Church of the Light

สถาปัตยกรรมร่วมสมัยอาจไม่ใช่จุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาญี่ปุ่น จุดหมายหลายที่เป็นวัด วัง ที่สร้างด้วยไม้ อายุหลายร้อยปีเสียส่วนใหญ่ ด้วยภาพจำของญี่ปุ่นคือเมืองวัฒนธรรมเก่าที่ผสานใหม่ที่น่าสนใจ แต่กับเหล่าสถาปนิก กล่องคอนกรีตรูปทรงเรียบง่ายแห่งหนึ่งกลับเป็นจุดหมายที่อยากมีประสบการณ์สักครั้ง

 

โบสถ์แห่งแสง “Church of the Light” กล่องคอนกรีตรูปทรงเรียบง่าย

“Church of the Light” บนทางแยกในย่านชุมชนในอิบารากิ (Ibaraki)

 

ในยามบ่ายของวันอาทิตย์ที่ฝนโปรยปราย ทำให้การเดินทางดูหนาว เฉอะแฉะกว่าที่ควรจะเป็น ผมก็พาตัวเองมาถึงโบสถ์แห่งแสง Church of the Light” บนทางแยกในย่านชุมชนในเมืองอิบารากิ (Ibaraki) จังหวัดโอซาก้า โบสถ์คอนกรีตหลังเล็ก ฝีมือการออกแบบของ ทะดะโอะ อันโดะ (Tadao Ando) เป็นจุดหมายให้ผมมาเยี่ยมเยือน เพราะเป็น 1 ในศาสนสถานแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ควรมาเยือน มันกลายเป็นกรณีศึกษาที่ผมใช้อ้างอิงเป็นประจำในวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม

 

โบสถ์แห่งแสง “Church of the Light” โบสถ์คอนกรีตหลังเล็ก ฝีมือการออกแบบของ ทะดะโอะ อันโดะ (Tadao Ando)

บรรยากาศข้างนอกของ Church of the Light

 

เพื่อจะเข้ามายังโบสถ์แห่งแสง ต้องผ่านทางเข้าที่เป็นคอนกรีตโค้งเล็กน้อย ดูแคบจนยากที่รู้ว่ามีอะไรอยู่ภายใน บนทางแยกระหว่างทางซ้ายเพื่อเข้าไปโบสถ์แห่งแสง แยกขวาไปยังโรงเรียน ผมพาตัวเองไปลงทะเบียนที่โรงเรียนก่อน จากนั้นจึงเดินผ่านผู้คน ผ่านกรอบคอนกรีต เพื่อให้เห็นกางเขนแสงนี้ด้วยตาตัวเอง

 

บรรยากาศโดยรอบของ Church of the Light

 

สายตาผมปรับตามสภาพแสง จากสว่าง สลัว สู้มืด พลันนั้นภาพที่ว่างในโบสถ์คริสต์ที่คุ้นเคยแบบไม่ชินตาก็ปรากฏขึ้น ภาพจำของโบสถ์คริสต์คือโถงสูงที่ปลายทางเดินจะมีไม้กางเขนแขวนอยู่ แต่ที่นี่ปลายทางเป็นการเจาะช่องคอนกรีตเป็นรูปไม้กางเขนขนาดใหญ่จากพื้นจดฝ้าแทน มันให้ความรู้สึกสงัดและจำยอมไปกับขนาดของแสงที่เป็นตัวแทนพระเยซู

 

ข้างใน Church of the Light

 

ในความมืด กล่องคอนกรีตต้องแสงสลัวจนเป็นที่ว่างศักดิ์สิทธิ์

โบสถ์แห่งแสงในแบบแรก โบสถ์แห่งแสงจะไม่มีหลังคา อันโดะเสนอแบบไม่มีหลังคาท่ามกลางความงุนงงของชาวบ้าน และชาวบ้านต่างก็มีคำถามมากมายถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่มีหลังคา ทั้งแดด ทั้งฝน ทั้งหิมะ ที่จะกระหน่ำลงมาเวลาใช้งาน แต่ในท้ายที่สุดชาวบ้านในชุมชนต่างรวบรวมทุนทรัพย์จนเพิ่มหลังคาได้ในที่สุด

 

 

ในความบังเอิญ นับว่าเป็นโชคดี

อันโดะบอกถึงการออกแบบโบสถ์แห่งแสงว่า เขาเพียงสร้างกล่องแห่งความมืด จากนั้นเจาะช่องแสงบางให้แสงคม ก่อเกิดความสลัวที่ชัดเจน มันช่วยให้ความมืดมีค่าในปริมาตรของโบสถ์แห่งแสง แม้ว่าวัสดุหลักสร้างจากคอนกรีต แต่การรู้จักสร้างลูกเล่นกับแสง ทำให้ภายในดูไม่อึดอัด คอนกรีตหลายแผ่นดูลอยออกมาจากตัวมันเอง ผมสังเกตเหล่าผู้มาเยือน ทุกคนใช้เวลากับการเพ่งกางเขนแสง หลายคนดั้นด้นมาเสพความว่าง แสง และเงา

 

บรรยากาศข้างใน Church of the Light

 

ผมลองถามเหล่าผู้ชมแสงว่า เป็นสถาปนิกหรือนักเรียนสถาปัตย์หรือไม่? ด้วยความสงสัย น่าแปลกที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่สถาปนิก หรือนักเรียนสถาปัตย์ ทำให้ผมทึ่งกับการให้ความสำคัญของงานออกแบบในสังคมญี่ปุ่น

ออกจากโบสถ์แห่งแสงแล้ว ลองมาชม Sunday School ที่ตั้งอยู่ข้างกัน หลังจากที่อันโดะได้ออกแบบโบสถ์แห่งแสง จนสร้างเสร็จในปี 1989 ….10 ปีต่อมา อันโดะ ได้ออกแบบ Sunday School ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเติมข้างกัน อันโดะใช้วิธีถอยผนังให้เป็นฉากรับแสงจากด้านบนและด้านข้าง มันช่วยลดความกระด้างของคอนกรีตลง คานคอนกรีตที่พาดทะลุจากระนาบภายนอกสู่ในโรงเรียน ในเวลาราว 11:00-12:00 น. มันจะกลายเป็นเข็มเวลาให้กับที่ว่างภายใน ภายในโรงเรียนดูสว่าง แต่โบสถ์แห่งแสงดูสลัว มันกลายเป็นคู่ตรงข้ามที่ขนานกัน มันส่งเสริมกันเป็นอย่างดี

มันยากอยู่เช่นกันที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่มีจุดประสงค์หลักสำหรับกิจกรรมอื่น สุดท้ายมันกลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจากหลายมุมโลกต่างก็อยากมาเยือน แต่มันเป็นสิ่งที่สถาปนิกไร้ปริญญาอย่างอันโดะทำได้

บันทึกของทางโบสถ์เล่าว่า เมื่ออันโดะมาถึงที่ตั้งพร้อมกับโมเดลงานนี้ เขาสดใสเหมือนเด็กชายกับของเล่นใหม่ให้กับอิบะระกิ. 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

ปล.1 การเข้าชมควรจองจากเว็บไซต์ของทางโบสถ์ ซึ่งจะระบุวันเวลาที่เข้าเยี่ยมชมได้ในแต่ละสัปดาห์ ควรจองล่วงหน้า 2-2 เดือนครึ่ง เพราะคิวยาว http://ibaraki-kasugaoka-church.jp/e-forvisitors.html

ปล.2 การเดินทางเริ่มจากสถานีรถไฟ ต่อด้วยรถเมล์สาย 2 เวลาเดินรถดูได้จากภาพตารางเวลาด้านล่าง

 

 

ปล.3 ที่โบสถ์จะมีโปสการ์ดภาพโบสถ์แสงจำหน่าย ถ้าเป็นแบบที่มีลายเซนอันโดะด้วย ราคา 1,000 เยน ขอแนะนำให้เหล่าสาวกอุดหนุนเพื่อความฟิน

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ