ฉันคือผู้เขียนหนังสือโตเกียวคราฟท์เบียร์ค่ะ ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้บอกเรื่องนี้กับใครในวงกว้าง แต่จู่ๆ ก็เกิดความคิดอยากเล่าถึงสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ตัดสินใจทำ จึงขอนำมาเล่าผ่านเรื่องราวของคราฟต์เบียร์เล็กๆ เจ้าหนึ่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ในคาเฟ่มังสวิรัติอีกที ที่นี่คือ ‘Yorocco Beer’  

ภาพคนนั่งดื่มเบียร์ยามบ่ายหรือสายๆ ของวันหยุด ดื่มเงียบๆ คุยกันเบาๆ ในร้านที่ตกแต่งให้มีบรรยากาศเหมือนบ้าน ที่ฉันเห็นในคลิปวิดีโอของคราฟต์เบียร์แห่งนี้ คือสิ่งที่กระตุกความรู้สึกของฉันอย่างแรง ไม่ใช่เพราะภาพสวยนั้นชวนหลงใหลเท่านั้น แต่เพราะเป็นภาพบรรยากาศการดื่มเบียร์ที่ฉันไม่คุ้นเคยเอาเสียเลยในประเทศของเรา วันที่ฉันได้ยินคำว่าคราฟต์เบียร์และโลคอลเบียร์ครั้งแรก จึงมองเห็นเบียร์ในมิติที่ไม่เคยเห็น ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มเพื่อให้เมา แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม อยู่ใกล้ชิดชีวิตผู้คน และเช่นเดียวกับอาหารเครื่องดื่มทุกชนิด ที่เมื่อปรุงอย่างพิถีพิถัน เติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป ก็อาจเรียกเป็นงานฝีมือได้เลย

 

คุณคิชิเซะ อะกิโอะ (Kichise Akio) เจ้าของร้าน Yorocco Beer ในเมืองสุชิ (Zushi) จังหวัดคานางาวะ (Kanagawa)

 

‘Yorocco Beer‘ เกิดจากความตั้งใจของคุณคิชิเซะ อะกิโอะ (Kichise Akio) ชาวเมืองโยโกฮาม่า (Yokohama) ที่ย้ายมาอยู่เมืองสุชิ (Zushi) เมืองเล็กๆ ติดทะเลในจังหวัดคานางาวะ (Kanagawa) เพราะหลงใหลการเล่นเซิร์ฟ ประมาณสิบปีก่อนเขามีโอกาสได้รู้จักคราฟต์เบียร์และพบว่า นี่ล่ะ คืออาชีพที่เขาอยากทำไปตลอดชีวิต จากนั้นจึงเดินทางเรียนรู้จากผู้ผลิตเบียร์หลายแห่งทั้งในและนอกประเทศ จนเริ่มทำโรงหมักเบียร์เล็กๆ เมื่อปี ค.ศ. 2012 โดยเริ่มจากบรรจุเบียร์ใส่ขวดขายตามงานเทศกาลต่างๆ ในเมืองสุชิและละแวกใกล้เคียง

เรื่องราวของคุณอะกิโอะ อาจฟังดูไม่ต่างจากบรูว์มาสเตอร์คนอื่นๆ นัก ฉันคิดว่า การได้ใช้พลังของวัยหนุ่มสาว ทุ่มเทศึกษาเรียนรู้เรื่องที่หลงใหลให้ลึกซึ้งเป็นสิ่งที่เท่มาก แม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกตราว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมในบ้านเราเมืองเราและไม่ควรสนับสนุน แต่เรื่องราวของคุณอะกิโอะ และคนทำเบียร์อีกหลายคนที่ฉันได้ฟังมา ยิ่งทำให้มั่นใจว่าควรทำหนังสือเล่มนี้  

การหมักเบียร์ให้ได้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์มากมายที่จะต้องทำความเข้าใจ และไหนจะเรื่องของรสชาติ ที่ต้องอาศัยรสนิยมในการสร้างสรรค์ ใครคิดว่าการทำเบียร์บรรจุขวดขายให้ลูกค้าเป็นเรื่องเล็กๆ คงคิดผิด เพราะทุกขวดที่เปิดส่งให้กับลูกค้าหมายถึงความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ความอร่อยแต่รวมถึงความปลอดภัย กำลังการผลิตของโรงหมักขนาดย่อม และต้นทุนวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี ทำให้คราฟต์เบียร์ราคาสูงกว่าเบียร์เจ้าใหญ่จากโรงงานยักษ์ ผู้ทำต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ดื่มไว้อีกไม่น้อย

ที่ร่ายยาวมานี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การกระโดดไปทำคราฟต์เบียร์นั้น ถ้าใจไม่รักจริง ไม่ทุ่มเทจริง คงไม่ทำ แต่คุณอะกิโอะแสดงถึงความมุ่งมั่นที่อยากให้เมืองเล็กๆ ที่เขาอาศัยอยู่มีเบียร์ประจำท้องถิ่น เช่นเดียวกับร้านขนมปังอบสดใหม่ที่มีอยู่ทุกเมือง ทำให้คนมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน และช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าจะหาของดีๆต้องไปเมืองใหญ่เท่านั้น และเขายังมีส่วนช่วยสนับสนุนกิจการท้องถิ่นอื่นๆ มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมดีๆ เพื่อให้กิจการร้านค้าเล็กๆ ยังอยู่ได้ ไม่ถูกร้านค้าปลีกของบริษัทยักษ์ใหญ่กลืนไปเสียหมด เหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 2011 ทำให้เขาประจักษ์ว่า เมื่อถึงคราวต้องเผชิญภัยภิบัติ มีเพียงคนและร้านค้าท้องถิ่นเท่านั้นที่โอบอุ้มกันและกัน ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ไม่ใส่ใจ

Yorocco Beer มีจำหน่ายในเมืองสุชิและเมืองใกล้เคียงเท่านั้น เขาไม่ได้ตั้งเป้าให้เบียร์ของเขาโด่งดังยิ่งใหญ่ แต่อยากให้คนจากทั่วโลกที่มาเยือนที่นี่ได้ลิ้มรสเบียร์ประจำถิ่นรสชาติดี เบียร์ของเขาไม่ได้มีค่าแค่น้ำเมา แต่เป็นทูตประจำเมือง เป็นเครื่องดื่มแบ่งปันความสุขที่ชวนให้คนแปลกหน้าเปิดใจรู้จักกัน และยังเป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย

 

Facebook : www.facebook.com/yoroccobeer

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ