TOKYO IDOLS :
มากกว่าแค่ความบันเทิงบนเวทีเบื้องหน้า

ดูเหมือนว่ากระแสไอดอลเมืองไทยจะถูกพูดถึงอย่างมากในปีที่ผ่านมา คงเพราะการเกิดขึ้นของวงรุ่นน้องอย่าง BNK48 ที่ทำให้เหล่าโอตะ*เมืองไทยได้ใกล้ชิดกับไอดอลขวัญใจ ไม่รู้สึกว่าไกลเกินเอื้อมเมื่อเทียบกับ AKB48 วงรุ่นพี่ที่ถูกขนานนามว่าเป็นไอดอลแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น

เพราะอะไรพวกเขาถึงคลั่งไคล้ไอดอล มีเหตุผลมากกว่าเรื่องรูปร่างหน้าตาและความเป็นเด็กสาวหรือเปล่า?

 

ภาพยนตร์สารคดี Tokyo Idols ของผู้กำกับเคียวโกะ มิยาเกะ (Kyoko Miyake)
ที่มาภาพ : www.imdb.com/title/tt6039532/

 

ภาพยนตร์สารคดี Tokyo Idols ของผู้กำกับเคียวโกะ มิยาเกะ (Kyoko Miyake) พาให้คนดูอย่างฉันเปิดตามองออกไปกว้างไกลกว่าการพูดถึงสิ่งที่ว่ามาข้างต้น ด้วยเนื้อหาตามติดชีวิตของไอดอลแห่งย่านอากิฮาบาระอย่าง “ริโอะ” (Rio) เด็กสาวอายุ 19 ปีซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องคนสำคัญของสารคดีเรื่องนี้

 

“ริโอะ” (Rio) เด็กสาวอายุ 19 ปีซึ่งเป็นตัวเดินเรื่องคนสำคัญของสารคดีเรื่อง Tokyo Idols
ที่มาภาพ : www.imdb.com

 

ไม่เพียงแต่ริโอะเท่านั้น ไอดอลสาวคนอื่นๆ เหล่าโอตะสายเปย์ผู้สนับสนุนไอดอลแบบทุ่มสุดตัว รวมทั้งความเห็นผ่านการสัมภาษณ์นักวิชาการ ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกหลากหลายมุมของพวกเขา แล้วก็เริ่มจะเข้าใจขึ้นอีกนิด อ๋อ…ที่บรรดาลุงๆ และหนุ่มๆ ตัวโตๆ (ผู้หญิงก็มีนะคะ แต่ภาพที่นำเสนอในสารคดีเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แถมยังเป็นรุ่นลุงรุ่นพ่อด้วย) ยอมสลัดภาพความคูลมาสวมเสื้อแฟนคลับ ถือแท่งไฟ สะบัดแขน โยกตัวอย่างพร้อมเพรียง และส่งเสียงตะโกนเชียร์ เพื่อทำให้คอนเสิร์ตของไอดอลมีสีสันและคึกคักยิ่งขึ้น นั่นก็เพราะพวกเขามองว่าไอดอลเป็นตัวแทนการสานฝันของตนเอง

 

ที่มาภาพ : www.imdb.com

 

แน่นอนว่าโอตะผู้ให้การสนับสนุนไอดอลมีหลากหลายอาชีพ หลากหลายฐานะ ผู้กำกับเข้าใจและไม่ได้เลือกที่จะนำเสนอแบบแบนๆ ว่าคนที่คลั่งไคล้ไอดอลอย่างโอตะคุเป็นคนไม่เอาถ่าน ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น (เมื่อก่อนคำว่า “โอตะคุ” ถูกมองในเชิงลบ) แต่เพราะวงการไอดอล ทำให้โอตะคุได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น หรืออาจจะเรียกได้ว่าเขยิบมาอยู่ในกระแสหลัก

จากสารคดีเรื่องนี้ ฉันพอจะสรุปให้ตัวเองเข้าใจง่ายๆ ว่าเหล่าไอดอลสาวเป็นตัวแทนแห่งการต่อสู้ของวัยแรกรุ่น พวกเธอคือเด็กสาวที่กำลังเติบโต กำลังฝ่าฟันให้ไปถึงสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน ซึ่งความพยายามและพัฒนาการของพวกเธอ หรือการแข่งขันระหว่างกลุ่มไอดอลกันเอง ทำให้เหล่าแฟนคลับคอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนทุกสิ่งอย่างเท่าที่จะทำให้ได้ (แต่บางคนก็เปย์มากขนาดที่สามารถนำเงินไปซื้ออพาร์ตเม้นต์ได้เลย!) จะว่าไปมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น เหล่าแฟนคลับตัวท็อปพร้อมจะสละเวลาส่วนตัวเพื่อสนับสนุนให้เธอๆ ที่พวกเขาหลงใหลได้ก้าวไปสู่อันดับหนึ่ง หรือเปลี่ยนสถานะกลายเป็นศิลปินนักร้องตัวจริงเสียงจริงอย่างเต็มที่

 

ที่มาภาพ : www.imdb.com

 

จุดขายของไอดอลเช่นนี้ เชื่อมโยงกับความเชื่อของคนญี่ปุ่น ผู้ชายญี่ปุ่นเทิดทูนบูชาความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของหญิงสาว พวกเขาจึงพร้อมจะสนับสนุนเด็กสาวในวัยเรียนที่กำลังเติบโตและกำลังสู้เพื่อฝัน จากจุดนี้หากมองในแง่มุมที่แสนจะน่ารัก ผู้สนับสนุนและเหล่าไอดอลคือกำลังใจของกันและกัน (อย่างริโอะก็พูดกับแฟนๆ ประมาณว่า…เรามาทำความฝันของพวกเราให้เป็นจริงกันเถอะ)

ขณะที่นักข่าวสาวฝีปากเผ็ดร้อนคนเดียวของสารคดีชิ้นนี้กลับมองว่า “ในสังคมญี่ปุ่น คงจะไม่มีประเด็นไหนอีกแล้ว ที่ผู้หญิงมีแรงขับเคลื่อนมากขนาดนี้” และเธอคิดว่าไอดอล “ถูกขายในฐานะเป็นสินค้าที่เนรมิตความฝันให้เป็นความจริง” ซึ่งความ “เด็ก” ทางอายุของไอดอลหลายคนก็ชวนให้ตั้งคำถามได้ว่าการทำเด็กสาวให้กลายเป็นสินค้าทางเพศเช่นนี้สะท้อนพฤติกรรมของสังคมที่ซับซ้อนอย่างไรบ้าง อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ในช่วงปี 1990 เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซา ผู้คนจึงเริ่มมองหาอะไรใหม่ๆ และตอนนั้นเองที่เกิดวัฒนธรรมไอดอลขึ้นมา ไอดอลเข้ามาเติมเต็มและทำให้เหล่าชายผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวที่กำลังรู้สึกไร้พลังกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา การไปดูคอนเสิร์ตทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังได้ร่วมต่อสู้ไปพร้อมๆ กับเด็กสาว

และแน่นอนว่า ธุรกิจไอดอลสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาล แถมดูท่าว่าจะยังแรงไม่หยุด เหมือนกับที่เสียงพูดของใครสักคนในตอนต้นของสารคดีที่กล่าวไว้ว่า…

นี่ไม่ใช่แฟชั่นสมัยนิยม

มันคือศาสนา!

 

หมายเหตุ *โอตะ (หรือ “โวตะ”) เป็นคำที่ใช้เรียกแฟนคลับวงไอดอล ย่อมาจากคำว่า “โอตะคุ” (Otaku) ที่หมายถึงคนที่คลั่งไคล้หรือชอบอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากๆ

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ