New Year in Kyoto

สารภาพว่า รู้สึกแปลกๆ ทุกครั้งกับการมานั่งเล่าความหลังเมื่อครั้งเรียนที่เกียวโต เขียนทุกชิ้นก็นั่งถามตัวเองตลอดเวลาว่า เฮ้ย…นี่เราจะเหมือนนักเขียนแก่ๆ ที่มาเล่าเรื่องเก่าๆ ของตัวเอง ยึดติดกับความงดงามของอดีต ไม่หนีไปไหนสักที romanticized วันวานที่ไม่หวนคืน อย่างไม่รู้จักจบสิ้น

แต่ก็ช่างมันเถอะ ค่างวดของนักเขียนแก่ๆ ก็คงอยู่ที่เขาจ้างให้มานั่งเขียนความหลังนี่แหละ (จงยอมรับมันแต่โดยดี)

ไหนๆ ก็เพิ่งผ่านปีใหม่มาไม่นาน ควรได้รำลึกถึงการมีปีใหม่ครั้งแรกที่พลัดที่นาคาที่อยู่ไปเกียวโต

ปีใหม่เป็นห้วงเวลาที่แปลก จะให้พูดอีกกี่ร้อยกี่พันครั้งฉันก็ต้องพูดเหมือนเดิมว่า ไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมเราต้องมีอะไรพิเศษในวันปีใหม่ ทำไมเราไม่แค่เปิดปฏิทินแล้วผ่านเข้าไปในศักราชใหม่เลยโดยไม่ต้องทำอะไร จากนั้นมันก็เป็นความเครียดเล็กๆ ที่เหมือนจะต้องถูกถามว่า

“ปีใหม่จะทำอะไร”

เออ…ทำไมปีใหม่ต้องทำอะไร ทำไมเราไม่ใช้ชีวิตไปตามปกติ จะปีใหม่หรือปีเก่าพระอาทิตย์ก็ขึ้นและตกไปตามปกตินี่นา

อ้าว…แล้วไหนจะแสงไฟประดับ เพลงคริสต์มาส เพลงปีใหม่ การซื้อของขวัญ ปาร์ตี้ – อยากจะกรี๊ดมากๆ ว่า นี่เราเฉยๆ กับมันไม่ได้เหรอ ทำไมต้องออกจากบ้านไปตะโกนเคาน์ดาวน์กับใครไม่รู้ตามกลางจตุรัสต่างๆ – นี่เขาไม่ง่วง ไม่เหนื่อยกันหรือไง

ต้องปาร์ตี้ ต้องจับฉลากของขวัญ เฮ้ย…เหนื่อยไปนะ  แต่ถ้ามีเพื่อนที่เราชอบก็พอทำเนา ถือว่าได้ไปเจอเพื่อน ไปกินข้าว ไปคุยกัน แลกกับการที่ต้องมาเหนื่อยคิดเรื่องจับฉลากของขวัญนิดๆหน่อยๆ ก็พอรับได้ แต่ถึงไม่ใช่ปีใหม่เราก็เจอกันได้อยู่ดี

หรือปีใหม่ คริสต์มาส มันคือหมุดหมายของเวลาเพื่อให้คนในครอบครัวที่ปกติไม่ได้อยู่ด้วยกัน ได้ใช้เวลาพร้อมหน้าพร้อมตา ลูก หลาน เหลน ปู ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ก็คงรอคอยวันหยุดยาวๆ ที่จะได้ใช้เวลาร่วมกัน

กระนั้นฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า เฮ้ย…มันต้องมีสิ คนที่กลัวการกลับบ้าน คนที่เกลียดการเจอญาติมิตร คนที่ไม่อยากใช้เวลากับใครในครอบครัวแล้วผวาที่สุดว่า กำลังถูกศีลธรรม จริยธรรมบางอย่างแบล็กเมลว่า – ปีใหม่แล้วนะ ต้องกลับไปหาพ่อแม่สิ – ถ้าเป็นเช่นนั้น วันหยุดก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่สยดสยองใช้ได้

นักเรียนไทยที่นี่ก็พยายามจองตั๋วกลับบ้านแต่เนิ่นๆ สำหรับคนที่อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวในห้วงเวลาพิเศษนี้ สำหรับคนที่ไม่กลับก็วางแผนนัดกินข้าว ปาร์ตี้ นัยว่าเพื่อจะได้ไม่เหงาและดูเหมือนว่า กิจกรรมที่ทุกคนตั้งตารอคอยคือไปตีระฆังในเช้าวันปีใหม่(มั้ง?) อันเป็นสิ่งที่คนขี้เกียจและขี้หนาวอย่างฉันไม่มีวันไปเด็ดขาด โอ๊ยยย หนาวจะตาย แล้วต้องตื่นเช้าไปเบียดๆ กับคนเพื่อตีระฆังแก๊งๆ เอาฤกษ์เอาชัยว่านี่คือปีใหม่ ดูไม่ค่อยคุ้มที่ตื่นเท่าไหร่

 

 

สิ่งที่ดีที่สุดของช่วงวันหยุดปีใหม่น่าจะเป็นความเงียบ

คนญี่ปุ่นกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวและมีพิธีกรรมการกินอาหารปีใหม่ยาวเหยียดไปตลอดวัน ร้านรวงต่างๆ ปิดสงัดไปเกือบตลอดอาทิตย์ เหลือแต่ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารกินกันตายแบบกิวด้ง อุด้ง แกงกะหรี่ – ที่ในยามสงัดของวันหยุด บรรยากาศของร้านยิ่งดูสิ้นหวัง Desperate เพิ่มขึ้นไปล้านเท่า

โอ๊ยยย แล้วโมเมนต์นั้นเองที่ฉันรู้สึกว่า วันหยุดมันช่างโหดร้ายสำหรับคนที่ “ตกค้าง” อยู่ในจักรวาลของความโดดเดี่ยว ในร้านกิวด้งเปิด 24 ชั่วโมง มีเด็กหนุ่มนั่งหลังค่อมๆ โซ้ยข้าวเข้าปากเร็วๆ จากนั้นเขาอาจจะกลับห้องไปนอนเล่นเกม ดูหนัง อ่านการ์ตูน ดูหนังโป๊ ฯลฯ อีกหลายๆ คนเข้าไปหาของกินประทังชีวิตในร้านสะดวกซื้ออย่างคัพนู้ดเดิล ไส้กรอกกากๆ น้ำอัดลมสีๆ

ฉันอาจคิดแทนพวกเขาว่า มันดูเศร้าจังเลย ในขณะที่คนอื่นรู้ว่าจะไปที่ไหน แต่มีมนุษย์อีกจำพวกหนึ่ง “ไม่ได้ไปไหน” – อย่างที่เราก็ไม่รู้เหตุผล ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะแค่ขี้เกียจเบียดเสียดยัดเยียดเดินทางไปอยู่ในที่มีคนมากมายในช่วงเทศกาล และเอ็นจอยความเงียบสงบของเมืองเหมือนฉันก็ได้

ปีใหม่ปีแรกที่เกียวโตของฉันก็แบบนั้น ตื่นขึ้นมาท่ามกลางความหนาวเหน็บ เงียบงัน กิ่งไม้ใบไม้สีดำกับโปรยปรายของเกล็ดหิมะ และต้องบอกว่า หนาวสัสๆ เลย

แต่มันช่างเป็นวันที่ดี ไม่มีความรีบเร่งของตารางงานใดๆ ไม่มีคนให้ต้องนัดหมาย เราก็แค่ตื่นมาจิบกาแฟร้อนๆ แช่น้ำอุ่น ใส่เสื้อผ้าอุ่นๆ ดูหนังเรื่องเก่าๆ สักสองเรื่อง เงยหน้ามองออกไปนอกหน้าต่างอีกทีก็เห็นความมืดโรยตัวลงมาอย่างรวดเร็ว เร็วจนสะเทือนใจว่า ความเงียบงันอันแสนสุขนี้จะจบลงในไม่ช้า 

เขียนถึงตรงนี้ก็นึกออกว่า ปีใหม่ที่เกียวโตน่าจดจำอย่างไร.

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ