ถ้าพูดถึงสินค้าที่มีสัญลักษณ์ Made in Japan แล้ว เชื่อได้ว่าเกือบทุกคนจะคิดถึงสินค้าที่มีคุณภาพดี ทนทาน ใช้ดี ใช้ได้นานกันใช่ไหมคะ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าและยังขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจทุกรายละเอียด โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบกับความช่างคิดช่างประดิษฐ์สิ่งของ

สำหรับ KIJI ฉบับนี้ เราจะขอพูดถึงเรื่องเครื่องเขียนญี่ปุ่นที่ใช้ดีจริงๆ แต่ใครกันเล่าที่จะพูดถึงและรีวิวเครื่องเขียนได้ดีกว่าบรรดาคนที่ใช้จริงทุกวัน ถ้าให้คนธรรมดาอย่างเราๆมารีวิว เขียนเส้นมั่วๆโชว์หรือวาดรูปงูๆ ปลาๆ แล้วเขียนสักสองสามประโยคลงกระดาษ มันคงเหมือนการไทอินขายเครื่องเขียนที่ดูธรรมดาเกิน อาจน่าเบื่อไปหน่อยสำหรับผู้อ่านด้วยซ้ำ จึงก่อเกิดไอเดียที่เราอยากนำเสนอเครื่องเขียนญี่ปุ่นโดยให้เหล่าศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และอาจารย์สอนศิลปะ ซึ่งมีคนหลักพัน หลักหมื่น หลักแสนติดตามพวกเขาผ่านเฟซบุ๊กมารีวิวให้เรากันดีกว่า

โดยครั้งนี้ KIJI ขออาสาทำหน้าที่พาทุกคนไปบุกถึงโต๊ะทำงานของศิลปินทั้ง 7 คนและชมศิลปะ รวมถึงรีวิวเครื่องเขียน Made in Japan ที่แต่ละคนใช้กันทุกวัน ผ่านบทสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองจากสตูดิโอและบ้านของศิลปินเหล่านั้น

ศิลปินแต่ละคนที่เราเลือกมาล้วนมีสไตล์ เทคนิค แรงบันดาลใจและเลือกใช้เครื่องเขียนไม่ซ้ำกันเลย เรามาดูกันดีกว่าว่าพวกเขาใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง


EP.01 Stationery Reviews | A Study of Made in Japan Stationery
อุปกรณ์เครื่องเขียนญี่ปุ่นมีดีอะไร ทำไมเหล่าศิลปินไทยถึงนิยมเลือกใช้กันอย่างแพร่หลาย มาหาคำตอบกันในรีวิวเครื่องเขียนที่จริงใจที่สุดจากปากของศิลปินผู้ใช้จริง

 

P7

The Living Legend

ศิลปินคนแรกที่เรามีโอกาสไปเยือนถึงสตูดิโอก็คือ P7 ผู้อนุญาตให้เราและทีมงานเรียกชื่อเขาอย่างสนิทสนมและเป็นกันเองว่า ‘พี่พี’ หากใครได้อ่านคอลัมน์ People ใน KIJI ฉบับที่ 010 หรือคลั่งไคล้ศิลปะแนวสตรีตอาร์ตและกราฟฟิตีหรืออยู่ในวงการสเกตบอร์ดก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องราวผู้ชายคนนี้และเห็นผลงานของเขากันบ้างแล้ว แต่ใครที่ยังไม่เคยรู้จักเขามาก่อน คิดว่าอย่างน้อยๆหลายคนคงได้เห็นผลงานของเขาผ่านตากันบ้างแหละ แม้ไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของเขาก็ตาม ด้วยเอกลักษณ์เรื่องสีสันฉูดฉาดและหลากหลายอย่างหนึ่งในงานส่วนใหญ่ภายใต้ชื่อของ P7 ซึ่งสะดุดตาใครก็ตามที่ได้เห็นจนมักจะหยุดดูแล้วใคร่พินิจพิจารณา ส่วนจะรู้สึกอย่างไรกับผลงาน ชอบหรือไม่ชอบ ก็คงเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลเสียมากกว่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกวงการสตรีตอาร์ตคนแรกๆของประเทศไทยที่ผลงานโด่งดังระดับสากลมาแล้ว ล่าสุดเขากำลังจะมีการแสดงผลงานภาพวาดบนกระดาษขนาด A4 ด้วยกัน 4 ภาพที่ประเทศญี่ปุ่นกับกลุ่มเพื่อนๆศิลปินไทยและญี่ปุ่น แต่พี่พีก็ไม่ได้จำกัดการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองแค่บนกระดาษ บนกำแพง หรือตามที่สาธารณะเท่านั้น พี่พียังคงสร้างสรรค์ผลงานบนหลากหลายพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นผ้าใบหรือแม้แต่งานหล่อ ถ้าใครเคยผ่านไปแถวหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) ก็คงจะเคยเห็นหัวเสือขนาดใหญ่ผ่านตากันบ้าง บางคนอาจเคยไปถ่ายรูปกับมันแล้วด้วยซ้ำ นั่นก็เป็นหนึ่งในผลงานของ P7 เหมือนกัน ตอนนี้หลายๆคนคงร้อง ‘อ๋อ’ กันบ้างแล้วใช่ไหมคะ ด้วยเหตุนี้เครื่องเขียนที่พี่พีเลือกใช้ก็ต้องสามารถเขียนติดได้ทุกพื้นผิว ต้องกันน้ำ ทนแดด และทนฝน เผื่อไว้ใช้กับผลงานที่อาจถูกจัดแสดงกลางแจ้งอีกด้วย ปากกา Uni POSCA Markers นี้ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ของ P7 ได้ครบ เพราะมีหลากหลายสีสันและหัวปากกาเล็กใหญ่หลายเบอร์ที่เลือกให้เหมาะสมกับงานแต่ละชนิดได้ น้ำหนักเบา สามารถพกไว้ใช้ได้ทุกที่  แม้แต่เขียนบนราวเหล็กก็ยังติดเลยค่ะ ระหว่างนั่งคุยกัน พี่พีอนุญาตให้เราลองปากกากับชั้นวางของราวเหล็กเคลือบสี หลังจากขีดแล้วสีเกือบแห้งในทันทีเลย แอบเกรงใจเหมือนกันที่บุกไปถึงสตูดิโอของพี่เขาแล้วยังไปขีดๆเขียนๆอะไรอีก  แต่พี่พีก็ใจดีกับทีมงาน KIJI มาก หลังสัมภาษณ์เสร็จก็มอบปากกา Uni POSCA ที่ใช้วาดรูปเก็บภาพมาลง KIJI ให้พวกเรากลับมาวาดเล่นกันต่ออีก

ถ้าใครอยากรู้จัก P7 มากขึ้น ก็สามารถกลับไปตามอ่านบทสัมภาษณ์คอลัมน์ People ของ KIJI ฉบับที่ 010 กันได้ในเว็บไซต์หรือแบบออนไลน์เลย

Uni POSCA Markers

Juli Baker and summer

The Bright and the Beautiful World

แวบแรกที่เห็นงานเพจ Juli Baker and Summer ในเฟซบุ๊ก ต้องขอบอกก่อนเลยเราไม่คิดว่านั่นเป็นผลงานของคนไทย ด้วยวิธีการใช้สีสันสดใสและสไตล์งานที่ทำให้เรานึกถึงผลงานของ อองรี มาติส (Henri Matisse) ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานเอาไว้มากมายเมื่อศตวรรษก่อน มันมีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกแตกต่างกันมากมาย ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นศิลปินไทยคนไหนทำงานในแนวคติโฟวิสต์ (Fauvism) ทำให้เราอยากรู้เรื่องราวความเป็นมาและผลงานของเธอมากขึ้น

คุณป่านเปิดบ้านที่ตกแต่งอย่างน่ารักและอบอุ่นด้วยของสะสมของเธอเอง คนในครอบครัวนั้นต้อนรับทีมงาน KIJI อย่างดีแล้วเชิญเรานั่งบนเก้าอี้ไร้ขาแบบมีพนักพิงในห้องทำงานของเธอ เราอดถามคำถามที่อาจไม่สมควรถามเธอเมื่อแรกเจอไม่ได้ว่าเคยมีคนทักบ้างไหมว่าผลงานเธอเหมือนผลงานของอองรี มาติสมาก คุณป่านยิ้มและตอบว่า เธอเองก็ชอบผลงานของศิลปินคนนั้น และอาจารย์เธอเคยพูดว่างานเธอคล้ายอองรี มาติสอยู่บ้างแต่เป็นอองรี มาติสแบบไทยๆ เรากวาดตามองไปรอบๆห้องทำงานของเธอ มองภาพสเกตช์และภาพต่างๆที่เจ้าของห้องติดไว้จนเต็มกำแพง แล้วนั่งคิดสักครู่ ก็ยังไม่เห็นความเป็นไทยในผลงานเหล่านั้นเลย สุดท้ายเราต้องขอให้เธอเฉลยว่า ความเป็นไทยในผลงานของเธออยู่ตรงไหน คำตอบไม่ใช่เรื่องลายเส้นหรือสิ่งที่เธอชอบวาด แต่กลับซ่อนอยู่ในคู่สีที่เธอเลือกใช้ในผลงานและแรงบันดาลใจที่ได้รับจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ตั้งแต่การดูหนัง ฟังเพลง หนังสือที่อ่าน การออกไปเที่ยวกับเพื่อนจนถึงเจ้าเหมียวที่เธอเลี้ยงไว้

 

หลังจากคุณป่านเล่าถึงสไตล์ผลงานของเธอแล้ว เราจึงถามถึงอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เธอมักใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานว่ามีอะไรบ้าง สีหลักๆที่เธอใช้คือสีอะคริลิกและสีน้ำยี่ห้อ HWC (Holbein Artists’ Water Colors) ที่ผลิตในญี่ปุ่น เพราะสีสดกว่ายี่ห้ออื่นๆ เมื่อระบายลงบนกระดาษแล้วสีจะเด่น ไม่จม มีเนื้อสีมาก ส่วนพู่กันก็เป็นของ Seikai คุณป่านยังบอกอีกว่า สีสามารถบอกถึงนิสัยของคนใช้ได้อีกด้วย เช่น เธอใช้สีสันหลากหลายที่ดูมีชีวิตชีวาบ่งบอกได้ถึงความเป็นคนร่าเริง หรือเรื่องที่เธอเป็นคนทำอะไรเร็วเลยชอบใช้สีอะคริลิก ถ้าวาดผิดปุ๊บก็ลงทับใหม่ได้เลย

นอกจากจะเป็นศิลปินฟรีแลนซ์และนักวาดภาพประกอบแล้ว ตอนนี้เธอยังจัดแสดงผลงาน Solo Show Seenspace Hua Hin ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม หรือถ้าใครไม่อยากไปไกลถึงหัวหิน คุณป่านมีผลงานต่างๆที่เธอวาดประยุกต์เป็นเสื้อยืด เข็มกลัด โปสต์การ์ด สติกเกอร์ กระเป๋าผ้า ผ้าพันคอ หรือแม้แต่ผ้าปูโต๊ะเพื่อให้คนที่ชื่นชอบผลงานของเธอได้จับจองเป็นเจ้าของกันผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Juli Baker and Summer และที่ร้าน Daddy and the muscle academy ในสยามซอย 11

HWC (Holbein Artists’ Water Colors)

Is.ideastone

An Art Story on a Rock

กระดาษขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นผิวพื้นฐานของศิลปินทุกคน ก่อนพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบหรือบนพื้นผิวอื่นๆตามลำดับต่อไป แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อศิลปินเริ่มเบื่อหรือต้องการหลีกหนีจากกระดาษและพื้นผิวเรียบๆแนวระนาบ บางคนอาจหันไปทำงานประติมากรรมหรือแกะสลัก แต่จะมีสักกี่คนที่นึกถึงการใช้ก้อนหินกรวดแทนกระดาษและผืนผ้าใบจนประสบความสำเร็จ ผลงานน่ารักของคุณแอ๊บเป็นที่ต้องการมากในตลาดต่างประเทศ

เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน เธอเริ่มรู้สึกว่าอยากสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นผิวที่มีมิติมากกว่ากระดาษ โดยเริ่มจากการลองเพนต์สัตว์ต่างๆ แล้วเพนต์ภาพการ์ตูน ก่อนนำไปสู่การเพนต์ภาพคนแล้วพัฒนามาถึงการวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนคนซึ่งยากที่สุด หากพูดว่าผลงานของเธอมีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น ก็ดูไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะคุณแอ๊บจะออกแบบลวดลายจากรูปทรงธรรมชาติของหินแต่ละก้อนแล้วค่อยวาด คล้ายกับตอนเด็กที่เรามักมองก้อนเมฆบนท้องฟ้าและพยายามนึกว่าเมฆก้อนนั้นๆหน้าตาเหมือนอะไรบ้าง รูปที่เธอมักวาดคือนกฮูกและคู่ตากับยายอิริยาบถต่างๆ ซึ่งรายละเอียดจะเปลี่ยนไปตามขนาดและรูปทรงของหินก้อนนั้นๆ เธอเลือกใช้สีอะคริลิกของ Sakura สำหรับการเพนต์งานสไตล์ป็อปอาร์ตและรูปการ์ตูน ด้วยพื้นฐานของเนื้อสีที่เข้มข้นจึงไม่จำเป็นต้องลงสีทับกันหลายครั้งเพื่อให้ได้ความหนาและเฉดสีที่ต้องการ

หลายๆคนคงสงสัยว่าคุณแอ๊บไปหาหินมาจากไหนตั้งมากมาย เธอเก็บแต่ละก้อนมาเองกับมือรึเปล่า จะมีเจ้าป่าเจ้าเขาตามมาทวงหินคืนจากคนที่ซื้อไปมั้ย ขอให้ทุกคนสบายใจได้ เธอเลือกซื้อหินจากร้านขายต้นไม้และจัดสวนแถวๆตลาด อตก. ในกรุงเทพฯ นี่เองแหละค่ะ ดังนั้นไม่มีใครมาเข้าฝันตอนนอนอย่างแน่นอน

ใครอ่านเรื่องของคุณแอ๊บแล้วสนใจผลงานของเธอละก็สามารถติดตามผลงานอื่นๆได้จากเพจเฟซบุ๊ก Is.ideastone เธอยังเปิดสตูดิโอของตัวเองเป็นห้องเรียนสอนการวาดเส้น สีน้ำ สีอะคริลิก และเพนต์หินคอร์สสั้นๆด้วย

Louis Sketcher

Seize the Moment with Pen and Wash

ถ้าพูดถึงชื่อ Louis Sketcher ในกลุ่ม Bangkok Sketcher บนเฟซบุ๊กที่มีสมาชิกกว่าหมื่นคน คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักคุณหลุยส์ ผู้หลงใหลในสถาปัตยกรรมไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าหรือใหม่ซึ่งตอนนี้เป็นทั้งอาจารย์สอนศิลปะ ศิลปินฟรีแลนซ์ และนักวาดภาพประกอบที่มีผลงานมากมายในนิตยสารหัวดังมีชื่อเสียง

งานภาพสเกตช์ส่วนใหญ่ของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากสถานที่ บริบทนั้นหรือมุมนั้นๆที่ทำให้เขาเกิดอยากวาดเพราะรู้สึกว่ามันท้าทายดีหรืออยากเก็บโมเมนต์ช่วงเวลานั้นเอาไว้เหมือนการถ่ายภาพ แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า คุณหลุยส์จะเก็บภาพด้วยเส้นและสีแทนกล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาหลังเลิกจากการสอนศิลปะหรือตอนไปเดินเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เขามักหามุมว่างๆที่ไม่พลุกพล่านเพื่อวาดรูปหรือถ่ายภาพเก็บไว้ แล้วนำไปวาดในภายหลังเสมอ

เทคนิคที่เขาถนัดคือ Pen and Wash ซึ่งใช้ทั้งปากกาและสีน้ำ โดยเริ่มจากการวาดเส้นโครงร่างด้วยดินสอแล้วตามด้วยปากกา หรืออาจจะไม่วาดด้วยดินสอแต่เริ่มวาดด้วยปากกาเลยก็ได้ แล้วค่อยลงสีน้ำทับ เทคนิคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้ปากกาที่มีหมึกกันน้ำเท่านั้น ไม่อย่างนั้นหมึกจะไหลออกมาผสมกับสีน้ำเมื่อลงสีและทำให้สีสันภาพหมองลงได้

ปากกาหัวพู่กันของ Pentel Color Brush Pen ชนิดหมึกกันน้ำ แทงก์หมึกสีเทา เป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนที่คุณหลุยส์พกติดตัวตลอดและขาดไม่ได้ นอกจากมีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก เหมาะกับการนำไปวาดภาพนอกสถานที่เพราะมีแทงก์หมึกในตัวหมุนเปลี่ยนได้ทันทีเมื่อหมึกหมดโดยไม่ต้องพกขวดกรอกหมึกให้ยุ่งยากและเลอะเทอะแล้ว ยังมีเรื่องประโยชน์การใช้สอยและความชอบส่วนตัวอีกด้วย เนื่องจากคุณหลุยส์หลงเสน่ห์เส้นพลิ้วไหวของพู่กันที่ผู้ใช้สามารถกำหนดเส้นได้ตามน้ำหนักมือ ซึ่งปากกาตัดเส้นทั่วไปทำไม่ได้

นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีศิลปะภาพพิมพ์และภาพวาดจากพู่กันสไตล์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะผลงานภาพพิมพ์ของศิลปินอย่างคะสึชิกะ โฮะกุไซ (Katsushika Hokusai) และภาพวาดเทพเจ้าญี่ปุ่นแบบเก่าแก่ดั้งเดิม หล่อหลอมเข้ากับวิชาสาขาสถาปัตยกรรมไทยที่เขาร่ำเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อองค์ประกอบต่างๆผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว จึงเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่นและแฝงด้วยกลิ่นอายไทย ญี่ปุ่น และเอเชียขึ้น

หากใครเริ่มหลงเสน่ห์ผู้ชายคนนี้เข้าซะแล้ว ติดตามผลงานของคุณหลุยส์ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก lllouissketcher หรือจะตามไปเรียนวาดรูปที่วาดเส้นสตูดิโอ ซึ่งติดตามข่าวสารได้ทางเพจเฟซบุ๊ก wardstudio หรือทางเว็บไซต์ www.ward-studio.com/category/course/ ได้เหมือนกันนะ

Pentel Color Brush Pen

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ