่ชามันก็ทำหน้าที่ของมันได้

มีเรื่องเล่าที่โด่งดังเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับท่านริคิวค่ะ มีครั้งหนึ่งท่านทำความสะอาดตกแต่งสวนรอบๆ ห้องชงชาเขียว ก่อนที่พิธีกรรมจะเริ่มขึ้น ท่านก็จัดการตัดแต่งกิ่งไม้ กวาดลาน ถอนหญ้าเสียจนสวนดูเรียบร้อยไร้ที่ติ แต่สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจเขย่าต้นซากุระให้ดอกซากุระร่วงลงมาบนพื้น ประดับก้อนหินและผืนดืน ความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างนี้ล่ะค่ะ ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

 

วิบิซาบิ :  ความสวยงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบที่สุด

 

ความจริงถ้าพิจารณาดู ความเป็นวาบิซาบินี่ก็เห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นเลยนะคะ ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็เถอะ จะลองยกตัวอย่างให้ฟังค่ะ

อันดับแรกนี่เลย กลอนไฮกุ หรือบทกลอนที่สั้นที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งสิ้นแค่ 17 พยางค์ สั้นมาก แต่ก็มีความหมายที่คนอ่านตีความได้หลากหลาย

การจัดดอกไม้หรืออิเคบานะ (Ikebana) ก็สื่อให้เห็นความเป็นวาบิซาบิได้เหมือนกันค่ะ สังเกตมั้ยคะว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้แค่เอาดอกไม้บานๆ สีสวยสดมารวบเป็นช่อแล้วใส่จนเต็มแจกัน แต่กลับใช้กิ่งไม้เล็กๆ ไม่กี่กิ่ง บ่อยครั้งที่เราเห็นเขาใช้กิ่งไม้แห้งหรือกิ่งที่มีดอกไม้หรือใบไม้ติดอยู่เพียงไม่กี่ดอกด้วยซ้ำ บางทีใบไม้ก็ไม่ได้เขียวสวยไร้ที่ติอีกต่างหาก ไม่ใช่แค่อิเคบานะ แต่การจัดดอกไม้ใส่กระถางทั่วไป ก็มีความเป็นวาบิซาบิอยู่เหมือนกันค่ะ   

 

 

สวนญี่ปุ่นก็เช่นกัน ถ้ามีโอกาสไปเยือนสวนญี่ปุ่น ลองสังเกตดูนะคะว่าก้อนหินที่เป็นทางเดินในสวนจะถูกจัดวางอย่างง่ายๆ ขนาดของหินก็ไม่เท่ากัน กำแพงก็มักจะสร้างด้วยไม้ไผ่ หรือถ้าเป็นกำแพงดินหรือหิน ก็จะมีมอสสีเขียวครึ้มเกาะอยู่ ต้นไม้ที่ถูกจัดวางก็ไม่ได้รับการตัดแต่งเป็นรูปทรงอย่างสวนฝรั่ง

นึกภาพสวนหินของวัดเรียวอังจิในเมืองเกียวโตออกมั้ยคะ ในสวนมีแค่หิน 15 ก้อนที่ตั้งเป็นกลุ่มๆ ล้อมรอบด้วยก้อนกรวด มีกำแพงสีถลอกอันเตี้ยเป็นฉากหลัง แสนจะเรียบง่ายแต่สวยงามน่าค้นหา

 

 

ถ้าจะเอาให้เห็นชัดขึ้นมาอีกก็อาหารญี่ปุ่นนี่ล่ะค่ะ เพราะส่วนประกอบของอาหารญี่ปุ่นจริงๆ แล้วมีไม่กี่อย่างเองนะ มีข้าว ถั่ว ปลา สาหร่ายแล้วก็ผักที่เป็นหัวๆ อย่างหัวไชเท้า หัวมันและกระทั่งหัววาซาบิ ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วที่คนญี่ปุ่นไม่ได้นิยมทานอาหารวิจิตรพิสดารเหมือนเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีนหรือเกาหลี แต่เลือกที่จะทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายๆ แทน

เทศกาลชมดอกซากุระก็เหมือนกัน การนั่งชมดอกไม้ที่บานสวยอยู่บนต้นโดยระลึกอยู่ในใจว่ามันจะร่วงลงในวันนี้พรุ่งนี้แล้วก็นับเป็นการชื่นชมความงดงามและเฉลิมฉลองให้กับความไม่จีรังเหมือนกัน

 

 

ตัวอย่างสุดท้ายคือร้าน MUJI นี่เลย ร้านดังของญี่ปุ่นร้านนี้ขายของที่มีดีไซน์เรียบๆ เน้นการใช้งานได้นาน สีสันของข้าวของที่ขายก็เน้นสีเอิร์ทโทน จะมาแดง ส้ม ม่วงแปร๋นๆ นี่ไม่มีให้เห็นแน่นอน

ไม่กี่สิบปีมานี้ แนวคิดวาบิซาบิเริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยเราด้วยค่ะ แต่ดูเหมือนว่าความหมายของมันจะหดเหลือเพียงแค่เรื่อง “ความเรียบง่าย” หรือออกไปในแนว “มินิมอล” เสียมากกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสถาปัตยกรรมบ้านแบบมินิมอลที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น การตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น การก่อผนังปูนเปลือยหรือการไม่ติดฝ้าเพดาน  

แต่เรียบง่ายอย่างเดียวยังไม่ได้อรรถรส ต้องอย่าลืมความหมายอีก 2 เรื่องของวาบิซาบิด้วย เพราะจริงๆแล้ว ทุกอย่างบนโลกก็เป็นอย่างนี้ล่ะค่ะ ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพันและสวยสมบูรณ์แบบไปเสียหมด ถ้ายอมรับความสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบได้ ชีวิตก็อยู่ง่ายขึ้นเยอะ

ลองมองหาความเป็น ‘วาบิซาบิ’ รอบๆ ตัวดูนะคะ อาจจะเจอโดยไม่ต้องไปถึงญี่ปุ่นเลยก็ได้นะ ใครจะไปรู้

 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ