สารบัญ

PIPATPONG CHITRATANATHAM

_

 

            ท่ามกลางมหาสมุทรของงาน Portrait ภาพเด็กสาวแรกรุ่นยืนยิ้มอ่อนละมุนในไอแดดอุ่นแบบ Film-look ที่เราพบเห็นได้ตาม News feed และ Page ผลงานของช่างภาพแทบจะทุกคน วันหนึ่ง เราก็ได้เห็นผลงานภาพถ่ายที่มีลักษณะแตกต่างออกไป พร้อมๆ กับได้มีโอกาสรู้จักชื่อของ พี-พิพัฒน์พงศ์ ชิดรัตนธรรม ผ่านงาน Photobook ของเขา งานของพิพัฒน์พงศ์ไม่เพียงจับมาแต่ลักษณะเด่นและองค์ประกอบของภาพถ่ายแบบญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นภาพถ่ายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศที่สะกดผู้ชมได้อย่างอยู่หมัดในวินาทีแรก ภาพถ่ายแทบทุกใบของเขาโดดเด่นด้วยกลิ่นอายและบรรยากาศของญี่ปุ่นแท้แบบจัดเต็ม แม้ว่าจะถ่ายในองค์ประกอบและบรรยากาศที่ดูมีความเป็นเมืองไทย และยังพบเห็นได้ทั่วไปก็ตาม

            วันนี้เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยถึงประสบการณ์ ตัวตน และผลงานของคุณพี ช่างภาพสัญชาติไทยหัวใจญี่ปุ่น ผู้ที่เคยสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานกับช่างภาพชาวญี่ปุ่นถึงสองปี ท่ามกลางบรรยากาศการพูดคุยแบบสบายๆ คุณพีได้เผยแนวความคิดในการสร้างงาน แพชชั่น และความหลงใหลที่เขามีต่อปรัชญาการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่น และเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางจากโตเกียวกลับมาสร้างสรรค์ผลงานต่อในกรุงเทพมหานคร

 

มองญี่ปุ่นผ่านเลนส์แบบ “พิพัฒน์พงศ์” : 

Q. ช่วยเล่าถึงผลงาน Exhibition ที่เพิ่งผ่านไปอย่าง Tokyo Unexpected ให้ฟังหน่อยได้ไหม

Tokyo Unexpected เป็นงานถ่ายเบื้องหลังของภาพยนตร์โฆษณา ก็คือหนังสั้นของบัตรเครดิตบริษัทหนึ่งน่ะครับ ภาพเบื้องหลังลักษณะที่ว่าไม่ใช่การถ่ายขั้นตอนการทำงานของทีมงานแบบเห็นอุปกรณ์จำพวกกล้อง หรือขาไฟนะครับ แต่เป็นการถ่ายโมเมนต์ของหนังมากกว่า

 

Q. เป็นภาพนิ่งโปรโมตหรือเปล่า

ใช่ครับ ซึ่งก็จะพยายามถ่ายให้แต่ละชิ้นมันมีเรื่องราวของตัวเอง

 

Q. จาก Tokyo Unexpected ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นหรือเปล่า

มีส่วนครับ คนก็เหมือนจะรู้จักเรามากขึ้น พวกเขาก็ถามเราว่าเป็นช่างภาพคนเดียวหรือเปล่าที่ได้ไปฝึกงานทำงานที่ญี่ปุ่น

 

Q. แม้มีประสบการณ์ที่ญี่ปุ่น แต่กลับเสียโอกาสการทำงานในเมืองไทยไหม

ก็มีบ้างครับ พอไปญี่ปุ่นมันไม่มีคอนเน็กชั่นที่ไทย เรารู้จักช่างภาพ ผู้ช่วย และบริษัทมากมายก็จริง แต่พอมาเมืองไทยปุ๊บ เราเกือบจะเป็นศูนย์เลย คือไม่รู้จักใครเลย ซึ่งมันก็จะมีข้อเสียตรงนี้สำหรับคนที่ไปต่างประเทศ ยกเว้นว่าคุณเรียนจบที่ไทย คุณทำงานที่ไทยสักระยะหนึ่ง แล้วคุณไปเรียนต่อ คุณไปทำงานต่อที่นั่น ผมคิดว่าแบบนี้จะสร้างคอนเน็กชั่นได้ดีกว่า

 

 

Q. มีวิธีปรับตัวในการทำงานยังไงหลังจากที่กลับมาอยู่เมืองไทย

ถ้าเป็นเรื่องของคอนเน็กชั่น คือเราก็รู้จักแค่บางคน บางคนเขาก็ให้โอกาสเราทำงาน ให้เราลองถ่ายตามที่เราต้องการบ้าง พอเราทำได้ดี เขาก็แนะนำให้เรารู้จักคนอื่นๆ งานอื่นๆ บ้าง แต่ที่สำคัญคือถึงเราจะไม่มีคอนเน็กชั่น แต่ถ้างานเรามีสไตล์นิดหนึ่ง มันก็พอจะไปได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ มันยังไปต่อของมันได้ เราอธิบายได้ว่างานของเราเป็นประมาณนี้นะ ถึงเราจะเสียเปรียบด้านคอนเน็กชั่น แต่เราก็ค่อยๆ สร้างงานของเราไปได้เหมือนกัน

 

Q. คนไทยเข้าใจลักษณะงานของเราบ้างไหม

คือต้องบอกก่อนว่า คนส่วนมากจะคิดว่าผมถ่ายรูปแนวญี่ปุ่น ซึ่งถ้าพูดถึงความเข้าใจของคนไทย การถ่ายรูปแนวญี่ปุ่นมันก็จะเป็นภาพถ่ายลักษณะนุ่มๆ ขาวๆ เป็นแบบมินิมัล หรือว่าใส่เสื้อผ้าน่ารักๆ แบบญี่ปุ่น อะไรอย่างนั้น ซึ่งเอาจริงๆ แล้วสิ่งนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

อารมณ์เหมือนกับถ้าเราพูดถึงอาหารไทย หากถามชาวต่างชาติว่าอาหารไทยเป็นอย่างไร พวกเขาทุกคนก็คงจะตอบว่ามันต้องเป็นอาหารที่มีรสชาติเผ็ด จัดจ้านแน่ๆ เลย ซึ่งบางทีมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง อาหารไทย บางทีรสชาติปกติ คนทั่วไปรับประทานได้ก็มีเยอะแยะไป เผ็ดเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

 

Q. แล้วการถ่ายภาพแนวญี่ปุ่นจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

จริงๆ แล้วภาพแนวนี้ที่เป็นภาพแบบปกติ ไม่นุ่มนวล แบบแข็งๆ หรือแบบแปลกประหลาดหลุดโลกก็มีนะ แต่ที่สำคัญคือเขามีความเป็นตัวของตัวเองในงานภาพถ่าย

ถ้าเราอยากถ่ายให้ได้ฟิลลิ่งเดียวกับเขา ผมคิดว่าเราเป็นตัวของเราเองดีที่สุด สมมุติง่ายๆ ละกัน เช่น ภาพผู้หญิงน่ารักๆ ใส่ชุดกิโมโนนั่งอยู่ในห้องเสื่อทาทามิ นี่คือภาพจำของใครหลายๆ คนเวลาพูดถึงภาพถ่ายแนวญี่ปุ่น แต่บ้านเราไม่ได้ใช้เสื่อทาทามิ ไม่ได้สวมกิโมโนในชีวิตประจำวัน เราก็อาจเปลี่ยนมาเป็นถ่ายกับตึกรามบ้านช่องที่เรามีอยู่ ให้นางแบบสวมชุดทั่วไป แล้วเราใส่ความเป็นตัวเราเข้าไปในงานนั้นแทน แต่เดี๋ยวก่อน…ผมไม่ได้หมายความว่าถ่ายกับเสื่อทาทามิแล้วไม่ดีนะครับ แค่นำเสนอในมุมที่ต่างออกไปเท่านั้น (หัวเราะ)

ก็คือประมาณว่า ความเข้าใจของคนไทยกับคนญี่ปุ่นจริงๆ มีความแตกต่างกันอยู่ ยกอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเป็นชาเขียวแบบญี่ปุ่นแท้ๆ เลยนะ ถ้ามาวางขายในไทยอาจจะขายไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเป็นชาเขียวขวดแบบเติมน้ำตาล เติมรสหวานเข้าไปหน่อยนี่ก็จะขายดีเลย เทสต์คนไทยชอบอะไรแบบนี้ ก็คือ…ญี่ปุ่นของเขากับญี่ปุ่นของเราเนี่ยมันคนละอย่างกันเลย ญี่ปุ่นของเขาคือเขาพยายามใส่ความเป็นญี่ปุ่นลงไป

 

Q. มีตัวอย่างอื่นที่ใกล้เคียงอีกไหม

ถ้าเป็นงานออกแบบอย่างอื่น เช่น งานออกแบบปกหนังสือ ถ้าอยากให้ปกหนังสือมีความเป็นญี่ปุ่น การใช้ฟอนต์ภาษาญี่ปุ่นอาจช่วยสื่อได้ก็จริง แต่ถ้าลองปรับเป็น ใช้ฟอนต์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเหมือนที่เคยใช้กับงานออกแบบทั่วไป แล้วเลย์เอาต์ให้ออกมาเป็นญี่ปุ่นแทน เราก็จะได้งานที่เป็นแบบญี่ปุ่นเหมือนกันนะครับ

 

 

Q. ความเป็นญี่ปุ่นที่เรียนรู้มา จะเป็นเรื่องวิธีการสร้างงานมากกว่าลักษณะภายนอกงั้นหรือ

ใช่ครับ น่าจะเป็นเรื่องของวิธีการ ขายในสิ่งที่เรามี ขายความเป็นตัวเรา

 

Q. ถ้าอย่างนั้น งานของเรามีความเป็นญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง

อย่างเช่นสมมุติว่าผมถ่ายผู้หญิงคนไทยคนหนึ่ง ผมก็ถ่ายในโลเคชันที่มันไทยๆ ธรรมดาๆ นี่แหละ เราไม่จำเป็นต้องไปหาห้องสไตล์ญี่ปุ่นเรียบๆ ง่ายๆ มาถ่าย ไม่จำเป็นต้องทำท่าญี่ปุ่นๆ เราก็ถ่ายในสไตล์ของเราโดยไม่ถึงกับต้องทำเป็นญี่ปุ่นมาก คือบางคนอาจจะอยากเป็นญี่ปุ่นหน่อยบางครั้งก็แต่งชุดเป็นคนญี่ปุ่นไปเลย อย่างเช่น ชุดปกคอกะลาสี ซึ่งจริงๆ แล้วบ้านเราไม่มีนะ มันเลยกลายเป็นคอสเพลย์ไป ซึ่งผมไม่ได้รู้สึกไม่เห็นด้วยนะ แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าคนไทยก็ชอบ คนไทยก็เข้าใจว่า เออ…นั่นแหละคือความเป็นญี่ปุ่น แต่ส่วนตัวผมเนี่ย ไหนๆ กลับมาไทยแล้วก็อยากจะเอาความแท้ๆ ของมันกลับมาแล้วปรับนิดหน่อยดีกว่า

 

 

Q. หมายถึงการมอง Subject อย่างละเอียด และถ่ายทอดมันออกมาอย่างที่มันเป็นจริง ใช่ไหม

ใช่ เรามีอะไรก็ขายตรงนั้น คือผมชอบเปรียบเทียบการถ่ายรูปของญี่ปุ่นกับไทยเหมือนการทำอาหาร คือมันจะเข้าใจง่ายกว่า อาหารญี่ปุ่นเนี่ย เคยได้ยินคำว่าอูมามิใช่ไหมครับ มันคือรสแท้ของวัตถุดิบจริงๆ อย่างเช่นเมนูปลา เขาก็จะเลือกปลาจากวัตถุดิบที่คุณภาพดี ปรุงรสเพียงเล็กน้อยๆ นำมาหั่นแล้วรับประทานเลย จริงๆ มันดูง่ายมากเลย แต่พอเป็นบ้านเรา เราได้ปลามา เราเอาหลักการของการทำอาหารไทยมาจับ มันก็คือการผสมรสชาติต่างๆ เข้าด้วยกัน จากเครื่องเทศสมุนไพรต่างๆ แล้วออกมาเป็นรสชาติที่อร่อย หรืออย่างต้มยำกุ้งบ้านเรา ไม่รู้ว่าผสมกี่อย่างนะ แต่มันออกมาลงตัว

การถ่ายรูปของญี่ปุ่นกับไทยก็จะคล้ายๆ กับเรื่องอาหาร คือมันมีความผสมผสานกันอยู่ สมมุติว่าจะถ่ายงานแฟชั่น โปรโมตเสื้อขนแกะ งานไทยส่วนใหญ่เราจะเห็นภาพของนางแบบสวมชุดขนแกะ ถ่ายตามโลเคชันสวยๆ หรือในสตูดิโอดีๆ ให้งานออกมาดูทันสมัย ไฮคลาส แต่ถ้าเป็นงานของญี่ปุ่น เขาอาจจะไปถ่ายตัวแกะเลย อะไรประมาณนั้น คืออินเนอร์จะคนละทาง ซึ่งถ้าถ่ายแกะตรงๆแล้วมาขายกลุ่มผู้บริโภคคนไทย เขาอาจจะงงเล็กน้อย อาจสงสัยว่าสินค้าคืออะไร จะสื่ออะไร

หรืออย่างโฆษณาตัวหนึ่งของอุทาดะ ฮิคารุ (Utada Hikaru) เป็นโฆษณาน้ำดื่ม ซึ่งน้ำดื่มในญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วเป็นน้ำแร่ แล้วก็เหมือนกับน้ำดื่มนี้มาจากเทือกเขาแห่งหนึ่ง ภาพเซตนี้จึงเป็นภาพที่ให้อุทาดะยืนเป็นส่วนหนึ่งของทิวทัศน์อันยิ่งใหญ่ ในทางกลับกัน เมื่อเป็นโฆษณาน้ำดื่มในบ้านเรา ส่วนใหญ่แล้วจะให้นางแบบหรือนายแบบทำท่าดื่มน้ำ ดื่มแล้วสดชื่น เป็นแพทเทิร์นแบบนี้ ดังนั้น อินเนอร์และการถ่ายทอดงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงต่างกัน แต่เมื่อผสมผสานออกมาแล้ว มันก็ลงตัวในแบบของมัน กลุ่มเป้าหมายเข้าใจว่านำเสนออะไร

 

 

Q. ส่วนตัวแล้วชอบถ่ายแกะหรือเสื้อขนแกะมากกว่ากัน

จริงๆ อยากถ่ายแกะนะ คือเอาแนวคิดอันนี้มา แล้วนำมาใส่ในงานที่ทำกับคนไทยดู เพราะว่าพวกเขาถ่ายเสื้อขนแกะกันไปหมดแล้วไง มันก็จะออกมาซ้ำๆ กันไปหมด ผมคิดว่าเราน่าจะลองหาคอนเซ็ปต์อันอื่นที่มันน่าสนใจ

 

Q. อยากเปลี่ยนแปลงหรือให้คนไทยเข้าใจในวิธีการแบบอื่นบ้างงั้นหรือ

คือผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดที่เคยมีมาทั้งหมด แค่เพิ่มแนวคิดใหม่ๆ เข้าไปเพื่อให้งานมีความหลากหลายมากขึ้น อาจไม่ได้นำเสนอตรงไปตรงมามากนัก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วยแหละ (หัวเราะ) ว่าเขาอยากได้ประมาณไหน เราจึงจะได้บาลานซ์ความต้องการของลูกค้ากับแรงบันดาลใจของเราให้อยู่ในจุดที่พอดีกัน

 

 

Q. ทำไมถึงเลือกประเทศญี่ปุ่น

ส่วนตัวคือชอบงานศิลปะของญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว เคยได้ยินคำว่า วะบิ ซะบิ ใช่ไหมครับ คือญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มันเหมือนมีความคิดที่แตกต่างกับคนแบบบ้านเราอยู่ แตกต่างจากชาติอื่น

คนญี่ปุ่นจริงๆ เนี่ย คือผมชอบตรงที่เขาไม่ได้เป็นคนที่คิดอะไรจากตัวเอง เขาเป็นคนคิดเก่งด้วย และที่น่าทึ่งคือเขาเป็นคนที่ลอกเลียนแบบเก่งมาก คือจีนเนี่ยลอกเลียนแบบแล้วเราเห็นใช่ไหมว่าเขาลอกมา แต่ญี่ปุ่นเนี่ยเราไม่เห็นนะ คือเขาก๊อปปี้มาแล้วประยุกต์สิ่งนั้นให้เป็นแนวของเขาได้ นักออกแบบหลายคนจากญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมัน หรือว่าอย่างพวกคาเฟ่ในญี่ปุ่นที่เราเห็นกัน การตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ มันไม่ได้มาจากญี่ปุ่น มันมาจากสแกนดิเนเวีย มาจากฝั่งยุโรปกันหมดเลยนะ คาเฟ่ในญี่ปุ่นจริงๆ จะมีลักษณะเป็นเสื่อทาทามิ นั่งเจ็บขาซดชากันนิ่งๆ แบบนั้นน่ะญี่ปุ่นแท้แน่นอน ผมค่อนข้างสนใจในความคิดนี้ของเขา เลยเลือกที่จะไปญี่ปุ่น อีกเรื่องหนึ่งก็คือความปลอดภัย คือเป็นประเทศในเอเชียประเทศหนึ่งที่รู้สึกอุ่นใจและปลอดภัย

 

Q. เมื่อไปถึง ได้ไปเจอ วะบิ ซะบิ ที่คาดหวังไหม

ช่วงแรกก็ไปเรียนภาษาก่อน แล้วก็ได้เห็นงานของคนญี่ปุ่น แต่เราก็ยังไม่ได้เข้าใจถ่องแท้ในงานคนญี่ปุ่นอะไรขนาดนั้น คือนอกจากตอนนั้นเราติดภาพของไทย สมมติเราถ่ายภาพภูเขา ช่างภาพไทยจะถ่ายแบบวิวอลังการ หนักๆ หน่อย แต่พอเราไปญี่ปุ่น เขาถ่ายในสิ่งที่มันเป็นจริงๆ คือมันก็สวยนะ แต่มันก็ไม่ได้อลังการ มันดูเป็นตัวของตัวเองง่ายๆ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราได้ซึมซับมา

 

 

Q. มีช่างภาพในดวงใจที่อยากร่วมงานกับเขาไหม

มีครับ ในญี่ปุ่นเนี่ยมีหลายคนเลย จะมีช่างภาพที่ผมชอบคือโยะชิฮิโกะ อุเอะดะ (Yoshihiko Ueda) ทะโมะสึ ฟุจิ (Tamotsu Fuji) โอะซะมุ โยะโกะนะมิ (Osamu Yokonami) ส่วนคนที่ผมทำงานด้วยคือคุณมิกิยะ ทะกิโมะโตะ (Mikiya Takimoto) และอาจารย์ผมเอง คุณเค็นชุ ชินสึโบะ (Kenshu Shintsubo)

การที่ไปทำงานกับช่างภาพที่มีชื่อเสียงขนาดนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าเป็นคนต่างชาติจะลำบากมากๆ เพราะการสื่อสารด้วย คือเขาเป็นรุ่นใหญ่ของวงการแล้วน่ะ ด้วยวัฒนธรรมเราอาจจะเข้าไม่ถึงตรงนั้น อย่างโอะซะมุเนี่ย ผมได้เรียนรู้การอัดภาพสีจากเขา แต่ว่าถ้าพูดถึงเรื่องของแนวคิดการถ่าย หรือวิธีการถ่ายบรรยากาศ ก็จะเป็นของอาจารย์เค็นชุ คือเขาจะเป็นคนที่ถ่ายภาพเรียบง่ายมากๆ ไม่ค่อยปรุงอะไร อย่างคุณโยะชิฮิโกะเนี่ย เขาเป็นช่างภาพโฆษณาเลย คุณทะโมะสึก็ด้วย สองคนนี้อยู่ในระดับเดียวกัน ผมให้เป็น Top 5 ของญี่ปุ่นเลย แต่อาจารย์ผมไม่ติด (หัวเราะ) ยังห่างไกล แต่เขาก็มีฝีมือในระดับหนึ่ง

 

 

Q. ปกติใช้กล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิตอล

ปกติใช้ดิจิตอล แต่ถ้าบ้านเราเวลาถ่ายฟิล์ม แล้วเราเอาไปล้าง สีจะสวยไม่สวยขึ้นอยู่กับตอนล้าง แล้วก็ตอนสแกน หากคุณไปสแกนร้านที่มีชื่อเสียงหน่อย เขาก็อาจจะปรับให้ดูดีหน่อย แต่ถ้าคุณไปร้านล้างทั่วไป เขาก็อาจจะสแกนค่อนข้างไวหน่อย มันทำให้เราควบคุมคุณภาพของงานได้ไม่ 100 %

อีกอย่างหนึ่งคือร้านสแกนฟิล์มของไทยกับของญี่ปุ่นเนี่ยสแกนกันคนละสี ก็คือใช้พรีเซ็ต (Preset) กันคนละแบบ ถ้าสแกนที่ญี่ปุ่นจะได้สีแบบญี่ปุ่น ซึ่งเราชอบมากกว่า ต้องบอกว่าช่างภาพญี่ปุ่น จริงๆ แล้วเขาใช้ฟิล์มกันเยอะมากนะ โดยเฉพาะงานใหญ่ๆ นี่ใช้ฟิล์มกันหมดเลย ถึงทุกวันนี้จะน้อยลงก็ตามแต่ก็ยังมากกว่าเมืองไทยอยู่มาก ญี่ปุ่นเขาถ่ายฟิล์มกันจริงจังมากเลย ใช้กล้อง 4×5 ถ่าย Ads ใหญ่ๆ ติดบิลบอร์ดได้เลย แต่เมืองไทยมีบ้างแต่เป็นสัดส่วนที่น้อย

 

Q. อยากฝากผลงานอะไรให้ผู้อ่านติดตามบ้าง

จริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีผลงานอะไร แต่คิดไว้ว่าในอนาคตอย่างจะลองถ่าย Landscape แบบไทยด้วยกระบวนการการอัดภาพแบบญี่ปุ่นดู คือเราใช้เครื่องหรือใช้น้ำยาของญี่ปุ่น ซึ่งมันจะมีความแตกต่างกับอุปกรณ์ของบ้านเราอยู่แล้ว เราก็อยากจะทดลองดูว่าเราทำให้ภาพวิวบ้านเรามีลักษณะสีที่น่ามองแบบงานถ่ายทิวทัศน์ของญี่ปุ่นได้บ้างไหม

 

ติดตามผลงานได้ที่ 
Facebook: pipapon
Website: pipapon.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ