ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไม่ว่าสถานที่อันสวยงามจะตั้งอยู่ที่ใด ย่อมมีทางเท้าไปที่นั่นเสมอ…

 

 

และเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนที่ไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ได้สัมผัสแล้วรู้สึกสบายใจอุ่นใจ และรู้สึกดีด้วยคือ “ทางเท้า”

นำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมฟุตปาธในญี่ปุ่น ถึงเดินได้อย่างสบายใจ?” ต้องเรียนว่าความสบายใจที่ดูเรียบง่ายเบื้องหน้านี้ แต่ “เบื้องหลัง” มีรายละเอียดที่คำนึงถึงผู้ใช้งานมากมายและเต็มไปด้วยงานออกแบบที่ผ่านการคิดทางวิศวกรรมมาแล้ว ลองมาดูกันครับ

 

1) ความกว้าง

อย่างแรกเลยต้องดูถึงหน้าที่พื้นฐานที่สุดของการมีฟุตปาธเลยก็คือ “มีไว้เดิน” การที่ผู้คนในเมืองจะเดินผ่านไปมาได้ นั่นหมายถึงทางเท้าต้องมี “ความกว้าง” มากพอที่จะสามารถรองรับผู้ใช้งาน ‘หลากหลายกลุ่ม’ ได้

โดยมาตรฐานคนเดินปกติทั่วไปใช้พื้นที่ความกว้าง 0.75 ม./ คนขี่จักรยาน 1 ม./ ผู้ใช้รถเข็น 1 ม./ รถเข็นเด็ก 1 ม./ ผู้ใช้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขเดินนำทาง 1.5 ม. ฯลฯ 

 

มีความกว้างในระดับนึง เดินไม่เบียดนัก 
มีพื้นที่พอเดินสวนกันได้อย่างสบายๆ

 

ในบริเวณที่เป็นทางเดินแคบๆ ทางเท้าต้องมีความกว้างประสิทธิผลอย่างต่ำ 2 ม. เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสวนกันได้ (ความกว้างประสิทธิผล = ความกว้างที่ใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ) ส่วนฟุตปาธที่อนุญาตให้จักรยานขึ้นมาขี่ได้ ต้องมีความกว้างประสิทธิผลขั้นต่ำ 3 ม. (ทั้งนี้ระวังคนขี่จักรยานด้วยก็ดี บางคนมาอย่างเร็ว ฮ่าๆๆ ^^) 

 

บางแห่งแบ่งพื้นที่ คนเดิน x ปั่นจักรยาน

 

2) ตัวฟุตปาธ

ผิวฟุตปาธที่ญี่ปุ่นจะ “เรียบสนิท” ก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน ปูบล็อกอัดแน่น ทำให้เดินได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด ไม่ต้องมานั่งกังวลหรือคอยจำว่า จุดนี้ จุดนั้นผิวขรุขระ พื้นมีปัญหาต้องระวัง แถมเมื่อฝนตก…น้ำไม่ดีด! (มันดีตรงนี้)

 

ผิวเรียบสนิท ฝนตกน้ำไม่ดีด ^^
เรียบมาก

 

3) สะอาด

“ฟุตปาธในญี่ปุ่นสะอาดระดับที่สามารถลงไปนอนได้” เป็นคำแซวเล่นที่ได้ยินบ่อยเหลือเกิน ความสะอาดของฟุตปาธเริ่มมาจากการเลือกใช้ “วัสดุ” ในการปูทางเท้าที่มีคุณภาพ รวมถึง “ขั้นตอนการสร้างทางเท้า” ที่เก็บงานได้เนี้ยบเป็นระเบียบ เศษฝุ่นไม่เยอะจนเกินไป

 

ลงมานอนด้วยกันไหม? สะอาดหมดจด^^

 

ต่อไปก็อยู่ที่ “พฤติกรรมคนเดิน” แล้วล่ะ ว่าจะให้ความร่วมมือรักษาความสะอาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี คนญี่ปุ่นจะพยายามหลีกเลี่ยงการเดินไปกินไป เพราะของที่กินอาจหกลงพื้นได้ ไม่บ้วนสิ่งไม่พึงประสงค์ลงบนทางเท้า ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด เมื่อมีเศษขยะในมือก็ไม่แอบไปทิ้งไว้ข้างพุ่มหญ้าหรือข้างเสา แต่จะเก็บไว้กับตัวจนกว่าจะเจอถังขยะ เมื่อพาหมาแมวออกมาเดินเล่น จะเตรียมผ้าเช็ดทำความสะอาดไว้เผื่อกรณีน้องๆ อุจจาระ และไม่มีการทิ้งบอมบ์ไว้กลางทาง

 

คุณป้าทำความสะอาด หลังจากน้องปล่อยบอมบ์

 

นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยหลายแห่งในตอนเช้าๆ ก็จะมี ‘อาสาสมัคร’ บ้างมาแบบส่วนตัว บ้างนัดกันเป็นกลุ่ม ออกมาทำความสะอาดบริเวณละแวกที่ตนอยู่อาศัย หรือบรรดาออฟฟิศบางแห่ง (มักไม่ใช่ตึกออฟฟิศใหญ่โต) ก่อนเริ่มงานในตอนเช้าก็มักจะให้พนักงานออกมาทำความสะอาด เก็บขยะเล็กๆ น้อยๆ หน้าตึก เหล่านี้เป็นการสร้างจิตสำนึกว่าเราอยู่ในชุมชนนั้นๆ ก็ควรบำรุงรักษาแหล่งพำนักพักอาศัยของตนเอง

 

พนักงานช่วยกันทำความสะอาดหน้าออฟฟิศ
อาสาสมัครกำลังเก็บเศษใบไม้ร่วงบนทางเดิน

 

สิ่งใดก็ตามที่สะอาดมากๆ ย่อมดูดีดูพิเศษไปโดยปริยาย

 

4) ทางเชื่อมเป็น Slope ทางลาด

สังเกตไหมครับว่า ทางเดินที่เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างเช่น ทางม้าลาย จุดเริ่มต้นจากฟุตปาธทางเท้าจะค่อยๆ ลาดชันเป็นสโลปลงไป และเมื่อจะเดินขึ้นอีกฝั่งหนึ่งก็จะค่อยๆ สโลปลาดชันขึ้น ทำให้เดินได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ผิวทางเท้าไม่ได้ถูกแบ่งระดับอยู่สูงกว่าระดับผิวถนนหรือผิวทางม้าลายเลยทำให้ “ไม่ต้องก้าวขึ้น-ก้าวลง” ฟุตปาธ แถมเป็นผลดีกับผู้ใช้รถเข็น Wheelchair ก็สามารถผ่านทางได้อย่างสบายราบรื่น

 

ไม่ต้องก้าวขึ้น-ก้าวลง เดินได้ต่อเนื่อง
ผู้คนสัญจรได้อย่าง “ต่อเนื่อง” ไร้รอยต่อ

 

5) ไม่มี “สิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็น”

ทางเท้าในญี่ปุ่นออกแบบมาเพื่อเดิน พยายามลดสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นอาทิ โต๊ะนั่งของร้านค้า และคงไว้เฉพาะที่จำเป็นอาทิ ต้นไม้/ ป้ายรถเมล์/ จุดจอดจักรยาน/ ป้ายจราจรติดริมทางเดิน

 

อาจคงไว้แค่ป้ายรถเมล์/ จุดจอดจักรยาน/ ต้นไม้ ที่เหลือปล่อยโล่ง

 

เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวาง ทางเดินที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นจึงใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพไม่ต้องคอยเดินหลบ ^^ (ทั้งนี้ที่เมืองฟุกุโอะกะ (Fukuoka) มีพื้นที่บางแห่งอนุญาตให้มีแผงลอยค้าขายได้ แต่มีการจัดระเบียบอย่างเข้มงวด)

 

ทางเดินเรียบง่าย ปลอดสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็น

 

ตามในซอยแคบหลายแห่งไม่มีทางเท้าด้วยข้อจำกัดด้านกายภาพต่างๆ แต่ญี่ปุ่นก็ยังเผื่อพื้นที่สำหรับคนเดินเสมอ โดยจะตีเส้นขอบถนน แบ่งพื้นที่ระหว่างรถกับคนเดิน และบรรดาท่อระบายที่อยู่ริมทางเดิน ผิวจะเรียบสนิท ไม่มีท่อน้ำตัว V ที่เดินไม่ระวังอาจสะดุดข้อเท้าพลิกได้

 

แบ่งพื้นที่คนเดิน และท่อระบายน้ำผิวเรียบสนิท
ท่อระบายน้ำผิวค่อนข้างเรียบ เดินเหยียบได้เลย

 

Part1 ขอพอเท่านี้ก่อน ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย สามารถอ่าน Part2 ต่อได้ที่นี่

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ