ชาเขียวเองก็มีหลากรสชาติหลายระดับ

สิ่งที่ทำให้ชาเขียวแตกต่างจากชาประเภทอื่นๆ อย่างชาแดง และชาอู่หลง คือการ “นึ่ง” ใบชา  ที่สามารถช่วยไล่กลิ่นเหม็นเขียวไปพร้อมๆ กับหยุดกระบวนการออกซิเดชัน ทำให้รักษาสีเขียวเอาไว้ได้

แต่สิ่งที่เรียกว่าชาเขียวเองก็ยังแบ่งได้ออกเป็นอีก 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ เกียวคุโระ (Gyokuro), มัทฉะ (Matcha), เซ็นฉะ (Sencha) และ บันฉะ (Bancha) ซึ่งในแต่ละประเภทก็ยังแบ่งย่อยลงไปอีก ทำให้คนดื่มสับสนงงงวยกันไปหมด

เรามาดูกันทีละประเภทเลยดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง และแตกต่างจากประเภทอื่นอย่างไร

1.เกียวคุโระ (Gyokuro)
เกียวคุโระคือยอดใบชาเขียวชั้นดี ปลูกโดยคลุมผ้ากันแสงให้อยู่ในสภาวะเหมาะสมจนเกิดเป็นสีเขียวสวยงาม นำมานึ่ง นวด และทำให้แห้ง ได้ออกมาเป็นชารสไม่ฝาด กลิ่นหอม มีสารอาหารสูง สีเขียวสด จัดเป็นชาเขียวชั้นสูง ผลิตได้ไม่มาก ราคาแพง

Credit: http://tg-uchi.jp

 2. มัทฉะ (Matcha)
มัทฉะ ผลิตจากมาจาก เท็นฉะ (Tencha) ซึ่งได้มาจากใบชาที่ปลูกและเก็บเกี่ยวลักษณะเดียวกับเกียวคุโระ แต่แตกต่างกันที่กระบวนการผลิต เท็นฉะเมื่อนึ่งเสร็จและนำมาทำให้แห้งโดยไม่ผ่านการนวด เมื่อแห้งแล้วค่อยนำมาดึงก้านและเส้นกลางใบออก เหลือแต่ใบสีเขียว มองเผินๆ คล้ายสาหร่าย พอนำใบดังกล่าวไปบดเป็นผงจึงจะได้ออกมาเป็นมัทฉะ

ภาพใบชาเท็นฉะก่อนบด Credit: http://www.tokyo-cha.or.jp/

Credit: http://www.citysuper.com.tw

 3. เซ็นฉะ (Sencha)
เซ็นฉะ คือชาเขียวส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นกว่า 60% ของชาเขียวในประเทศญี่ปุ่น ปลูกโดยให้โดนแสงอาทิตย์ตามปกติ เมื่อเก็บใบมาแล้วต้องผ่านกระบวนการนึ่ง นวด และอบแห้งเหมือนกับเกียวคุโระ คำว่า “ชาเขียว” โดยทั่วไป หากไม่ระบุจำเพาะเจาะจงมักหมายถึงเซ็นฉะ

Credit: http://saryo-suisen.com

4. บันฉะ (Bancha)
บันฉะผลิตจากใบชาประเภทอื่นๆ (นอกเหนือจาก 3 ข้อด้านบน) ได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล เช่น ก่อนต้นชาแตกยอดใหม่ หรือมีขนาดไม่ได้ตามมาตรฐาน รวบรวมมาผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้เป็นชาราคาย่อมเยา หากชงเป็นชาเขียวธรรมดา บางครั้งอาจมีสีออกไปทางเหลืองอมเขียวแทนที่จะเป็นสีเขียวสด รสฝาดกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งกลิ่นเฉพาะตัวของชาไม่หอมเท่าประเภทอื่น จึงมีการดัดแปลงเป็นเมนูชาอีกหลากหลายประเภทเพื่อเพิ่มรสหรือกลิ่น เช่น โฮจิฉะ (Hojicha) หรือเก็มไมฉะ (Gemmaicha)

โฮจิฉะเป็นใบชาที่ผ่านการคั่วด้วยความร้อนสูงจนเกิดเป็นกลิ่นเฉพาะตัว ความร้อนทำให้วิตามินซีให้ชาหายไป แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยลดคาเฟอีนในตัวชาลงไปได้ด้วย จึงเป็นชาที่ดื่มง่ายและสดชื่น

Credit: http://fuku-urara.com


ส่วนเก็มไมฉะเป็นชาที่ผสมข้าวพอง คั่วจนหอม เวลาชงกลิ่นของข้าวพองจะหอมเข้ากันกับกลิ่นชาได้เป็นอย่างดี  

Credit: http://www.ujicha.com

 ชาเขียวอาจมีหลายประเภทและราคาแตกต่างกันออกไปมาก แต่ความอร่อยในการดื่มอยู่ที่รสนิยม วิธีการปรุง รวมถึงอาหารที่รับประทานทานคู่กับชา ไม่ใช่ว่าของแพงจะอร่อยที่สุดเสมอไปสำหรับทุกคนและทุกสถานการณ์ หากใครชอบดื่มชาขอแนะนำให้ลองดื่มทุกประเภท เพราะชาแต่ละอย่างล้วนมีความอร่อยแบบเฉพาะของตัวเองอยู่ค่ะ 🙂 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ