Totto-Chan: The Little Girl at the Window

สำหรับแฟนวรรณกรรมญี่ปุ่น น่าจะคุ้นเคยกับชื่อ “โต๊ะโตะจัง” เด็กหญิงวัยประถมผู้เปี่ยมไปด้วยจินตนาการจากหนังสือเรื่อง “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ผลงานของ เท็ตสึโกะ คุโรยานางิ (Tetsuko Kuroyanagi) ที่นำเรื่องจริงสมัยเรียนชั้นประถมศึกษาในโตเกียวยุคสงครามโลกครั้งที่สองมาบอกเล่า จนกลายเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ อีกมากมาย (สำนวนแปลภาษาไทยโดย ผุสดี นาวาวิจิต)

 

ที่มา: https://goo.gl/oLG4wN

 

ตอนเด็กๆ โต๊ะโตะจังมีความฝันอยากโตมาเป็นอะไรตั้งหลายอย่าง… เธออยากเป็นทั้งพนักงานขายตั๋วรถไฟ นักดนตรีเปิดหมวกเล่นตามมุมถนน รวมทั้งสายลับ! แต่ใครจะไปรู้ว่าเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เคยถูกไล่ออกจากชั้น ป.1 คนนี้ จะกลายมาเป็นนักเขียน นักแสดง และพิธีกรที่โด่งดังของประเทศ รวมทั้งยังเป็นทูตพิเศษของยูนิเซฟ

เมื่อโต๊ะโตะจังเรียนจบจากวิทยาลัยดนตรี ก็ถึงเวลาที่เธอจะต้องคิดต่อว่าจะทำอาชีพอะไร ตอนที่เธออายุ 20 ปี เธอได้ดูละครหุ่นครั้งแรกในชีวิต และหลงเสน่ห์มันเข้าอย่างจัง แต่ก็น่าจะเป็นงานที่ยากเกินไปสำหรับเธอ ด้วยความที่เธอเป็นคนช่างพูดช่างคุย เธอจึงแอบคิดว่าอย่างน้อยตัวเองน่าจะเป็นคุณแม่ที่วาดรูปเก่ง และเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอนได้ และในช่วงเวลานั้นเอง เธอบังเอิญเห็นประกาศรับสมัครนักแสดงโดยสังกัดเอ็นเอชเค (NHK) ในหนังสือพิมพ์ เธอคิดว่าที่นั่นน่าจะช่วยฝึกฝนการเล่านิทานให้เก่งขึ้น เธอจึงสมัครและสอบผ่านเข้าไปได้ (จากผู้สมัครกว่า 6,000 คน) นั่นคือจุดเริ่มต้นการทำงานในวงการบันเทิงของเธอ

 

ละครสั้น Totto Terebi ที่มา: https://goo.gl/cRGygG

 

สำหรับฉัน เรื่องราวของโต๊ะโตะจังในวัยสาวมีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะไม่ใช่เพียงแต่บอกเล่าถึงชีวประวัติของนักแสดงหญิงคนแรกของเอ็นเอชเคเท่านั้น แต่ยังได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโทรทัศน์ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กับการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ฉันรู้สึกว่าเป็นคนที่มีเอกลักษณ์และพิเศษมากๆ ความน่าสนใจของตัวตนของเธอได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครขนาดสั้น 7 ตอนที่ชื่อ “โต๊ะโตะเทเรบิ” (Totto Terebi คำว่า “เทะเระบิ” ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่าทีวีหรือโทรทัศน์) โดยนำเรื่องเล่าที่คุณเท็ตสึโกะเขียนไว้ในหนังสือความเรียงสองเล่ม (Totto Hitori กับ Totto Channeru) มาถ่ายทอดเป็นภาพเคลื่อนไหว (แน่นอนว่าต้องฉายในช่อง NHK)

ฉันเองยังไม่เคยอ่านเวอร์ชั่นหนังสือ (เคยตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “โทรทัศน์ของโต๊ะโตะจัง” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “นางสาวโต๊ะโตะ” แปลโดยผุสดี นาวาวิจิต) แต่ได้ดูละครที่ไม่เพียงแต่จะสนุกเท่านั้น ยังได้รู้เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับทีวี เช่น ยุคที่ทีวียังเป็นสีขาวดำ คนญี่ปุ่นเรียกทีวีว่า “เทเลวิชั่น” และตอนที่เธอเข้าไปทำงานกับเอ็นเอชเคในช่วงเริ่มต้น เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเพิ่งออกอากาศทีวีในระบบขาวดำครั้งแรก (ปี 1953) ซึ่งขณะนั้นทั้งประเทศมีทีวีแค่ 866 เครื่อง

 

ที่มา: https://goo.gl/t9z6qD

 

นอกจากนี้ ในยุคแรกของเทเลวิชั่น (ยุคทีวีขาวดำ) จะเป็นการแพร่ภาพสดทุกรายการ (รวมทั้งละคร) ซึ่งบางครั้งหากมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทอด ก็ต้องแก้ไขสถานการณ์หน้างานกันไป หรือถ้าปัญหาหนักหน่วงกว่านั้น โปรดิวเซอร์ก็จะตัดจบรายการ โดยยกป้ายตัวอักษรคันจิที่มีความหมายว่า “จบ” ขึ้นมาบนหน้าจอเสียดื้อๆ หลังจากนั้น ในปี 1964 (ปีที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน) คือช่วงที่ทีวีสีเริ่มแพร่หลายแล้ว สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์หลายแห่งเริ่มทำการแพร่ภาพ และมีละครเพิ่มขึ้น โดยผู้จัดละครจะทำการบันทึกภาพเก็บเป็นสต๊อกไว้ ไม่ใช่ภาพสดเหมือนก่อน

นางสาวโต๊ะโตะ (คุณเท็ตสึโกะ) ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานเปรียบเหมือนผ้าขาวที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวงการบันเทิงเอาซะเลย แต่ถ้ามองอีกด้าน นั่นถือเป็นข้อดีที่ทำให้เธอได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจถูกมองว่าแปลกในสายตาคนอื่น (รวมทั้งทรงผม “หัวหอม” ที่เป็นเอกลักษณ์) แต่ความตั้งอกตั้งใจบวกกับมั่นใจในตัวเองนี่แหละ ที่ทำให้เธอได้ก้าวไปสู่การเป็นนักแสดงหญิงคิวทอง รวมทั้งพิธีกรที่สร้างความครื้นเครง และยังมีรายการของตัวเองชื่อ “ห้องของเท็ตสึโกะ” (Tetsuko no Heya) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1976 และยังแพร่ภาพต่อเนื่องมาถึงตอนนี้

คุณเท็ตสึโกะอายุ 85 ปีแล้ว เธอยังทำงานที่ตัวเองรัก และยังคงเป็นขวัญใจของผู้ชมทั่วประเทศ 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ