สารบัญ

Patarapon Laueboonchu

“ภัทรพล เหลือบุญชู” หรือ “บูม” คือชื่อจริง นามสกุลจริง และชื่อเล่นจริงๆ ของเจ้าของแฟนเพจ JapanSalaryman เพจที่พูดคุยและเล่าเรื่องราวชีวิตของเหล่ามนุษย์เงินเดือนชาวอาทิตย์อุทัย จากประสบการณ์การทำงานกับบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มีประโยคหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนวัย 28 ปีระบุไว้ในแฟนเพจของตัวเอง และทำให้เราเริ่มกลับมามองหาข้อดีของอาชีพมนุษย์เงินเดือนมากขึ้น 

เขาบอกว่า “มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจและน่าหลงใหลมาก” เราเลยขอคุยกับซาลารี่แมนคนนี้เกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์เงินเดือนล้วนๆ เพราะอยากรู้มุมมองที่เขามีต่ออาชีพนี้ ซึ่งขัดแย้งพอประมาณกับวิถีและค่านิยมของคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กยุคมิลเลนเนียลส์ที่นิยมทำธุรกิจของตัวเองมากกว่าจะรอวันที่ฝ่ายบุคคลส่งอีสลิปเข้าอีเมลของบริษัท

มีสิ่งหนึ่งที่เขาพูดเสมอๆ ตลอดการสนทนาก็คือเรื่อง “การฝึกฝน” และ “การทำให้สุดทาง” เพราะคนเราไม่ได้เก่งมาแต่แรก และไม่ได้เก่งในทุกๆ เรื่อง แต่คนเราฝึกฝนกันได้ ทำทุกวัน พยายามให้สุดในทางของตัวเอง ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็ไม่มีทางแย่แน่นอน นี่ละมั้ง ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเคล็ดลับของการเป็นมนุษย์เงินเดือน

 

 

Q. รู้จักกับประเทศญี่ปุ่นเพราะได้ทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น

ผมเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี แล้วก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนที่ญี่ปุ่น ชื่อมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia Pacific (APU) อยู่ที่เกาะคิวชูทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เรียนเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ ชื่อคณะคือ Asia Pacific Management ที่นั่นมีแค่สองคณะ คือคณะที่เกี่ยวกับทางธุรกิจ และคณะที่เกี่ยวกับทางสังคมคือ Asia Pacific Studies เด็กไทยไปเรียนเยอะ รุ่นผมไปสามสิบกว่าคน ได้ทุนกันไปแล้วแต่บางคนได้หกสิบเปอร์เซ็นต์ บางคนได้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ บางคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ทุนที่ว่านี้คือทุนลดค่าเล่าเรียนนะครับ ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์แสดงว่าไม่ต้องจ่ายค่าเรียน มหาวิทยาลัยนี้เป็นมหาลัยเอกชน ค่าเรียนปีละประมาณสามแสนเก้าหมื่นบาทต่อปี ผมได้ทุนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ปีที่ผมไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์กันเยอะ น่าจะครึ่งหนึ่งได้ ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักญี่ปุ่น

 

Q. ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความสนใจในประเทศญี่ปุ่นเลย

ผมก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป ก็ดูการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ว่าก็ไม่ได้หลงใหลขนาดนั้น ก็เปิดทีวีมาก็เจอการ์ตูนญี่ปุ่น เจออาราเล่ เจอโคนัน ก็คุ้นเคยกับการ์ตูนพวกนี้ ดูแล้วสนุกสนาน ก็จะรู้จักญี่ปุ่นในมุมนั้น แล้วก็จะรู้ว่าบริษัทญี่ปุ่นในไทยนั้นมีเยอะมาก พอมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ช่วงที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นยังไม่เจอตัวเองด้วยซ้ำ ก็คิดว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ต่อเลย เพราะเราก็เรียนที่อัสสัมชัญมาตลอดสิบสองปี ตอนนั้นเป็นเด็กเรียนดี ทำกิจกรรมเยอะ ก็เลยได้โควต้าทุนเข้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญโดยอัตโนมัติ

อยู่มาวันหนึ่งแม่ก็หยิบใบปลิวมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาให้ แล้วบอกว่ามีทุนมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นด้วย ลองไปสมัครดูมั้ย เราเห็นว่าใช้ภาษาอังกฤษสอบก็เลยสนใจ ซึ่งก็มีให้ทดสอบหลายอย่าง เช่น เขียนรายงาน สอบทักษะภาษาอังกฤษ ทำพอร์ตฟอลิโอกิจกรรม ซึ่งเรามั่นใจเพราะทำกิจกรรมเยอะ ผมเองก็เป็นรองประธานนักเรียนด้วย ทางมหาวิทยาลัยก็จะคัดเลือกจากพวกนี้ว่าเราจะได้ทุนหรือไม่ ซึ่งผมก็ได้ทุนร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ได้ไปญี่ปุ่นแบบที่เราไม่ได้วางแผนมาก่อน โชคดีที่เรามีต้นทุนที่ดี เพราะเราตั้งใจเรียน และชอบทำกิจกรรม เราจึงได้ทุนไปครับ

ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีแผนเลยว่าจะทำอะไรยัง พอได้ไปญี่ปุ่นก็ไปเรียนภาษาญี่ปุ่นสิบชั่วโมงก่อนไป ก็ได้แค่พื้นฐาน ใช้อะไรมากไม่ได้ แต่พอเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยก็ถูกจับให้อยู่กับรูมเมทที่เป็นคนญี่ปุ่น ที่มหาวิทยาลัยเขาบังคับว่าต้องมีคนต่างชาติหนึ่ง คนญี่ปุ่นหนึ่ง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าเราต้องพูดญี่ปุ่นได้ วันแรกคุยกับเขาก็คุยไม่รู้เรื่อง ยุคนั้นใช้ทอล์กกิ้งดิก เราก็กดแล้วก็โชว์ให้เขา เขาพูดอังกฤษไม่ได้เลย ซึ่งที่มหาวิทยาลัยนี้เขาจะมีสองภาษา คนญี่ปุ่นก็จะถูกบังคับให้เรียนภาษาอังกฤษ คนต่างชาติก็ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ช่วงปีหนึ่งปีสอง ผมก็เรียนคลาสภาษาญี่ปุ่น เขาก็เรียนภาษาอังกฤษ

 

 

 

Q. เรียนจบแล้วก็ทำงานที่ญี่ปุ่นเลย

ใช่ครับ เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น

 

Q. ที่มาของแฟนเพจ JapanSalaryman

เริ่มจากการที่ผมเข้าไปทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น ซึ่งผมเป็นคนไทยคนเดียวในบริษัท แล้วก็มีคนต่างชาติอยู่ประมาณห้าคน ส่วนใหญ่เป็นคนจีนครับ ในเฮดออฟฟิศที่มีคนญี่ปุ่นแบบญี่ปุ่นอยู่สามร้อยคน ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ประมาณ 40-50 ปี ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพยายามเยอะหน่อย ปรับตัวให้ได้ เพราะการเข้าไปทำงานในบริษัทญี่ปุ่นต้องมีการฝึกงานก่อนหนึ่งปี แลกนามบัตรเป็นร้อยครั้ง ต้องเรียนรู้มารยาทญี่ปุ่น เช่น เวลาเข้าประชุมต้องนั่งตรงไหน บันทึกประชุมให้เป็น ต้องส่งรายงานทุกวัน รุ่นพี่ชวนไปดื่มก็ต้องไป อาทิตย์หนึ่งไปมากที่สุดก็สี่วัน แล้วเป็นอย่างนั้นครึ่งปีเลย มันคือการเลี้ยงสังสรรค์หลังเลิกงาน ปกติคนไทยเวลาเลิกงานก็อยากกลับบ้าน ไปทำนั่นนี่ของตัวเองใช่มั้ยครับ

แต่ที่ญี่ปุ่น ถ้าอยากรู้จักเพื่อนร่วมงานต้องไปสังสรรค์หลังเลิกงาน เพราะในบริษัทเวลางานเขาไม่ค่อยคุยกัน ทำงานคือทำงาน จะคุยกันก็คุยกันในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง แต่พอออกไปข้างนอก ไปกินเลี้ยงก็จะรู้จักตัวตนของอีกฝ่ายมากขึ้น จะได้สนุกสนานมากขึ้น ส่งผลถึงการทำงานที่จะราบรื่นขึ้น อันนี้เป็นเหตุที่เวลาเขาชวน ผมก็ไปตลอด อาทิตย์ละประมาณสี่ครั้ง วันจันทร์ถึงศุกร์ชีวิตผมก็จะเป็นแบบนั้น ทำงาน กินเลี้ยง สลับกันไป บางวันกินเลี้ยงถึงตีสามกลับบ้าน เจ็ดโมงเช้าก็ออกไปทำงาน คือแทบไม่มีเวลานอน

เสาร์อาทิตย์เลยไม่อยากออกไปไหน แม้ผมจะพักอยู่ที่จังหวัดชิบะซึ่งอยู่ไม่ไกลโตเกียวก็ตาม แล้วก็อยู่ในเมืองใหญ่ของชิบะด้วย ก็มีครบทุกอย่างนะ จะช็อปปิ้ง เดินเล่น อะไรก็ได้ แต่ผมเลือกที่จะไม่ออกไปไหน ก็เลยเขียนบล็อกเน้นนินทาเพื่อนร่วมงานก่อน เราเห็นอะไร สงสัยอะไร ก็เขียนไปเรื่อยๆ เช่น ทำไมคนญี่ปุ่นกินข้าวเร็วจัง กินสิบนาทีแล้วก็ขึ้นไปทำงานเลย แทนที่จะกินแบบชิลๆ เขียนไปเรื่อยๆ ก็มีคนสนใจอยู่กลุ่มหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เยอะมาก เราเลยเอามาลองเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ปรากฏว่าเพื่อนๆ ก็เข้ามาอ่านและบอกว่า เห้ย ที่ญี่ปุ่นเขาเป็นแบบนี้เหรอ หลายๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยรู้ เหมือนเปิดโลกทัศน์พวกเพื่อนๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งผมได้ย้ายกลับมาที่ไทย แล้วไปเรียนการเขียนกับพี่บอย (วิสูตร แสงอรุณเลิศ) พี่เขาบอกเราว่า ความรู้คุณเยอะขนาดนี้ แล้วก็มีเรื่องที่คนไม่รู้ขนาดนี้ เปิดเพจเลย วันนั้นพอเรียนจบคอร์ส ผมก็เปิดเพจเลย แล้วก็เริ่มเขียนตั้งแต่ช่วงพฤษภาคม 2014 สามปีแล้วครับ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ไม่เคยหยุดเขียนเลยนะ แม้แต่วันเดียว

 

 

Q. แสดงว่าเป็นคนชอบเขียนอยู่แล้ว

ไม่ชอบครับ (หัวเราะ) อันนี้คือเรื่องที่เซอร์ไพรส์ตัวเองจริงๆ ตอนเรียนเรารู้ตัวว่าเราไม่ได้ชอบอ่าน ไม่ได้ชอบเขียน เราชอบดู ชอบฟังมากกว่า ดูหนัง ดูซีรีส์ ผมชอบดูทีวีครับ พอเราดูเยอะๆ อินพุตเข้าไปเยอะๆ มันรู้สึกกระอักกระอ่วนในตัวมาก ก็อยากบอกอยากเล่าให้เพื่อนฟัง คือเป็นคนไม่ชอบพูด ถ้ารู้จักกันจะรู้เลยว่าผมเป็นคนเงียบ จะฟังมากกว่า แต่พอมีเรื่องที่เป็นความรู้ก็อยากบอกต่อ ผมจะเน้นเรื่องที่กระชับและมีสาระ

อย่างหนังสือเราก็จะเขียนไปเรื่อยๆ เช่น เรื่องการแลกนามบัตร คนญี่ปุ่นมี 23 กฎเกี่ยวกับการแลกนามบัตร อะไรแบบนี้ เล่าเกี่ยวกับมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นก่อน เพราะเรามีประสบการณ์การคลุกคลีกับคนญี่ปุ่น แล้วคนที่เล่าเรื่องนี้มีน้อยมาก ณ ตอนนั้น ไม่เห็นเลยครับ ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องกินเรื่องเที่ยวมากกว่า ซึ่งผมไม่ถนัด

อย่างเรื่องการกินข้าวเร็วของคนญี่ปุ่น เราก็จะไม่เดินเข้าไปถามเขานะ ว่าทำไมกินเร็ว แต่เราจะเอาไปศึกษาต่อทั้งจากการหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือจากการสังเกตพฤติกรรมด้วยตัวเอง เวลาเขียนเล่า ผมก็จะได้แลกเปลี่ยนกับคนอ่านด้วย มันเหมือนเราได้ความรู้จากคนอ่านด้วย ก็เลยเริ่มสนุก อีกอย่างบางทีเราเขียนเรื่องที่มีสาระ แล้วเขาก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย

 

Q. ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

อย่างเช่นเรื่องการแลกนามบัตร คนญี่ปุ่นเวลาเจอกันครั้งแรกเขาก็จะแลกนามบัตรก่อนเลย มันเป็นประเพณีครับ อย่างนักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นบางคนก็ยังไม่รู้ เจอคนญี่ปุ่นแต่ไม่มีนามบัตร มันก็คือการพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไปแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นการเสียมารยาทขนาดทำให้ธุรกิจเสียหายขนาดนั้น แต่มันเป็นธรรมเนียม ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือพนักงานประจำ ก็จะมีนามบัตร เพราะมันคือหน้าตาของเรา หน้าตาของคู่สนทนา

การรับนามบัตรมาคือการรับตัวตนของคู่สนทนา เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เกียรติกัน มันมีวิธีการรับ วิธีการยื่น เวลายื่นต้องพูดอะไร หลังรับมาแล้วก็ห้ามเก็บเลย ห้ามเขียนบนนามบัตรทันทีอะไรแบบนี้ เป็นเกร็ดความรู้ที่คนไทยสามารถเอาไปใช้เวลาทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นได้ เวลาคนได้อ่าน แล้วนำไปใช้กับคนญี่ปุ่นจริงๆ เขาก็ชื่นชมเรา แล้วคนอ่านก็มีฟีดแบ็กกลับมาว่าเอาไปใช้แล้วนะ ทำงานได้ราบรื่นขึ้น ช่วงแรกๆ ผมก็จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับมารยาทในการทำธุรกิจกับญี่ปุ่นเยอะมาก

 

 

Q. ค่านิยมของมนุษย์เงินเดือนแบบญี่ปุ่นเป็นยังไง

ไม่เหมือนกับที่ไทยนะครับ คนไทยจะค่อนข้างบาลานซ์ชีวิต อย่างทำงานก็คือทำงาน ชีวิตส่วนตัวก็คือชีวิตส่วนตัว จะค่อนข้างแยกกัน ดังนั้นคำว่า work life balance ในไทยน่าจะตรงมากกว่า สมมติ ทำงานแปดโมง เลิกงานห้าโมง กลับบ้านแล้ว แต่ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น แทบจะไม่ค่อยเห็นแบบนี้ ยกเว้นคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่จริงๆ โดยเฉลี่ยแล้วจะทำงานจนถึงหกโมงหรือสองทุ่ม จึงค่อยกลับบ้าน คือเขาอุทิศให้กับการทำงานมากกว่าชีวิตส่วนตัว เท่าที่เห็นนะครับ เขาจะเห็นว่าการทำงานจะช่วยซัพพอร์ตในหลายๆ อย่าง คือบริษัทก็จะประเมินเขาดี สุดท้ายแล้วเขาก็จะได้รับผลตอบแทนที่เป็นเงิน ซึ่งสามารถซัพพอร์ตเขาได้ทุกเรื่องในชีวิต ดังนั้นสิ่งที่เขาจะโฟกัสอันดับแรกก็คือเรื่องงาน ทำยังไงให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ คนที่โฟกัสเรื่องส่วนตัวจะน้อยมาก ซึ่งจุดนี้มันก็คือเรื่องของความต่างทางค่านิยมนะครับ

เวลาคุยเล่นกับคนญี่ปุ่น เขาก็คุยเล่นกันเรื่องงานด้วยซ้ำ คุยเรื่องการตีกอล์ฟ ก็ยังเป็นงานเป็นการ คุยแบบทำยังไงถึงจะเป็นโปร ถึงจะเก่งมาก ถึงจะได้ไปดีลธุรกิจกับทางนั้นทางนี้ โฟกัสคนละแบบ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน มีความสุขกันคนละแบบ ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกแบบไหน ผมพยายามอยู่ตรงกลางระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่น เวลางานเราก็จริงจังกับงาน เวลาส่วนตัวก็จะพยายามทำสิ่งที่เรารักให้ได้มากที่สุด

 

Q. เมื่อสักครู่พูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนต่างไปจากแต่ก่อน

ต้องบอกว่าสิ่งแวดล้อมมันเริ่มกำหนดให้เปลี่ยนงานได้ง่ายขึ้น หรือค่านิยมที่พนักงานลาออกจากบริษัทแล้วมองว่าไม่ดีมันเริ่มลดน้อยลง สมัยก่อนหากพนักงานคนหนึ่งจะลาออกจากบริษัทแล้วไปหางานใหม่นั้นยากมาก บริษัทใหม่จะไม่รับ เพราะเขามองว่าคุณทรยศกับบริษัทแรก ดังนั้นการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องที่ใหญ่มากของคนญี่ปุ่น แต่ว่ายุคนี้เป็นยุคออนไลน์ ข้อมูลก็ยิ่งมีเยอะมาก มันเริ่มหางานใหม่ง่ายขึ้น คนญี่ปุ่นเริ่มออกไปทำธุรกิจตัวเองเยอะขึ้น ซึ่งมันก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะอยู่ในกรอบความคิดเดิมๆ มานาน แล้วยิ่งตอนนี้คู่แข่งก็แซงหน้าไปเยอะมาก หลายๆ คนเริ่มออกจากกรอบ และคิดว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทเท่านั้น บางคนเลยออกไปทำธุรกิจตัวเอง เป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจตามอินเทอร์เน็ตก็ได้ ตาม Amazon หรือตามบล็อกต่างๆ คนญี่ปุ่นก็พยายามปรับตัวอยู่ครับ

 

 

Q. ข้อห้ามของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น

จริงๆ มนุษย์เงินเดือนห้ามทำงานพิเศษนะครับ โดยพื้นฐาน บริษัทจะเขียนกฎไว้เลยว่าห้ามทำงานพิเศษ

 

Q. แอบก็ไม่ได้

บางงานถึงแอบก็รู้นะครับ เช่น การเขียนบล็อก      

 

Q. ซึ่งคุณบูมเองก็เขียนหนังสือเหมือนกัน (Japan Salaryman เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน และวิ่งตามฝันยังไงก็ชนะ)

ผมออกหนังสือประมาณหกเดือนให้หลัง หลังจากเขียนเพจ ซึ่งเวลาออกหนังสือในญี่ปุ่นมันยิ่งใหญ่มาก เพราะคนที่เขียนหนังสือได้คือคนที่มีองค์ความรู้ที่สุดยอดจริงๆ สำนักพิมพ์ถึงจะให้ออกได้ คนญี่ปุ่นถึงได้ยกย่องคนเขียนหนังสือ แล้วก็กลัวว่าคนที่เขียนหนังสือได้จะลาออกจากบริษัท คนญี่ปุ่นถึงกับบินมาหาผมว่าเขียนไปทำไม เพื่ออะไร และเขียนอะไร ถึงได้บอกว่างานพิเศษที่ทำซ้อนกับงานประจำถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่นะ ยกเว้นบางบริษัทที่เริ่มผ่อนปรน ไม่โหดร้ายเกินไป

เคยมีนิตยสารบางฉบับเขียนถึงแนวโน้มเรื่องการทำงานพิเศษในสังคมญี่ปุ่นเป็นยังไงด้วยนะ บางบริษัทก็อนุญาต บางบริษัทก็ยังเป็นกฎอยู่ ถ้ารู้ก็ไล่ออกครับ แต่ถ้ามองในมุมบริษัท บริษัทค่อนข้างให้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูงกับพนักงาน สมมติคุณทำงานในบริษัทผม ผมเลี้ยงคุณทั้งชีวิต แล้วคุณจะไปหางานพิเศษทำไม

 

Q. ทั้งๆ ที่ใช้เวลาวันหยุดก็ตาม

จริงๆ นอกเวลางานก็คืองานสำหรับคนญี่ปุ่นนะครับ อย่างถ้าเป็นพนักงานขายหรือการตลาด นอกเวลางานก็ยังต้องขายถูกมั้ยครับ หรือถ้าทำงานไม่เสร็จ วันเสาร์ก็ต้องมาทำงาน ฉะนั้น ถ้าทำงานพิเศษมันก็จะไปเบียดเวลาของการทำงานประจำ เขาก็เลยคิดว่าผมจ่ายคุณเต็มที่ คุณก็ต้องทำเต็มที่นะ ซึ่งที่เมืองไทยมันไม่ใช่แบบนี้ เพราะที่เมืองไทยให้แค่เงินเดือน คนญี่ปุ่นสวัสดิการดีมาก บางบริษัทบวกภรรยา บางที่บวกลูก ลูกคนหนึ่งเพิ่มเท่านี้ ลูกสองคนเพิ่มเท่านี้ ค่าเดินทางก็ออกให้ ค่าที่พักบางทีก็ออกให้ อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะไม่ให้พนักงานต้องไปคิดเรื่องที่อยู่ เรื่องไม่มีเงินเลี้ยงภรรยา ดังนั้นเขาก็เลยคิดว่าบริษัทให้ใจคุณหมดแล้ว คุณก็ต้องเต็มที่

 

 

Q. หลังจากที่กลับมาทำงานในไทย พบความต่างในเรื่องวิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือนยังไงบ้าง

อย่างแรกเลย เรื่องบรรยากาศการทำงาน ออฟฟิศในญี่ปุ่นเราจะไม่ค่อยได้คุยกับรุ่นพี่เท่าไร ทำงานของตัวเอง สั่งงานอะไรมาก็ทำให้เสร็จ อาจจะมีรีพอร์ตระหว่างทาง หรือรีพอร์ตตอนจบแล้ว ก็จะคุยกันในลักษณะงาน พอกลับมาเมืองไทย คนละบรรยากาศเลย มันจะสบายๆ คุยกับรุ่นพี่ง่าย แล้วเอื้ออาศัยกันมากกว่า ซึ่งผมรู้สึกสบายใจนะ อย่างบางวันรุ่นน้องบอกว่า พี่วันนี้ซื้อขนมมานะ เอามั้ย อะไรแบบนี้ ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเห็น (หัวเราะ) ญี่ปุ่นถ้าจะคุยกันก็ต้องออกไปสูบบุหรี่ ในไทยความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานจะดีกว่ามากโดยที่ไม่ต้องไปกินเลี้ยงหลังเลิกงาน แล้วเวลาคุย เวลาขอร้องอะไรมันก็ง่ายครับ

 

Q. มีวิธีการทำงานของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นอะไรที่เอามาใช้ในไทยแล้วไม่เวิร์กบ้าง

ญี่ปุ่นเข้มงวดเกินไป จนบางครั้งคู่ค้าคนไทยด้วยกันรู้สึกว่าทำไมต้องเข้มงวดขนาดนั้น ทำไมจริงจังขนาดนั้น เลยต้องหาจุดร่วมครับ โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจในไทยก็จะไม่ได้ทำกับคนญี่ปุ่นเสมอไป ก็เลยต้องหาจุดร่วมตรงกลาง ไทยมีเนเจอร์แบบนี้นะ คือต่างคนต่างก็ต้องเรียนรู้กันและกันครับ แต่ถ้าญี่ปุ่นจะยึดหลักญี่ปุ่นมาใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์มันก็ไม่เวิร์ก บางทีลูกน้องคนไทยปรับตัวไม่ได้ด้วย

 

Q. แล้วถ้าเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานด้วยกัน

ก็คงเป็นเรื่องถ้าต้องไปกินเลี้ยงทุกวันก็คงไม่ได้ คนไทยมีชีวิตส่วนตัวและห่วงครอบครัวมากกว่า อยากให้เวลากับครอบครัว กับเพื่อนที่สนิทมากกว่า ตอนอยู่ญี่ปุ่นกินเลี้ยงสี่วันต่อสัปดาห์ แต่พอกลับมาที่ไทยอาทิตย์ละครั้งหรือสองอาทิตย์ครั้ง มันน้อยลงจริงๆ เพราะว่าเราโฟกัสความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานในเวลางานอยู่แล้ว การกินเลี้ยงเลยไม่จำเป็นเท่าไร นานๆ กินทีสนุกกว่า คนไทยจะแบบอั้นมาทั้งเดือนแล้วค่อยได้ไปมันจะสนุกกว่า

 

 

Q. สิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์เงินเดือน

หลายคนคิดว่ามนุษย์เงินเดือนคือการทำงานเพื่อเงินเท่านั้น แต่ว่าเบื้องลึกสำหรับคนญี่ปุ่นแล้วนั้นมันคือการสร้างคุณค่าแล้วทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในจุดนั้นมากกว่า คือทำยังไงก็ได้ให้เป็นการเพิ่มคุณค่าไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นบางคนอายุร้อยกว่ายังทำงานกันอยู่เลยก็มี เพราะเขาโฟกัสที่คุณค่ามากกว่า เพราะถ้าไม่ทำอะไรหลังเกษียณไปแล้ว เขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า มันแล้วแต่คนเลยนะ เพราะคำว่ามนุษย์เงินเดือน สำหรับบางคนคือการโฟกัสเรื่องการทำงานเพื่อเงิน แต่จากที่ผมได้สัมผัสกับคนญี่ปุ่นมากๆ เขาจะโฟกัสเรื่องงานมากกว่าเงิน คนที่พูดเรื่องเงินคือน้อยมาก ส่วนใหญ่จะคุยกันว่าทำยังไงให้งานมันดีขึ้น หรือทำยังไงให้ทำงานตรงนี้ใช้เวลาน้อยลง ทำยังไงให้ประสิทธิภาพงานดีกว่ามากกว่า แล้วก็จะเห็นว่าคนญี่ปุ่น ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน อย่างช่างไม้ หรือพนักงานร้านอาหาร เขาจะมีความคิดว่า ทำยังไงก็ได้ ให้เขาเป็นท็อปของอาชีพนั้นๆ

คนไทยส่วนใหญ่ก็จะเรียกตัวเองว่าพนักงานประจำมากกว่ามนุษย์เงินเดือนนะ เพราะถ้าเรียกมนุษย์เงินเดือนมันจะดูยึดติดเรื่องเงินมากเกินไป ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นก็จะไม่ค่อยใช้คำว่าพนักงานประจำ แต่จะเรียกว่าซาลารี่แมนเลย ซึ่งเขาก็ไม่ได้ยึดติดเรื่องเงิน เพราะถ้าทำงานไม่ดี แน่นอนว่าก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าในบริษัท สุดท้ายพอรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ก็จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายบ้าง อาการซึมเศร้าบ้าง มันมีแค่สองทางเท่านั้น คือทำให้ตัวเองสูงสุด หรือต่ำสุดไปเลย

 

Q. วันนี้ตัวเองถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง

ยังเลยครับ ยังไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำ คือผมมีเป้าหมายในชีวิต แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือตอนนี้ผมสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของคนญี่ปุ่นให้คนไทยรับทราบ ใจจริงๆ ผมอยากเอาตัวเองบุกไปถึงญี่ปุ่นเลย เอาตัวเองไปอยู่ที่นั่น แค่เห็นอะไรดี เช่น ล่าสุดผมเห็นข่าว โตะโตะจัง (เด็กหญิงข้างหน้าต่าง) เขาเป็นพิธีกรชื่อดังที่ญี่ปุ่น มีอาจารย์ท่านหนึ่งผลิตแอนดรอยโตะโตะจัง หน้าตาเหมือนกันเด๊ะ รวมถึงคำพูด วิธีการพูดก็เหมือนกัน แค่อินพุตข้อมูล สมมติผมอยากนำเสนอเรื่องนี้ ผมก็อยากไปคุยกับคนประดิษฐ์เลยนะว่า คิดอะไร ยังไง ทำยังไง ทำยังไงถึงทำได้ขนาดนี้ อยากให้คนไทยได้เห็นอะไรแบบนี้ ซึ่งเชื่อว่าการที่ได้เห็นอะไรแบบนี้มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยที่บางทีอาจจะไม่มีไอเดีย หรือบางทีอาจจะไม่มีไฟ พอได้มาเห็นก็น่าจะช่วยจุดประกายอะไรบางอย่าง เลยอยากทำรายการให้คนไทยได้ดูครับ

 

 

Q. เคยเป็นพิธีกรร่วมกับคุณฟูจิซัง ในรายการ ดูให้รู้  แล้วด้วย

ใช่ครับ นั่นก็เป็นความฝันที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มล่าสุด (วิ่งตามฝัน ยังไงก็ชนะ) ว่าอยากเป็นพิธีกรรายการสาระดีๆ ให้คนไทยได้ดู ซึ่งผมเองก็เป็นแฟนรายการดูให้รู้ มาหลายปีแล้ว ผมดูและซึมซับเรื่องพวกนี้มาเรื่อยๆ ถึงชอบเขียนเรื่องญี่ปุ่นด้วย วันหนึ่งทีมงานก็โทรมาให้ผมไปเป็นแขกรับเชิญในรายการ ซึ่งนั่นคือการก้าวถึงความฝันหนึ่งอย่างของผม ผมได้เล่าเรื่องที่ผมสนใจจริงๆ เพราะเทปที่ผมไป ผมเป็นคนเสนอไปเองว่าอยากทำเรื่องนี้

 

Q. เคยอยากออกจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนไหม

ผมว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนมันจะมีความสุขก็ต่อเมื่อผมได้พัฒนาตนเองเรื่อยๆ ถ้าทำแล้วเจอทางตันเมื่อไร หรือทำแต่สิ่งเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง มันก็จะไปโฟกัสเรื่องเงินมากกว่าแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อยากลาออกนะ แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ ได้พัฒนาตัวเอง ได้เจอคนเก่งๆ เราก็ยังอยากทำต่อไป ผมมองว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ยังสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้อยู่ดี คนชอบติดภาพว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนแล้วไม่มีเวลาทำอะไรเลย อย่างผม ผมก็เป็นมนุษย์เงินเดือนบริษัทญี่ปุ่น ผมก็ยังเขียนหนังสือ เขียนเพจ ไปถ่ายรายการญี่ปุ่นได้

ประเด็นคือแบ่งเวลาเป็นหรือเปล่า เราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่าแค่นั้นแหละ ผมมองว่าในขณะที่เราอายุยังไม่มาก เป็นเวลาที่เราควรจะกอบโกย ทำงานเหนื่อยก็จริง แต่ว่าหลังจากเลิกงานประมาณสองสามชั่วโมง ลองสร้างอะไรให้ตัวเองดีกว่า เราทำสิ่งที่รักได้ในขณะที่เป็นมนุษย์เงินเดือน บางทีอาจจะใช้ประโยชน์จากการเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ได้ เช่น มีคอนเนคชั่น รู้จักคนนั้นคนนี้แล้วนำมาต่อยอดในสิ่งที่เรารักก็ได้  กลับกัน เด็กรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจของตัวเองเลย ซึ่งสิ่งนั้นคือสิ่งที่รักใช่มั้ยครับ แต่ปรากฏว่ายังไม่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน ก็ทำธุรกิจไม่เป็น คุยกับคนไม่เป็น พรีเซนต์ไม่เป็น ยังไม่เจอกับโลกแห่งความเป็นจริง พอไปทำ ล้ม ก็จบ พอจบแล้วมันลุกยาก ฉะนั้นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับเด็กจบใหม่ ก็คือการเป็นมนุษย์เงินเดือน ผมคิดอย่างนั้น แล้วก็ถ้าบริษัทไหนไม่สามารถส่งให้เราเจริญได้ ผมว่าก็เปลี่ยนบริษัทได้นะ หาบริษัทที่สามารถส่งเสริมให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือว่าชาเลนจ์เราตลอดเวลาน่าจะดีกว่า

 

 

Q. ทำไมถึงมาเขียนหนังสือ เพราะบอกว่าเป็นคนไม่ชอบเขียน

เริ่มจากที่บรรณาธิการของสำนักพิมพ์มติชนอินบอกซ์เข้ามาชวนทำหนังสือ เพราะเขาบอกว่าผมเป็นคนที่เขียนเรื่องการทำงานที่ญี่ปุ่นคนเดียวนะ เขายังไม่เห็นคนอื่นเขียนเลย ก็เลยเขียนหนังสือรวบรวมกฎการทำงานกับคนญี่ปุ่น แนวคิดของผู้บริหารญี่ปุ่น เขาทำยังไงถึงประสบความสำเร็จ ผมก็ถือว่าตรงนี้เป็นโอกาส ก็รับไว้ ลองเขียนดู เพราะตอนแรกผมไม่คิดว่าจะเขียนหนังสือได้ มันยากมากนะครับ การเขียนหนังสือ หนังสือเล่มแรกชื่อ Japan Salaryman เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน ชื่อหนังสือก็เป็นอัตลักษณ์ของเราอยู่แล้ว ส่วน เป็นได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน ก็เป็นแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเอง ซึ่งเราก็หวังว่าคนที่อ่านที่ทำงานกับคนญี่ปุ่นอยู่แล้วจะทำให้คนญี่ปุ่นยอมรับ หรือตัวเขาเองรู้สึกว่าเขาเก่งขึ้น แล้วยอมรับในตัวเอง

 

Q. แล้วเล่มที่สอง วิ่งตามฝัน ยังไงก็ชนะ  ล่ะ

เล่มนี้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป เราดูว่าคอนเซปต์ของสำนักพิมพ์เป็นแบบไหน เราออกกับสำนักพิมพ์ you2morrow ในเครือของ 2morrow Group  ซึ่งอันนี้ก็เป็นความฝันที่ผมเขียนไว้ในเป้าหมายปี 2015 เขียนว่าออกหนังสือโดยมีพี่บอยเป็นบรรณาธิการ ซึ่งผมอยากออกกับที่นี่ด้วย ต้องบอกว่าผมเป็นลูกหม้อของที่นี่ ผมเคยไปเรียนการเขียนที่นี่มา ถ้าได้ออกหนังสือกับที่นี่ซึ่งป็นชุมชนที่มีคนเก่งๆ หลายคน ก็คงมีความสุขมากๆ ผมก็พยายามเรื่อยๆ เสนอต้นฉบับกับพี่ป้อม ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา CEO ของ 2morrow Group รอบแรกไม่ผ่าน คอนเซปต์ไม่ได้ ก็ยังไม่หยุดพยายาม เลยไปเรียนกับพี่บอยครั้งที่สอง พอเรียนจบคอร์ส ก็เอาไปเสนอพี่ป้อมอีกครั้ง แล้วพี่ป้อมก็ซื้อไอเดียเลย จึงได้ทำหนังสือเล่มที่สองในชีวิตกับที่นี่

เล่มนี้เป็นการเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ โดยการนำเอาคนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมาประมาณแปดคนที่มีประวัติและอาชีพที่แตกต่างกัน ผมมองว่าถ้าเอาคนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมา มันเอื้อมถึงยาก แต่ถ้าเอา เรื่องราวคนญี่ปุ่นที่เขาประสบความสำเร็จในมุมของเขามาเล่า น่าจะเข้าถึงได้มากกว่า

ผมว่าเอาคนโนเนมมาเล่ามันสามารถทำให้คนอ่านเอาตัวเองประทับซ้อนเข้าไปได้นะ แล้วจะรู้สึกอิน และสามารถทำตามเขาได้ แต่ถ้าเราเล่าเรื่องตัวบุคคลอย่างเดียวมันก็จะไม่ได้วิธีการ เราก็เลยเล่าวิธีการแปดวิธีที่คนญี่ปุ่นใช้เพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จในอาชีพของเขา ก็เป็นเรื่องที่เราทำงานกับคนญี่ปุ่นมา เช่น คนญี่ปุ่นใช้สมุดบันทึก ซึ่งใช้จริงจังมาก คือบันทึกทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย วันนี้ไปทำอะไร ดูหนังเรื่องไหน แล้วเขาเขียนอย่างต่อเนื่อง และเก็บทุกเล่มไว้อย่างดีเพื่อมาดูว่ายี่สิบที่แล้วเขาเป็นแบบนี้นะ คิดแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เอามาเขียนเล่าในหนังสือด้วย เป็นเรื่องที่ภูมิใจมากๆ ที่ได้เขียน หลายคนที่ได้อ่านเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นในเพจหรือหนังสือ แล้วลองไปทำแล้วชีวิตเขาดีขึ้น หลายคนอินบอกซ์มาหาผมเรื่องนี้เยอะนะ

 

Q. จากหนังสือวิ่งตามฝัน ยังไงก็ชนะ มีเทคนิค “ความหลงใหลขั้นสุด” อยากให้ลองยกตัวอย่างความหลงใหลขั้นสุดของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นหน่อย

เรื่องของซากานะคุง คนนี้เป็นแชมเปี้ยนเรื่องปลา ผมเห็นตอนที่เขาดังแล้วและมาโลดแล่นอยู่ในรายการโทรทัศน์ เขาจะใส่เสื้อกาวน์เหมือนนักวิจัย บนหัวจะใส่ปลานีโม เขาจะเป็นคนพูดตลกๆ แล้วเวลาอุทานอะไรออกมาจะคล้ายปลาหมดเลย ผมคิดว่าคาแร็กเตอร์เขาแปลกดี ก็เลยลองไปศึกษาประวัติ และพบว่าเขาเป็นรองศาตราจารย์คนหนึ่งที่ไปบรรยายในมหาวิทยาลัย เขาทำให้มันสุดจริงๆ เวลาวาดภาพเขาวาดได้เข้าใจง่าย คือดูแล้วรู้เลยว่าปลานี้เป็นปลาอะไร คนนี้ให้ความรู้ถึงแบบ ปลานี้ห้ามกินนะ ปลานี้เวลากินต้องทำแบบนี้ๆ นะ เลาะกระดูกแบบนี้ เป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องปลาจริงๆ ขนาดที่ว่าออกไปกับชาวประมงเพื่อดูว่าปลาประเภทนี้ต้องจับเวลาไหน จับยังไง คือศึกษาอะไรก็ต้องละเอียดทุกเรื่อง ห้องวิจัยในมหาวิทยาลัยที่เขาอยู่เป็นตู้ปลาที่เยอะมาก แล้วตั้งชื่อให้มันทุกตัว เป็นคนที่หลงใหลแล้วใช้ชีวิตกับมันทุกวัน สุดท้ายก็จะเล่าเรื่องนั้นได้เป็นตัวเองที่สุด ซึ่งเรื่องที่เขาเล่าในรายการทีวีมันเข้าใจง่าย ให้ความรู้คน มันเป็นคอนเซ็ปต์ของการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง

หรือเรื่องของคุณป้าทำความสะอาดในสนามบินฮาเนะดะ ทำจนสนามบินฮาเนะดะได้รับการยกย่องให้เป็นสนามบินที่สะอาดที่สุดในโลก มันต้องเริ่มต้นจากคนคนหนึ่งที่รักสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรก็ทำให้มันยอดเยี่ยมได้ คือเป็นให้สุดในจุดที่เขาเป็น ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ก็ไม่แย่

 

 

Q. ไอดอล

ถ้าตอนนี้คงเป็นพี่บอยครับ  เพราะพี่เขาเป็นนักลงมือทำ คนเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ผมถูกถ่ายรูปก็เป็นแบบไม่เก่ง ทุกอย่างมันฝึกได้ พี่บอยไม่ได้เป็นคนพูดเก่งมาก่อน เขาเป็นนักเขียนที่อยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาต้องพูดต่อหน้าคนเป็นพัน เขาจึงฝึกฝน ซึ่งการฝึกฝนนี้เป็นเนเจอร์ที่มีอยู่ในคนญี่ปุ่น ผมก็รู้สึกว่าพี่บอยเขาเป็นคนแบบนั้น เขาฝึกด้วยการไลฟ์บนเฟสบุ๊คทุกวันจนเก่ง พอเห็นแบบนี้ ผมก็อยากเก่งบ้าง เพราะฉะนั้นถึงวันนี้คุณจะยังไม่เก่ง แต่วันหนึ่งในอนาคตคุณก็เก่งได้แน่นอน เพียงแต่ว่าคุณเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่า

 

Q. ชีวิตในหนึ่งวันของมนุษย์เงินเดือนที่ชื่อภัทรพล

ส่วนใหญ่ก็จะดูทีวีญี่ปุ่น เป็นคนติดรายการทีวีญี่ปุ่น ถึงมันจะเป็นรายการที่มีสาระ แต่เขาเสนอในมุมที่สนุก ผมเลยรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากจะฝึกภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเรื่องมาเล่าด้วย ถ้าว่างๆ ก็จะไปเล่าเรื่องที่ตัวเองมีประสบการณ์ให้คนอื่นฟังครับ

 

Q. ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่อาชีพมนุษย์เงินเดือน

ถ้าคิดจะทำธุรกิจก็อยากให้เป็นมนุษย์เงินเดือนก่อน เพราะการเป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้เรียนรู้เยอะมาก เริ่มจากมารยาทในการทำธุรกิจ แล้วก็เป็นเรื่องของคอนเนคชั่นกับคน คอนเนคชั่นกับเพื่อนร่วมงาน ได้กับคอนเนคชั่นกับลูกค้า มันต่อยอดได้ แล้วก็รู้จักการบริหารคน ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น และสุดท้ายจะได้สกิลที่มีความเป็นมืออาชีพจริงๆ สกิลใดสกิลหนึ่ง ถ้าเป็นเซลส์ คุณก็จะขายเก่ง เป็นต้น มนุษย์เงินเดือนก็ทำให้มันสุดได้ นอกเหนือจากเวลามนุษย์เงินเดือนคุณค่อยทำอะไรที่เป็นความฝันของคุณก็ได้ คือแบ่งเวลา แล้วมนุษย์เงินเดือนกับสิ่งที่รักมันไปด้วยกันได้แน่นอนครับ

 

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : JapanSalaryman
Instagram : JapanSalaryman
Twitter : @JapanSalaryboom
Youtube : JapanSalarymanTV
Website : japansalaryman.com

 

*ขอบคุณร้าน Lucky Fish ทองหล่อ (FB LUCKYFISHBKK)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ