สารบัญ

 

Jelly Rocket

ภายในระยะเวลาไม่นานหลังจากปล่อยซิงเกิลแรก ‘How Long’ วง Jelly Rocket ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งวงดนตรีนอกกระแสขวัญใจวัยรุ่นไทย โดดเด่นด้วยซาวด์ดนตรีที่มีทั้งความหวานนุ่มแบบดรีมป็อบ สลับกับความหนักแน่นดุเดือดของทั้งซาวด์แบบอิเล็กทรอนิกส์ร็อกและพลังงานโดยรวมของการแสดงสด

Jelly Rocket ก่อตั้งโดยสามสาวผู้รักในเสียงดนตรีจากต่างสถาบันศึกษา ภัค (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์) โม (กีต้าร์) และปั้น (ร้องนำ) พวกเธอผลิตเพลงเองทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนของการแต่งเพลง ไปจนถึงการผสมเสียงขั้นสุดท้าย ล่าสุดได้ออกอัลบั้มแรก ‘Lucid Dream’ วางแผงไปเมื่อต้นปี 2017 ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2016 ทางวงยังได้มีโอกาสขึ้นแสดงเพลงที่ประเทศญี่ปุ่น ในเทศกาลดนตรี Asia Music Festival ที่เต็มไปด้วยวงดนตรีระดับคุณภาพจากทั่วเอเชีย เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ทางฝีมือดนตรีของพวกเธอ

 

วง Jelly Rocket ภัค (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์) โม (กีต้าร์) และปั้น (ร้องนำ)
สาวๆ วง Jelly Rocket ภัค (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์) ปั้น (ร้องนำ) และโม (กีต้าร์)

 

Q. อยากให้เล่าถึงที่มาตอนไป Live ที่ญี่ปุ่น

โม: บริษัท CPoint Corporation ชวนเราไปเล่นในงาน Asia Music Festival ซึ่งเขาเป็นบริษัทตัวแทนที่จัดหาวงในไทยไปเล่นที่ญี่ปุ่น ในงานจะมีวงในเอเชียทั้งจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม แล้ววงไทยที่เขาเลือกก็มีวงเรากับวง Yellow Fang ค่ะ

 

Q. คิดว่าอะไรทำให้เขาเลือกเรา

โม: จริงๆ แล้วเพราะความชอบส่วนตัวของเขา คือไม่มีเหตุผลอะไรพิเศษเลย เหมือนเขาเปิดเพลง How Long ของเราในตอน Pitching  แต่ว่าจริงๆ แล้วบริษัทเขาเหมือนทำเพจท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นด้วยนะ มีทั้งเว็บไทยและเว็บญี่ปุ่น ให้คนไทยรู้จักญี่ปุ่นมากขึ้น แล้วก็ให้คนญี่ปุ่นรู้จักไทยมากขึ้นค่ะ

 

Q. ระยะเวลาตอนไปเล่นคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น อาศัยอยู่ที่นั่นกี่วัน

ปั้น: ตอนนั้นเราไปเที่ยวเพิ่มด้วย เลยไปเกือบอาทิตย์หนึ่ง ซึ่งเล่นจริงๆ มีสองที่ ที่แรกเราไปเล่นเปิดให้กับวง Yellow Fang ที่ชิบุยะ เหมือนพี่ๆ เขาเห็นว่าเรามาด้วย เขาก็เลยชวนเราไปเล่นเปิดให้ค่ะ วง Yellow Fang มีแฟนเพลงที่ญี่ปุ่นเยอะอยู่แล้ว เพราะเขาเคยไปทัวร์ที่ญี่ปุ่นรอบหนึ่ง แล้วก็เคยเล่นที่ Summer Sonic ด้วย ก็จะมีแฟนคลับประมาณหนึ่ง

 

Q. Asia Music Festival 2016 ตอนนั้นจัดขึ้นที่จังหวัดไหน

ภัค: จัดที่เมืองฮะมะมัตสึ (Hamamatsu) ค่ะ เป็นเมืองอุตสาหกรรมดนตรีที่มีโรงงานของยามาฮ่า (Yamaha) อยู่ มีมหาวิทยาลัย เหมือนเขาอยากให้คนเอเชียที่เรียนหรือทำงานอยู่ที่เมืองนั้นได้มาชมคอนเสิร์ต เลยจัดงานนี้ขึ้นมา

 

ภาพบรรยากาศการแสดงของวง Jelly Rocket
photo credit: https://www.facebook.com/JELLYROCKET/

 

Q. รู้สึกตื่นเต้นไหมที่ได้ขึ้นแสดง

ปั้น: ตื่นเต้นมาก ที่ประทับใจคือเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมการชมคอนเสิร์ตของญี่ปุ่นมากๆ ค่ะ ประทับใจตั้งแต่การที่ทีมงานของเขามารับเราถึงที่สถานีรถไฟของเมืองเลย มากับนักเรียนมหาวิทยาลัยของเขา แล้วก็มาถ่ายรูปให้ ทำให้เรารู้สึกพิเศษมากๆ รู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเขาค่อนข้างมี Service Mind ที่ดี ถ่ายรูปเสร็จก็จองโรงแรมให้คนละห้อง มีเลี้ยง Dinner ต้อนรับ แล้วก็ยังมี Farewell Party ด้วยค่ะ

ภัค: แล้วเราก็เพิ่งได้เห็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยก่อน เวลา Dinner โต๊ะของเขาจะยาวๆ หน่อย จะมีอาหารวางจนเต็ม แล้วก็ต้องรอคนแต่ละคนกล่าวแนะนำตัวก่อน

ปั้น: ใช่ รอนานมากค่ะ (หัวเราะ)

โม: เขาก็ต้องชนแก้วกันก่อน เดินชนเวียนกันไป ส่วนพวกเราก็นั่งหิว

ปั้น: แต่ปั้นชอบโมเม้นต์คัมไปนะคะ เป็นโมเม้นต์ที่ประทับใจมากๆ คืออยู่ไทยเราไม่ค่อยได้เจอเลย

ภัค: คัมไปของเขาเนี่ย คือการยกแก้วขึ้นมาแล้วก็ต้องเดินวนชนแก้วกับทุกคนในห้อง ชนแบบทุกคนจริงๆ ซึ่งตอนนั้นประมาณ 70 คน ต้องชนไปเรื่อยๆ ค่ะ มื้อนั้นเป็นการร่วมกินข้าวกับศิลปินของแต่ละประเทศด้วย เราก็ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ประเทศอื่น ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปั้นเลยรู้สึกว่ามันพิเศษมาก มันยากนะที่จะได้เจอประสบการณ์แบบนี้

โม: ได้ร้องเพลงร่วมกันด้วยนะคะ ร้องเพลง Sukiyaki (Kyu Sakamoto) กันคนละประโยค เขาจะแบ่งท่อนแยกกันแล้วผลัดกันร้อง สนุกมากเลยค่ะ โมไม่รู้เนื้อญี่ปุ่น ก็ร้องๆ ดำน้ำตามเขาไป โมยืนข้างพี่แพรวา (Yellow Fang) แล้วก็บอกเขาว่าพี่ช่วยหนูร้องด้วยนะคะ (หัวเราะ)

ภัค: ในทริปนั้นยังเกิดเรื่องดีๆ ขึ้นอีกอย่างก็คือทำให้เราสนิทกับพี่ๆ Yellow Fang มากๆ เลยค่ะ คือเราไปร้อง Karaoke ด้วยกัน แล้วก็มีโอกาสได้เพื่อนใหม่ด้วย

 

Q. บรรยากาศตอนวันที่ขึ้นเล่นเป็นอย่างไรบ้าง

ปั้น: Audience เขาประมาณ 15,000 คนค่ะ คือมันเหมือนไม่ได้มีแค่เวทีอย่างเดียว มันจะเป็นร้านอาหารตั้งเป็นเต็นท์ๆ ขายอาหาร ขายของด้วย คนก็จะเข้ามา มาๆ ไปๆ ถือว่าเป็น Festival ที่ค่อนข้างใหญ่และน่ารักมาก

โม: คอนเสิร์ตเขาจัดในลานที่ขนาบข้างไปด้วยห้าง คล้ายๆ ลานหน้า Central World นี่แหละค่ะ นักดนตรีก็เล่นไป แต่เขาก็ตั้งใจฟังมากๆ ซึ่งก็ค่อนข้างแตกต่างจากที่ไทยนะ และด้วยความที่เขาตั้งใจฟัง ขอให้ทำอะไรเขาก็ทำค่ะ

ปั้น: ใช่ค่ะ ประมาณว่าขอให้เขาชูมือ โยกตาม เขาก็พร้อมใจกันทำหมดเลย น่ารักมาก

ภัค: ผู้ชมก็มีหลากหลายวัยมากค่ะ ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงคุณลุง อาม่า อากง เขาก็โบกมือตามเพลงเรา ซึ่งเพลงเราก็ร็อกมากๆ (หัวเราะ) คือเหมือนกับว่าเขาอาศัยอยู่แถวนั้นอยู่แล้ว แล้วก็ออกมาดูพวกเราเล่น อารมณ์ประมาณแวะดูอีเวนต์แถวบ้าน

 

Q. เล่นไปกี่เพลง

ภัค: ประมาณ 6-7 เพลงใน 40 นาทีค่ะ

ปั้น: ที่ประทับใจอีกอย่างก็คือวันที่ Sound check วันก่อนหน้าที่จะขึ้นเล่น ทีมงานของเขาทำการบ้านมาดีมากๆ ค่ะ เขารู้จักเพลงแล้วก็สไตล์การเล่นของเราหมด พร้อมทุกอย่าง และคอยดูแลเราอยู่ใกล้ๆ ด้วยค่ะ

 

วง Jelly Rocket
photo credit: PHOBJER

 

Q. ครั้งนั้นได้ใช้เครื่องดนตรีของตัวเองด้วยไหม

โม: ไม่ค่ะ (หัวเราะ) คือทีมงานเขาจะมีเครื่องดนตรีให้ โมก็ Request ไป คือเขาค่อนข้างกังวลเวลาเราโหลดเครื่องดนตรีมา เขาก็เลยจัดหาเครื่องดนตรีเตรียมไว้ให้ที่นู่น พอไปถึง โมก็ใช้เครื่องนั้นแหละ Sound check ค่ะ

ภัค: ภัคเอาเครื่องดนตรีของภัคไปเอง เพราะว่า Keyboard มันตั้งเสียงที่ใช้ไว้แล้ว ก็เลยต้องใช้ตัวนี้เท่านั้น

โม: โมเอาเอฟเฟกต์กีต้าร์ไป มันก็เลยพอถูไถ ปั้นก็เอาเอฟเฟกต์ร้องไป คนอื่นเขาก็หนัก

ภัค: ครั้งนั้นคือการเอาเครื่องดนตรีไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกเลย เราก็หวั่นใจมาก จัดการห่อเครื่องดนตรีไปแน่นหนามาก แต่สุดท้ายเจอของพี่ๆ Yellow Fang เขาชิลมาก เขาเคยไปมาแล้ว เขารู้ว่าสายการบินมีบริการที่สามารถยกไปให้ได้เลย และคอยดูแลอย่างดี กลายเป็นเรากังวลไปเองว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ

 

Q. คิดว่าไลฟ์ที่ต่างประเทศครั้งนี้เป็นอย่างไร

ปั้น: มันตื่นเต้นตรงที่เราไม่เคยไปเล่นที่ต่างประเทศเท่านั้น แถมได้ไปเที่ยวด้วย แต่ก็ไม่ได้ประหม่าขนาดนั้นค่ะ

โม: โมรู้สึกกดดันมากกว่าและกลัวว่าการเล่นครั้งนี้จะออกมาไม่ดีหรือเปล่า คนดูจะเป็นอย่างไร ซึ่งคนดูก็จะนิ่งมากเลย ปกติไม่เคยเจอคนดูนิ่งๆ แล้วเขาก็ไม่รู้จักเพลงเรา มันเลยรู้สึกกดดันค่ะ

ปั้น: ถ้าไปครั้งหน้าเราจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้น จะรู้แล้วว่าต้องออกแบบโชว์อย่างไหน คือเราต้องขอให้เขาทำอะไรสักอย่างพร้อมเพรียงกันแล้วเขาจะสนุก ปั้นเห็นวงหนึ่งที่เขาแจกผ้าให้คนดูเอาไปหมุนเล่น ทุกคนก็ทำ ทำแล้วก็น่ารักมาก ตอนนั้นพวกเราท่องภาษาญี่ปุ่นขึ้นไปพูดด้วย (หัวเราะ)

ภัค: ใช่ค่ะ ปั้นเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมา

 

Q. พูดอะไรบนเวทีไปบ้างเหรอ

โม: ปั้นพูดยาวมากเลยนะ เล่นๆ อยู่ถึงกับงงเลย ปั้นพูดภาษาญี่ปุ่นได้ด้วยเหรอ

ปั้น: (หัวเราะ) ใช่ ปั้นท่องไป จดไปยาวอยู่แล้วก็พูดไม่ผิดเลยนะ คือตื่นเต้นส่วนหนึ่งด้วยเพราะท่องขึ้นไปพูด กลัวผิดนี่แหละ แต่พอคนดูได้ยินเขาก็เฮกัน ส่งเสียงกลับมา เราก็แค่แนะนำตัวเบสิกน่ะ ซึ่งปั้นถามมาจากพี่คนญี่ปุ่นที่ดูแลวงเราอีกทีค่ะ (หัวเราะ)

โม: ตอนนั้นโมนึกว่าปั้นพูดญี่ปุ่นได้ไปเลยนะ

ปั้น: เรียนยังไม่หมดเล่มแรกเลย พูดได้แค่นั้นแหละ

โม: แต่ปั้นช่วยชีวิตมากเลยนะคะ วงอื่นเขาทำการบ้านมากันหมดเลย ขึ้นไปพูดญี่ปุ่นกันหมด ส่วนหนึ่งที่กดดันก็เพราะเรื่องนี้ด้วยแหละ แต่พอเห็นว่าปั้นก็พูดเหมือนกัน เราก็ค่อยโล่งหน่อย

ปั้น: หลังจากเล่นเสร็จแล้วก็ไปเที่ยวที่ฟูจิกันต่อ

ภัค: ใช่ ไปเที่ยวที่ทะเลสาบคะวะงุชิโกะ (Kawaguchiko Lake) ค่ะ

 

สามสาวจากวง Jelly Rocket

 

Q. พูดถึงเรื่องท่องเที่ยว ที่ไหนในญี่ปุ่นที่ไปแล้วประทับใจที่สุด

ปั้น: ปั้นอยากไปตลาดปลาสึกิจิ (Tsukiji) ค่ะ แต่ว่าตื่นไม่ทัน (หัวเราะ) ไม่เคยตื่นทันเลย

โม: จริงๆ ไปบ่ายก็ไปได้นะ ขึ้นอยู่กับว่าจะไปกินอะไร พวกร้านเด็ดๆ จะมีเฉพาะช่วงเช้ามืดใช่ไหม คนตื่นไม่ทันอย่างเราก็ไปกินร้านที่ดังรองลงมาแทน

ปั้น: ส่วนที่อื่น ปั้นชอบสถานที่ที่สงบหน่อย มีที่หนึ่งเป็นศาลเจ้าซามูไร ปั้นเคยผ่านไปเห็นสมัยเรียนปีสองปีสาม แต่ตอนนั้นเข้าไปไม่ได้ เห็นแต่ข้างนอกแล้วรู้สึกว่ามันขลังมาก ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะกลับไปที่นั่นนะคะ ปั้นจะชอบไปที่ที่ให้ความรู้สึกขลังน่ะค่ะ ชอบไปวัดญี่ปุ่น ปั้นว่าวัดที่ญี่ปุ่นเป็นที่ที่พิเศษมากๆ ตรงที่ว่าเขายังมีวัฒนธรรมที่ชัดเจนอยู่มาก แล้วเป็นประเทศที่พัฒนามาก คือทุกอย่างค่อนข้าง Specific ไปหมด มีเอกลักษณ์ สิ่งเหล่านี้เหมือนทำให้ประเทศเขาขับเคลื่อนไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะไปอยู่ที่ญี่ปุ่นนะ

 

Q. ไปอยู่อาศัยเลยงั้นหรือ

ปั้น: (หัวเราะ) แบบนั้นอาจจะเครียดไป

ภัค: ภัคมีร้านอาหารที่ชอบมากที่ญี่ปุ่น ซึ่งความจริงแล้วเป็นร้านที่โหลอยู่นะคะ มีแฟรนไชส์เยอะมาก ชื่อร้านอะไรนะ…(หันไปถามเพื่อน)

โม: อิโซะมะรุซุอิซัง (Isomaru Suisan)

ปั้น: อ๋อๆ ร้านมันปูใช่มั้ย

ภัค: ใช่ คือตอนที่เราไปกินมันดึกแล้ว ร้านละแวกนั้นปิดหมด แต่ร้านนี้เปิด 24 ชั่วโมง เป็นร้านสไตล์อิซากายะค่ะ สิ่งที่เด็ดที่สุดคือมันปู ซึ่งเขาเสิร์ฟมาเป็นกระดอง แล้วก็ย่างทั้งกระดองนั้นเลย

โม: พอร้อน มันก็จะเดือดปุดๆ แล้วก็มีกลิ่นหอมออกมาค่ะ

ปั้น: จากนั้นพวกเราก็ไปกินร้านนี้ตามสาขาอื่นๆ อีก แต่กินที่แรกอร่อยที่สุด สงสัยเป็นที่ฤดูกาลด้วยค่ะ

โม: หรือเพราะตอนนั้นเป็นมื้อแรกที่ไปกินนะ คือลงเครื่องมาหิวโซ ไปกินกันตอนนั้นเลยอร่อย (หัวเราะ)

ภัค: รู้สึกว่าตอนนั้นเป็นโมเม้นต์ที่ดีมาก ได้ไปเที่ยวกับพวกพี่ๆ Yellow Fang ด้วย มีความสุขมากค่ะ เรายังได้ถ่าย MV เพลง “เก็บไว้” ไว้ด้วย แถมยังถ่ายวิดีโอเล่นตอนไปญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเอามาเปิดดูกี่ครั้ง ก็จะคิดถึงช่วงเวลานั้น อยากให้วงได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นอีกครั้งจริงๆ ค่ะ ภัครู้สึกว่าการเดินทางทำให้เรารักกันมากขึ้นด้วย

ปั้น: ใช่ค่ะ ผจญภัยมาก เกือบตกรถไฟด้วย (หัวเราะ)

ภัค: ไม่ใช่เกือบ แต่เราตกไปแล้ว (หัวเราะ) ตกรถบัสที่จะไปคะวะงุชิโกะ แล้วก็ต้องรีบวิ่งไปขึ้นรถไฟ คือรถไฟมันแพง พวกเราก็พยายามจะเซฟเงินด้วยการขึ้นรถบัส สรุปก็ตกรถบัสอีก

โม: ก็เลยต้องวิ่ง 4×100 ไปขึ้นรถไฟ เพราะรถไฟจะออกแล้ว ถ้าพลาดเที่ยวนี้ก็คงต้องรออีกหลายชั่วโมงกว่าจะได้ไปฟูจิ

 

Q. มีมาตรฐานของวงในใจไหม ที่อยากทำให้ประสบความสำเร็จ

ภัค: การไปทัวร์ก็เป็นมาตรฐานหนึ่งนะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ซึ่งตอนแรกพวกเราก็อยากไป แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการไปทัวร์ต้องทำอย่างไร การไปทัวร์ครั้งหนึ่งมันต้องทำอะไรเยอะมากๆ เราเลยคิดว่าเราอาจจะยังไม่มีโอกาสที่จะมีคนมาสนับสนุนเราเยอะขนาดนั้นในการที่จะทำให้เราได้ไป เหมือนเรายังไม่มีโอกาสมากกว่า เป้าหมายตอนแรกที่ทำเพลงจริงๆ ก็เพียงแค่อยากให้มันเป็นเพลงที่หลุดออกมาจากเพลงไทยตามตลาดเท่านั้นค่ะ

โม: โมอยากทำเพลงไทยให้ดีที่สุด อยากให้ประเทศอื่นมาฟังเพลงวงเราด้วย แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีช่องทางไหนที่จะพาให้วงเราไปถึงตรงนั้นได้ ก็ได้แต่ทำในสิ่งที่ทำได้ ปล่อยตาม Streaming ต่างๆ ปล่อยเพลงลง YouTube ไปก่อนค่ะ

 

Q. จนถึงตอนนี้ วงก่อตั้งมาได้กี่ปีแล้ว

ปั้น: ประมาณสามปีกับอีกสี่เดือนค่ะ

 

Q. ก็ถือว่าเร็วนะ

โม: เร็วมากค่ะ

ภัค: มันจับพลัดจับผลูด้วยล่ะค่ะ

โม: ใช่ ด้วยโอกาสหลายๆ อย่างด้วย ตอนแรกเหมือนเป็นความฝันที่เราอยากจะทำอะไรหลายๆ อย่าง เราเริ่มที่จะปล่อยเพลงลงไปในสื่อต่างๆ แล้วกระแสตอบรับมันก็ดี มีโอกาสเข้ามาทีละอย่าง เราก็เปิดรับทุกโอกาส ทั้งจากคนฟังด้วย ที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงที่เติบโตอย่างรวดเร็วค่ะ

 

อัลบั้มของ Jelly Rocket

 

Q. ตอนนี้ยังทำอัลบั้มอยู่ไหม  

ภัค: เราเพิ่งทำอัลบั้มเสร็จและปล่อยไปเมื่อต้นปีค่ะ ตอนนี้เราอยากพักก่อน ถ้าเริ่มทำเพลงใหม่ทันที มันก็อาจจะออกมาเหมือนเดิม ตอนนี้เรารอตกตะกอน แล้วพยายามทดลองสิ่งต่างๆ หรือหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ วงเราโตขึ้น แต่ก่อนตอนเด็กๆ อาจมีแต่เรื่องเล่าซ้ำๆ เดิมๆ เนื้อหาเพลงก็ยังรู้สึกว่ามันค่อนข้างใกล้เคียงกันไปหมด เลยพยายามเก็บเกี่ยวอะไรที่มันแตกต่างจากอัลบั้มแรกมากขึ้น เพราะอยากให้แฟนเพลงได้รับรู้เหมือนกันว่าเราก็เติบโตขึ้น

 

Q. บางวงโตขึ้นแล้วทิศทางเปลี่ยน ส่งผลให้แฟนคลับบางส่วนไม่พอใจ เคยคิดเรื่องทำนองนี้บ้างไหม

ภัค: จริงๆ ภัคเชื่อว่าศิลปินทุกคน เวลาทำอะไรที่เป็นโทนเดิมเรื่อยๆ ก็จะมีความอยากทำอะไรใหม่ๆ นะคะ

โม: ใช่ ยกตัวอย่างเช่น Coldplay อัลบัมแรกจนถึงอัลบัมนี้ก็แตกต่างกันมากนะคะ บางคนอาจไม่เห็นด้วย แต่โมคิดในมุมมองของศิลปินที่ว่าถ้าเขาทำแต่เพลงโทนเดิม แล้วเขาต้องเล่นเพลงแบบนั้นไปอีกหลายๆ โชว์ เขาก็คงอยากหาอะไรแบบอื่นมาแสดงบ้าง

ปั้น: เมื่อเวลาเปลี่ยน ความชอบของคนก็เปลี่ยนไปเยอะ ในฐานะนักดนตรีมันจะมีอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นเป็นแรงบันดาลใจ

 

Q. มีอะไรที่ตัวเองรู้สึกเปลี่ยนไปบ้าง

ปั้น: ก็มีค่ะ เพราะมันมีแรงจูงใจมาจากอะไรหลายๆ อย่างรอบตัว ยุคสมัยเปลี่ยน มันก็ไม่ใช่ช่วงเวลาเดิม แล้วคนทำเพลงยุค 90’s จะให้อยู่ที่เดิมมันก็ไม่ได้ใช่ไหมคะ

ภัค: รสนิยมการฟังเพลงของภัคเปลี่ยนไปชัดมาก เหมือนถ้าเป็นสมัย ม.ต้น จะชอบฟังเพลงพังก์ร็อกมากๆ พวก Blink 182 หรือ Green Day อะไรพวกนี้ค่ะ

ปั้น: ใช่ เพราะตอนนั้นมันก็มีแค่นั้น

ภัค: ช่องทางการฟังเพลงมันไม่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้ด้วยแหละค่ะ พอมา ม.ปลาย ก็เริ่มฟังแจ๊ส ฟังแบบอะไรที่เบาขึ้น ดูแก่ไปเลย (หัวเราะ) คือกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ฟังร็อกมากไปแล้ว แต่สุดท้าย หลังจากที่เรียนดนตรีมาเจ็ดปี แล้วก็ทำวงอยู่กับดนตรีมาเยอะมาก ตอนนี้สามารถฟังอะไรก็ได้แล้วทั้งนั้น สำหรับภัคนะคะ ถ้าคนไหนฟังแล้วชอบมันก็คือชอบไปเลย แต่ภัคไม่ได้จำกัดว่าชอบแนวนี้เท่านั้น

โม: จริงค่ะ พอได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างแล้วก็เหมือนกับว่าตัวเองจะตกผลึกตัวเองได้ดีขึ้น เรารู้ใจตัวเองมากขึ้น เมื่อก่อนก็ไม่รู้ว่าเพลงแบบไหนที่จะทำให้เราชอบ ต้องทดลองฟังไปเรื่อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็คือจะรู้แล้วว่าฟังแนวประมาณไหนตัวเองถึงจะชอบค่ะ

ปั้น: ก็คือเหมือนเราชัดเจนในตัวเองมากขึ้น

 

สาวๆ วง Jelly Rocket

 

Q. แปลว่าแต่ก่อนเรามีประเภทที่เราจำกัดตัวเองไว้งั้นหรือ

โม: ใช่ค่ะ เรามีประเภทเพลงที่จำกัดไว้ว่าชอบอะไรมากที่สุด

 

Q. ยกตัวอย่างได้ไหม

โม: บางทีโมจะฟังโฟล์ก บางทีก็ฟังร็อก บางทีหลุดไปฟัง R&B ก็มี หรือฟังแนวแอมเบียนต์แบบงงๆ เลยก็มี โมรู้สึกว่ามันยากที่จะหยิบอะไรหลายๆ อย่างจากพวกนั้นมาใช้ เราไม่รู้ว่าชอบอะไรกันแน่ แต่พออยู่กับมันไปเรื่อยๆ ฟังอย่างอื่นอีก ใช้เวลากับมันไป ก็จะเริ่มรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ชอบจริงๆ นั่นแหละค่ะ

 

Q. แสดงว่าแต่ละคนก็มีแนวเพลงของตัวเอง แตกต่างกันไหม

โม: จริงๆ ก็ต่างกันอยู่ค่ะ

 

Q. แล้วมาผสมกันได้อย่างไร

โม: ก็ช่วยกันฟังค่ะ อย่างอัลบัมที่แล้ว พอมาถึงขั้นตอนของการเรียบเรียงเพลง ส่วนใหญ่ภัคจะเป็นคนแต่งเนื้อร้องและทำนองมาก่อน หลังจากนั้นเราก็จะมาเข้าห้องซ้อม ทำเดโมเตรียมอัด จากนั้นให้ทุกคนฟังแล้วช่วยกันคอมเมนต์ว่าอยากจะเพิ่มอะไร อยากจะให้มันเป็นแบบไหน อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็จะค่อยๆ ใส่ไอเดียของเราเข้าไป ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามันพอจะโอเคแล้ว จึงจะใช้อันนั้น มันก็ไม่ได้มีตัวตั้งว่าอยากได้แบบนั้นแบบนี้ค่ะ

ภัค: เราไม่เคยมีเพลงต้นแบบค่ะ แล้วบอกให้ทุกคนทำแบบนี้ แต่จะค่อยๆ ทำไปด้วยกัน ใส่แบบที่เราคิดลงไป แล้วให้เพื่อนฟังเลย ให้เพิ่มเติมจุดที่อยากเพิ่ม ตั้งเป็นปลายเปิดไว้ก่อน แล้วค่อยๆ มาตบๆ กันว่าอยากให้เป็นอย่างไร

 

Q. ตอนทำเพลงมีขัดใจกันบ้างไหม

โม: ก็จะมีงอนกันบ้าง แต่ก็คุยกัน พอเราได้คุยกัน ได้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เรางอนกัน มันก็โอเค คือเหมือนพยายามเข้าใจกันให้มากขึ้นด้วยค่ะ

ภัค: เข้าใจกันมากขึ้น สนิทกันมากขึ้น พอเริ่มรู้ว่าเพื่อนเป็นอย่างไรแล้วเราก็จะพยายามปรับจูนเข้าหากัน

โม: การทำวงเป็นอะไรที่ซับซ้อนค่ะ มีความสัมพันธ์ที่เป็นเหมือนครอบครัวอีกแบบหนึ่ง เหมือนแฟน บางอย่างเราก็ต้องแคร์ความรู้สึกของวงด้วยค่ะ

ปั้น: ยิ่งเป็นสามคนที่นิสัยค่อนข้างต่างกัน ก็ต้องหาตรงกลาง มันจะคนละฟิลลิ่งกับเพื่อนสนิทนะ เพราะว่าเพื่อนสนิทเราไม่ได้ทำงานด้วยกันค่ะ

โม: ใช่ค่ะ อันนี้คือเพื่อนและงาน มันต้องครบเครื่องทุกอย่างจริงๆ

 

Q. แตกต่างกับการทำวงสมัยมหาวิทยาลัยมากแค่ไหน

ปั้น: โห… ปั้นว่าต่างมากค่ะ ปั้นไม่เคยทำวงมหาวิทยาลัยนะคะ แต่แค่รู้สึกว่าอันนั้นมันเป็นความรู้สึกแบบต้องทำด้วยกัน แต่ไม่ได้มีความรับผิดชอบเข้ามาเกี่ยวข้องขนาดนั้น คือเราทำสิ่งนี้เป็นอาชีค่ะ

โม: ใช่ค่ะ เพราะวงเราโตเร็วมาก มีงานเข้ามาเร็ว จากการที่ยังทำเพลงไม่ถึงห้าเพลง แต่ก็มีงานเข้ามาแล้ว มันทำให้เราต้องทำงานไปด้วย ทำเพลงไปด้วย ต้องปรับตัว เรียนรู้เยอะขึ้น แต่สำหรับบางวง ก็เคยเห็นเขาทำมากันตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยนะคะ อย่างวงสมเกียรติ เขาก็มีโมเมนต์แบบนั้นเหมือนกัน ต่างกับวงมหาวิทยาลัยที่เขาเล่นเฉยๆ เพราะอยากเล่น ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางของแต่ละวงมากกว่าว่าเป้าหมายของเขาเป็นอย่างไร โมว่าแต่ละวงที่เขามีอัลบัมหรือประสบความสำเร็จ เขาก็คงผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกันค่ะ

 

 

Q. มี Best Goal ของวงตัวเองไหม

โม: เรายังไม่เคยคิดเรื่องนี้ด้วยกันนะคะ ก่อนหน้านี้อยากทำอัลบัมให้เสร็จ แต่ Best Goal หลังจากนี้โมเชื่อว่าทุกๆ คนก็มีอยู่ในใจ แต่ยังไม่ได้มาคิดร่วมกันว่าของ Jelly Rocket คืออะไร ประมาณนั้น

ปั้น: เหมือนเป้าหมายของเราเพิ่งทำสำเร็จไป ตอนนี้ก็เริ่มปล่อยเริ่มโปรโมตทีละเพลงค่ะ

 

Q. ชื่อเพลงว่า

ภัค โม ปั้น: จางหายไปค่ะ

โม: Best Goal ก็คือได้ไปเล่นที่ต่างประเทศนั่นแหละค่ะ อยากไปทัวร์อีก อยากไปเปิดโลกกว้าง แล้วก็อยากให้คนต่างชาติได้มีโอกาสฟังเพลงของเราด้วย

 

Q. คิดว่าได้อิทธิพลความเป็นญี่ปุ่นเข้ามาในงานบ้างไหม

ภัค: ภัคชอบความเป็นญี่ปุ่น ปีนี้เพิ่งมีโอกาสได้ไปดูคอนเสิร์ต Fuji Rock Festival ที่ญี่ปุ่นมา แล้วก็ประทับใจมาก มีวงญี่ปุ่นวงหนึ่งที่ตอนนี้ชอบมากๆ ชื่อวง Never Young Beach เป็นวงป็อบร็อกที่ฟังแล้วนึกถึงพี่ๆ วง Scrubb เลยค่ะ สัดส่วนดนตรีของพวกเขาเท่ดี เมโลดีติดหู อัลบัมใหม่ของเขาที่เพิ่งปล่อยมาชื่อ A good Time ฟังเมื่อไหร่ก็รู้สึกว่าช่วงเวลาไหนที่รู้สึกแย่ๆ ก็จะรู้สึกดีขึ้นมาทันที เหมือนเพลงมันสดใสมากๆ เปิดฟังตอนขับรถบ่อยมากเลยค่ะ

ปั้น: จริงๆ แล้วปั้นชอบเพลงอะนิเมะมากค่ะ รู้จักเรื่อง Tokyo’s Ghoul ไหมคะ ซึ่งเขาหยิบขึ้นมาทำเป็นหนังด้วย ตื่นเต้นมาก ปั้นชอบเพลงหลักของเรื่องมาก แต่ว่าเมื่อก่อนตอนที่ปั้นเด็กมากๆ ก็ฟังวงชื่อ Berries Gobo คือตอนนี้เขายุบวงไปแล้ว เป็นวงผู้หญิงใสๆ ค่ะ

โม: ส่วนโม โมชอบดูการ์ตูนเรื่อง K-On เกี่ยวกับผู้หญิงเล่นดนตรี สนุกนะ ลองไปหาดูกันได้ค่ะ

ปั้น: พวกเราดูโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่นนะ (หัวเราะ)

ภัค: ภัคเคยอ่านเรื่อง Beck ปุปะจังหวะฮา เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเกี่ยวกับวงดนตรี แต่มีหมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง

โม: โมเคยมีครูสอนเปียโนเป็นคนญี่ปุ่นนะคะ ทำให้เรารู้เลยว่าเวลาเรียนกับคนญี่ปุ่น เขาจะมีวิธีการสอนที่แตกต่างกับคนไทยอย่างเห็นได้ชัด สมมุติเรียนเปียโนครึ่งชั่วโมง เรื่อง Minor เขาจะกำหนดเลยว่าสิบนาทีแรกเป็นเรื่องของ Scale สิบนาทีที่สองเป็นเรื่องเทคนิค สิบนาทีที่สามเขาจะให้เราเล่นเพลง คือทุกครั้งที่เรียน เขาจะแพลนไว้แบบนี้ พอเราเล่นทุกอย่างจบตามที่ครูสอนปุ๊บ เขาก็จะให้เรากลับไปซ้อมจากที่เรียนเพื่อมาเล่นให้เขาดู เบิลเป็น 2 เท่า โมซ้อมเยอะมาก แต่ว่ามันก็ดีนะ คือตอนนั้นมันก็เครียด แต่มันก็ทำให้โมเล่น Scale ได้ครบคีย์เปียโน ทำให้รู้คอร์ด เล่นได้ และทำให้เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาเอาจริงเอาจังมากๆ ค่ะ

 

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่

Facebook: www.facebook.com/JELLYROCKET/
Instagram: jellyrocketband

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ