อ่านเรื่องเกียวโตของฉันมาก็หลายตอนแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อไหร่จะไปเรียนหนังสือหนังหาเสียที อ้อยอิ่งอยู่กับภูเขา กลิ่นควันไฟ ฟางข้าวอยู่นั่นแหละ แหม ถามจริงๆ ใครชอบเรียนหนังสือบ้าง ดังนั้น กว่าจะย่างเท้าเข้าไปมหาวิทยาลัยได้ มันก็ต้องมีความอืดอาดกันบ้าง

ตามแผนการเรียน ฉันต้องเป็น “นักศึกษาวิจัย” 2 ปี  คำว่านักศึกษาวิจัยฟังดูโก้ดี แต่จริงๆ แล้วมันคือ การเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโท (อันนี้ก็ต้องลุ้นกันว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า) และส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวคือ เรียนภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำมีสองอย่างคือ ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาที่จะดูแลชีวิตของสาวสันคะยอมคนนี้ไปอีก 7 ปี และไปที่ศูนย์นักเรียนต่างชาติ เพื่อลงเรียนภาษาญี่ปุ่น อันมหาวิทยาลัยจัดคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะ

 

 

 

ไปหาอาจารย์ มอบของขวัญของฝาก แนะนำฝากเนื้อฝากตัวกันเรียบร้อย อาจารย์ก็มอบ “ติวเตอร์” ให้ 1 คน ระบบติวเตอร์ คือรุ่นพี่ที่อาจเป็นนักศึกษาปริญญาโทหรือเอก จะรับเงินเดือนจากรัฐบาล และมีหน้าที่สอนภาษาญี่ปุ่นและ “ติว” เรื่องการอยู่ การเรียน ในมหาวิทยาลัย ซึ่งฉันมารู้ภายหลังว่ามันต่างจากระบบของเมืองไทยอย่างชนิดที่ต้องปรับตัวกันหนักมาก

และติวเตอร์นี้เอง จะเป็นผู้ช่วยดูแลงานเอกสารต่างๆ ตั้งแต่ไปทำบัตร “ต่างด้าว” (ภายหลังเขาเปลี่ยนมาเรียกว่า บัตรผู้พำนักอาศัย และเลิกใช้คำว่าต่างด้าวแล้ว) บัตรเหล่านี้ต้องไปทำที่ที่ว่าการตำบล เอกสารต่างๆนานาเป็นภาษาญี่ปุ่นที่อ่านไม่ออกสักตัว ก็ให้ติวเตอร์ (มีนามว่า มิยาตะซัง) เขียนให้ทั้งหมด ฉันมีหน้าที่ปั๊มหัวแม่มืออย่างเดียว

 

 

สิ่งหนึ่งที่ยอมรับในการไปเรียนญี่ปุ่นเมื่ออ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออกคือ ยอมรับสภาพการเป็นคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันก็จะดูโง่ๆ เอ๋อๆ เงอะงะ จากประสบการณ์เอ๋อรับประทาน ใครพูดอะไรมาก็ได้มองตา กะพริบตาปริบๆ ทำให้ฉันไม่เคยจะหมิ่นแคลนแรงงานต่างด้าวในไทย ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว ไทใหญ่ หรืออื่นๆ เมื่อเขาพูดไทยไม่ชัด หรือฟังภาษาไทยของเราไม่รู้เรื่อง เพราะเอาเข้าจริงๆ พม่า ไทใหญ่ที่พูดไม่ชัดอยู่ที่เมืองไทยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยได้ดีกว่าที่ฉันพูดภาษาญี่ปุ่นตอนอยู่ญี่ปุ่นเยอะมาก

นี่เป็นอีกเรื่องที่ฉันไม่ค่อยเข้าใจคนไทยที่ชอบไปล้อคนต่างชาติที่พูดไทยไม่ชัด โดยเฉพาะชอบไปล้อคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน (แต่ถ้าฝรั่งหรือลูกครึ่งฝรั่งพูดไทยไม่ชัดก็เห็นว่าน่ารัก น่าเอ็นดูกันจัง) ทั้งๆที่ตัวเองก็พูดภาษาต่างประเทศใดๆ ก็หาได้ไม่

เป็นอันว่า ฉันได้ไปโรงเรียนแล้ว ไปลงเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว

 

 

เล่าให้ฟังแล้วจะขำ ใครๆ ก็รู้ว่า มหาวิทยาลัยเกียวโตนั้นมีชื่อเสียง อิชชาบาละโกะโก้หร่านจะตาย มหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศนะ มหาวิทยาลัยที่ว่ากันว่า มีแต่ “อีลิต” ต่อให้เป็นอีลิตแนวซ้ายๆ หน่อยก็เหอะ คนที่จะเข้าเรียนที่ที่ได้คือเหล่าหัวกะทิของกะทิ ทั้งนั้น ฉันก็จินตนาการว่า มหาวิทยาลัยต้องโก้หรูดูดี

แต่ปรากฏว่า โอ้…นี่มหาวิทยาลัยหรือป่า! มีตึกเก่าๆ แบบตึกทำจากอิฐต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งขรึมๆ แก่ๆ ท่ามกลางแมกไม้ และมีฉากหลังเป็นภูเขา มหาวิทยาลัยไม่มีรั้วเป็นทางการอะไรนะ แนวรั้วเป็นกำแพงหินกับต้นไม้ และไม่มีป้ายชื่อมหาวิทยาลัยแบบใหญ่เท่าถนนทั้งสายอะไรแบบนั้น ไม่มี มีป้ายเล็กๆ ไม่สังเกตก็ไม่เห็น (อาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักจนไม่ต้องมีป้ายก็เป็นได้)

ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยจักรยาน จักรยาน และจักรยาน กับคนหน้าตาเนิร์ดๆ เต็มไปหมด

 

 

เราไปถึงช่วงเปิดภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ ซากุระบานสะพรั่งไปทั้งมหาวิทยาลัย มีอะไรแตกต่างจากมหาวิทยาลัยในไทยที่ฉันคุ้นเคย อย่างแรกคือความร่มรื่น ใกล้ๆ สหกรณ์ เป็นสระน้ำใต้ร่มซากุระ ตรงนี้ มีนักเรียนเอากล่องข้าวมานั่งกินตอนเที่ยง บ่ายๆ ก็มากดกาแฟจากตู้หยอดเหรียญมาจิบ อีกจำนวนมากนั่งสูบบุหรี่

ใช่ ในมหาวิทยาลัยมีตู้ขายบุหรี่ มีเบียร์ขาย แต่ก็ไม่เห็นใครเมาเหล้าในมหาวิทยาลัย ความที่ไม่มีอะไรเป็นของต้องห้าม ทุกคนก็อยู่กับสิ่งเหล่านี้แบบผู้ใหญ่

และสิ่งที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยไทยคือ ที่นี่ไม่มีชุดนักศึกษา ทุกคนจึงเหมือนมนุษย์ “ผู้ใหญ่” ที่แต่งตัว ทำสีผม ทำเล็บ ทำงานพิเศษ เรียน สูบบุหรี่ ฯลฯ สามารถใช้ชีวิตคิดอะไรได้เองอย่างผู้ใหญ่คนหนึ่ง.

สำหรับใครที่พลาดตอนก่อนหน้า สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

TAGS

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ