คนนอกหรือไม่?

อย่างที่ผมเคยเขียน ไปประเทศไทยทีไรผมก็ใช้ “โปรโมชั่นต่างชาติ” ทุกที จริงๆ ไม่ต้องจงใจใช้ก็ได้หรอก พออีกฝ่ายรู้ว่าผมเป็นคนญี่ปุ่นที่พูดภาษาไทยได้ระดับหนึ่งก็ให้การยอมรับบางอย่างด้วยรอยยิ้มกว้างๆ โดยแทบจะอัตโนมัติ (แต่เพื่อนๆ ที่รู้จักผมนานๆ กลับไม่ให้ผมใช้โปรฯ นี้อย่างง่ายดาย มาชี้ว่าภาษาไทยของนายผิดเพี้ยนตรงนี้ตรงนู้น! เรียนภาษาไทยมาตั้งหลายปียังจะพูดสำเนียงญี่ปุ่นๆ ได้! ฯลฯ)

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์บางประการที่ทำให้รู้สึกว่าผมเป็น “คนนอก” และสัมผัสได้ถึงเส้นแบ่งที่มองไม่เห็นซึ่งขีดไว้ระหว่างผมกับคนไทย ในบางครั้งผมไม่สามารถยินดี/เศร้า/สนุก/โกรธตามเพื่อนๆ คนไทยได้ ถึงจะพยายามทำ มีเสียงลับๆ ดังขึ้นข้างในของหูว่า “นายมีสิทธ์อะไรจะจุ้นจ้านเขา” หรือ “นายคิดจริงๆ เหรอว่านายสามารถรู้สึกร่วมกับเขาได้?”

ใช่ว่าผมน้อยใจ ดูถูกคนไทยหรือถูกเลือกปฏิบัติ แต่ผมพูดถึงความเป็นจริงบางอย่างที่ผมรับรู้มากกว่า

หลังจากผมเริ่มสอนภาษาไทยในวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่โตเกียว ผมสังเกตว่ามีนักศึกษาหลายคนที่เป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นเข้าเรียนภาษาไทย พวกเขาเติบโตในญี่ปุ่นและพูดภาษาไทยไม่ได้ หรือมีบางคนที่พ่อแม่ทั้งสองเป็นคนไทยแต่ตัวเองพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ (ปีหนึ่งจะมีเด็กที่เลือกเรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก 6-10 คน ราวครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น)

ตามสถิติของกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น มีประชากรคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นราว 47,000 คน

(ปี 2559) การที่มีลูกครึ่งไทยในสังคมญี่ปุ่นจึงถือได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เหล่าลูกๆ ที่ต้องการเรียนภาษาไทยใช่ว่าสบายอกสบายใจและอยู่เย็นเป็นสุขมาตลอดไม่

เท่าที่ได้ยินได้ฟังจาก น.ศ. พ่อแม่ (ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่) คนไทยมักทำงานในร้านอาหารไทยหรือไม่ก็ร้านนวดแผนโบราณไทยแถวชานเมืองโตเกียว พ่อแม่เหล่านั้นใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนคนไทยมากกว่าเข้าไปคลุกคลีกับคนญี่ปุ่นซึ่งผมก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องน่าปวดหัวแล้วในประเทศที่ไม่เปิดกว้างแก่คนต่างชาติอย่างญี่ปุ่น พ่อแม่เหล่านั้นจึงไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น

และจะส่งผลกระทบต่อลูกๆ ด้วย นักศึกษาที่ผมสอนบางคนบอกว่าคุยกับพ่อแม่แล้วแทบไม่เคยรู้เรื่องตลอด 18 ปีในชีวิตของเขา หรือบางคนบอกว่าต้องไปช่วยเป็นล่ามให้กับพ่อแม่เวลาพ่อแม่ไปทำธุระที่ที่ทำการเทศบาลทุกครั้ง แต่ตัว น.ศ. เองก็ไม่เคยเรียนภาษาไทย การสื่อสารให้เข้าใจนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อยข้างลำบากทีเดียว ปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่ทำให้พวกเขาหันไปสนใจเรียนภาษาไทย

นักศึกษาลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นมักมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนนอก” หรือไม่ก็ “ไม่มีที่ไป/สังกัด” มาตลอด มี น.ศ. เคยเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ มักถูกเพื่อนๆ แกล้งว่าไอ้ต่างชาติเพราะสีผิว สำเนียง ชื่อของตนหรือรูปหน้า พอไปเมืองไทยก็ถูกคนเดินผ่านแซวว่าอายิโนะโมะโต๊ะ และสื่อสารกับญาติๆ ด้วยภาษาไทยก็ทำไม่ได้

คำถาม “ตัวเองเป็นใครกันแน่?” ผุดขึ้นมาในใจพวกเขา ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก แต่สภาพแวดล้อมเอื้อเฟื้อให้ผมใช้ “ความเป็นคนนอก” เป็นประโยชน์ให้แก่ตนหรือแรงจูงใจในการทำงาน (หรือการดำรงชีวิต) ตลอด แต่สภาวะของพวกเขาดูเหมือนยิ่งสับสนกว่ากรณีของผม อย่างน้อย ผมมีที่ที่พอจะกลับไปได้ (แม้ผมไม่ชอบประเทศของตนก็ตาม)

ขาดซึ่งการรับรอง การยอมรับ และความสัมพันธ์ เกิดการสั่นคลอนทางอัตลักษณ์ ชีวิตคนนอกนั้นช่างยากเย็นเหลือเกิน.

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ