ให้ทายว่าที่นี่ที่ไหน?

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

เท้าของใครสักคน วางสบายๆ ราบกับพื้นไม้สีสุขุม ตอนที่เห็นใครคนนี้นอนหลับอยู่บนพื้น ฉันรู้สึกได้เลยว่า ‘เขาไปสบายแล้ว’ คือช่างนอนได้สบายมาก น่าอิจฉามาก และน่าเก็บภาพไว้มาก ถ้าไม่ได้อยู่ในสถานที่จริง และได้เห็นแต่ภาพถ่ายใบนี้ฉันคงคิดว่าเป็นเท้าของคนที่กำลังหลับอยู่ในบ้านแน่ๆ แต่เพราะฉันเองได้อยู่ในสถานที่จริง ก็เลยรู้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้าน แต่เป็น ‘ออนเซ็น’ สาธารณะต่างหาก

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38
ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

ออนเซ็นบุชโชซัง (Busshozan Onsen) เป็นหนึ่งในโรงอาบน้ำร้อนที่ดีที่สุดในเมืองทะกะมะสึ จังหวัดคะงะวะ ในประเทศแห่งดวงอาทิตย์เลยค่ะ ฉันได้โฉบไปเยี่ยมๆ มองๆ ที่นี่ในช่วงเก็บข้อมูลมาเขียนไกด์บุ๊ก ‘Kagawa Memories-วันเวลาในคางาวะ’  แล้วรู้สึกประทับใจ ไม่ใช่การอาบน้ำหรือน้ำร้อนที่นี่หรอกนะที่ชวนให้ฉันถูกใจเป็นพิเศษ แต่ที่ชอบใจที่สุดคือบรรยากาศภายในห้องโถงในอาคารส่วนหน้า ที่ทั้งโปร่งโล่ง สะอาดตา และเรียงรายไปด้วยหนังสือนิทาน พ็อกเก็ตบุ๊กโปสการ์ด ของทำมือชิ้นย่อมๆ แถมยังอวลไปด้วยกลิ่นอุ่นๆ ของอาหารว่างจากคาเฟ่ที่แฝงตัวอยู่ด้วยกันกับห้องสมุด

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38
ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

‘นี่คือออนเซ็นจริงเหรอ ทำไมถึงได้ครบครันขนาดนี้ ทำไมถึงได้มีหนังสือ มีงานศิลปะทำมือ และนิทานสำหรับเด็กๆ อยู่ในออนเซ็นด้วย?’ คำถามทำนองนี้ผุดขึ้นในหัวใจ ชวนให้สมองขบคิดหาคำตอบ ฉันรู้สึกได้อย่างจริงจังว่าชาวญี่ปุ่นมักจัดสรรให้ การอ่าน การออกแบบศิลปะ และการศึกษา ได้มีพื้นที่ผสานอยู่ในหลายหน่วยหลายอณูของชีวิต

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38
ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

ออนเซ็นบุชโชซังถูกออกแบบไว้อย่างดี แม้จะเป็นโรงอาบน้ำในประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ยังอนุรักษ์สืบทอดหลายสิ่งหลายอย่างมาจากคนในยุคโบราณ แต่รูปแบบของโรงอาบน้ำแห่งนี้ก็ไม่ได้ ‘เชย’ เลยแม้แต่นิดเดียว ออกจะดูร่วมสมัย เข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองในฐานะของคนนิยม ‘ความน้อย’ ฉันสัมผัสได้ว่าความน้อยขององค์ประกอบที่มองเห็นจากการจัดการพื้นที่ที่นี่ไม่ใช่ความง่าย ทุกอย่างผสมกันจนลงตัวด้วยความตั้งใจ ทั้งพื้นที่ของอากาศธาตุและข้าวของที่ถูกคัดสรรมาวางล้วนเกิดจากการการคิดมามากพอสมควร เหมือนนักออกแบบล่วงรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สมควรจะอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ และในชีวิตของผู้คนที่นี่

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

น่ารักเหลือเกินที่พื้นที่โล่งๆ ถูกเติมด้วยหนังสือและชิ้นงานเล็กๆ ที่ก่อร่างสร้างขึ้นมาจากความสร้างสรรค์

หนังสือกับชิ้นงานศิลปะไม่ใช่อาหาร กินไม่ได้ พูดกันตามตรงแล้วสำหรับใครบางคน มันไม่ใช่ของสำคัญอะไร และดูจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องมี แต่เพราะอะไรในประเทศหรือเมืองที่ให้ความสำคัญกับ ศิลปะ การอ่าน และการศึกษา จึงมักเป็นประเทศที่พัฒนาไปไกลและโดดเด่น?

เพราะอะไรหนอ?

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

ฉันมองดูเท้าคู่นั้นเหยียดยืดผ่อนคลายบนพื้นไม้ภายในโถงพักผ่อนในออนเซ็นด้วยความรู้สึกพิเศษบางประการ ฉันว่าเท้าเป็นอวัยวะที่น่าสนใจนะ โดยปกติเท้าเป็นฐานของร่างกาย เราใช้เท้าออกเดินและนำพาตัวเราไปในที่ต่างๆ แต่เท้าเองก็ต้องการช่วงเวลาของการพักฟื้นหรือสะสมพลังเหมือนกัน

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38
ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

การได้เจอบางพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ได้ถอดรองเท้าออก และปล่อยให้เท้าได้วางลงเพื่อพักจากหน้าที่เดินเหิน (จนกระทั่งไปถึงขั้นไว้วางใจพอที่จะให้ดวงตาและร่างกายงีบหลับไป) ดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่น่าสังเกตอยู่เหมือนกัน ที่ที่เป็น ‘ฐาน’ ให้ฐานของร่างกายได้พักผ่อนเอาแรงได้ จะว่าไปแล้วก็มีไม่กี่ที่ ที่นึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือบ้านซึ่งเป็นที่ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี

 

ขอบคุณภาพจาก https://goo.gl/iZWT38

 

สำหรับฉันแล้ว ออนเซ็นบุชโชซังเป็นเหมือนฐานทัพที่ถูกบรรจงบรรจุไว้ด้วยวันเวลาแห่งการอ่าน สุนทรียภาพ การชำระร่างกายและการขัดเกลาหัวใจ ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายที่ว่ามาเป็นเสมือนฐานรองรับของการมีชีวิตที่ดี เป็นฐานที่ช่วยดูแลฐานร่างกายอีกทีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อคนเราได้ชาร์จพลังจนเต็ม ก็มีเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นทำอะไรต่างๆ ในชีวิตได้อีกมาก

เมื่อเท้าคู่หนึ่งได้วางพักบนพื้นที่ดีๆ จนหายเหนื่อยล้าก็ย่อมพร้อมที่จะหยัดขึ้นยืนขึ้นเพื่อออกเดินไปข้างหน้า

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ