แบรนด์สินค้าญี่ปุ่นที่หลายคนคุ้นตา
รู้หรือไม่ว่า ชื่อแบรนด์เหล่านั้นมีที่มาจากไหน?

มีสินค้าญี่ปุ่นมากมายที่คนไทยคุ้นหูคุ้นตา และสินค้าที่ใช้กันอย่างคุ้นมือเหล่านั้น ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ทราบกันหรือไม่ว่าชื่อผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์เหล่านั้นมีที่มาจากอะไรบ้าง ในครั้งนี้เราจึงนำชื่อแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นมาแนะนำที่มาที่ไปของชื่อให้ทราบกันค่ะ

 

 1. Canon

คำว่า Cannon มาจากไหน? แบรนด์กล้องถ่ายรูประดับโลก มีจุดเริ่มต้นมาจาก “KWANON” กล้องถ่ายรูปตัวแรกสมัยยังเป็นศูนย์วิจัย ซึ่งตั้งชื่อดังกล่าวขึ้นจากคำว่า “คันนง” ชื่อของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิมในภาษาญี่ปุ่น เมื่อก่อตั้งเป็นบริษัทก็ได้นำคำนี้ มาใช้ร่วมกับคำว่า Canon ในภาษาอังกฤษ ที่มีความหมายถึงคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือกฎเกณฑ์ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของบริษัทที่จะผลิตอุปกรณ์ชั้นยอด ถูกต้อง แม่นยำ ในทุกอณูของชิ้นงาน

ตัวโลโก้ของ Canon มีการเปลี่ยนดีไซน์มาหลายต่อหลายครั้ง แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยนับตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา คือเส้นหักเข้าด้านในของตัวอักษร C ที่ไม่ซ้ำกับแบรนด์ใดๆ ในโลกเลยในสมัยนั้น ตัว C หักเข้านี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ Canon ซึ่งเน้นความแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร จึงคงเอาไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

 

2. SONY

 

It’s a SONY ชื่อนี้ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น แต่เป็นการเล่นคำภาษาละติน “SONUS” แปลว่าเสียง กับคำว่า “SONNY” จาก Sonny Boy ซึ่งให้ภาพของวัยรุ่นกระตือรือร้นเปี่ยมด้วยพลังงาน ภาพลักษณ์ของแบรนด์โซนี่จึงโดดเด่นที่ความโฉบเฉี่ยวและทันสมัย

 

 

3. KYOCERA

 

เคียวเซร่า เครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องครัวของใช้ประจำสำนักงานและบ้านใครหลายๆ คน ที่มาของชื่อมาจากผลิตภัณฑ์ในตอนก่อตั้งบริษัทและที่ตั้งบริษัท คือเป็นคำย่อของ Kyoto Ceramic

 

 

4. UNIQLO

 

UNIQLO แบรนด์เสื้อผ้าแสนเรียบง่าย เน้นการใช้งาน ได้รับความนิยมล้นหลามแม้แต่ในไทย แท้จริงแล้วเป็นคำย่อ มาจาก Unique Clothing Wearhouse ออกมาเป็น UNICLO แต่เมื่อปี 1988 ตอนก่อตั้งบริษัทร่วมทุนที่ฮ่องกง เกิดความผิดพลาดขึ้น พิมพ์ตัว C ผิดเป็น Q แต่ประธานกรรมการขณะนั้นมองว่าเท่ดี จึงใช้คำว่า UNIQLO มานับตั้งแต่ตอนนั้น

 

 

5. GLICO

 

บริษัทผู้ผลิตขนมที่ทุกคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะ Pocky, Pretz, Colon, Bisco และอื่นๆ อีกมากมาย เชื่อหรือไม่ คำว่า GLICO ย่อมาจากคำว่า Glycogen (ไกลโคเจน) หรืออาหารสะสมในร่างกายประเภทคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นพลังงานให้แก่ร่างกายของเรา GLICO ตั้งชื่อเช่นนี้ โดยตั้งใจผลิต ไกลโคเจนที่ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อยนั่นเอง

 

 

6. Yakult

 

“อยากรู้เรื่องยาคูลท์ ถามสาวยาคูลท์สิคะ” คำโฆษณาติดหูของนมเปรี้ยวรสอร่อย ชื่อแบรนด์นี้ไม่ใช่ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาเอสเปรันโต คำว่า “Jahurto” ซึ่งแปลตรงๆ ตัวว่าโยเกิร์ต แต่นำมาเปลี่ยนวิธีเขียน โดยคงให้คำอ่านออกเสียงตามที่เขียนโดยตัวอักษรญี่ปุ่นคงเดิม จนได้มาเป็นชื่อแบรนด์ Yakult ที่ใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน อนึ่ง ภาษาเอสเปรันโตเป็นภาษาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ไม่ใช่ภาษาของประเทศหรือเผ่าพันธุ์ใดอย่างเจาะจง สร้างโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นภาษาสากลของโลก

ส่วนสาวยาคูลท์ หรือที่ในญี่ปุ่นเรียกว่า ยาคูลท์ซัง หรือยาคูลท์เลดี้เอง ก็เป็นวิธีการขายที่บริษัทยาคูลท์คิดขึ้น เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1963 เพราะเล็งเห็นว่าผู้หญิงสามารถเข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งในยุคนั้นคนซื้อมักเป็นแม่บ้านได้ใกล้ชิดกว่า ซ้ำยังทำให้ติดตลาดโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณามากเท่าการวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย

 

 

7. Calbee

 

ข้าวเกรียบกุ้งแสนอร่อย กินกันทุกเพศทุกวัย คือชื่อบริษัทผู้ผลิตขนมชั้นนำมีขนมคู่บ้านของคนญี่ปุ่นมากมาย นอกจากข้าวเกรียบกุ้งที่คนไทยคุ้นกันดีแล้วก็ยังมีมันฝรั่งอบกรอบอย่างจากาลปี้ และจาการิโกะ ชื่อของบริษัท ได้มาจากการรวมสารอาหารสำคัญต่อร่างกายสองชนิด ได้แก่ แคลเซียม และ วิตามินบี1 โดยคำนึงถึงอนาคตว่าจะต้องสร้างสรรผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

 

 

8. Calpis

 

ไม่ได้มีเพียงข้าวเกรียบ Calbee ที่นำคำว่าแคลเซียมมาใช้ แต่นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม Calpis เองก็เช่นกัน ชื่อของผลิตภัณฑ์ จากแบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Asahi นี้มาจากคำว่า แคลเซียม และ Sarpis หรือเนยใส คล้าย Ghee ซึ่งทางพุทธศาสนาจัดเป็นหนึ่งในปัญจโครส หรือรสอันเกิดจากน้ำนมวัว 5 อย่าง ว่ากันว่า ในตอนแรกทางบริษัทตั้งใจใช้คำว่า Sarpi-Manda ที่ว่ากันว่ารสชาติอร่อยที่สุดในห้ารส แต่ยากจะแต่งให้เสนาะหูเมื่อรวมกับคำว่า Cal จึงเปลี่ยนมาเป็น Sarpis ซึ่งให้เสียงเพราะกว่าแทน

คนไทยหลายท่านอาจคุ้นกับชื่อ Calpico มากกว่า สาเหตุมาจากเมื่อตอน Calpis เข้าไปขายในอเมริกา ทางบริษัทกลัวว่าชื่อ Calpis จะไปออกเสียงคล้ายคำว่า Cow Piss ในภาษาอังกฤษ จึงเขียนภาษาอังกฤษว่า Calpico แต่คงโลโก้ภาษาญี่ปุ่นตัวอักษรคาตาคานะเอาไว้

 

9. SUNTORY

 

บริษัทผลิตเครื่องดื่มระดับโลกนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากประธาน Torii ซึ่งเดิมนำเข้าไวน์จากประเทศสเปนมาขายในญี่ปุ่น เริ่มต้นผลิตและจำหน่ายไวน์หวานของตัวเองชื่อว่า Akadama Port Wine คำว่า Akadama หมายถึงลูกกลมๆ สีแดง หรือพระอาทิตย์เหมือนในธงชาติประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง เมื่อถึงคราวต้องคิดชื่อบริษัท เขาจึงนำคำว่า Sun มาต่อกับชื่อ Torii ของตัวเอง ได้ออกมาเป็น SUNTORY

แต่ก็มีมุกตลกที่หลายคน โดยเฉพาะชาวต่างชาติพูดเล่นกันมานานจนคนหลงเชื่อกัน ว่าชื่อ “ซังโทรี่” มาจากการอ่านชื่อประธาน “โทรี่ ซัง” กลับหน้าหลัง แล้วใส่ตัวอักษรภาษาอังกฤษที่มีความหมายลงไปเป็น “SUNTORY”

 

 

10. MOS BURGER

 

เบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นที่เอาชนะแม้แต่แบรนด์ระดับโลกอย่าง McDonald ได้ขาดลอย Mos Burger คือร้านเบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ มีจุดเด่นคือเป็นเบอร์เกอร์ที่ไม่ใช่ฟาสต์ฟู้ด ใช้ผักปลอดสารปลูกในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น และปรุงอาหารหลังได้รับออร์เดอร์ แต่ทราบกันหรือไม่ว่าชื่อ MOS มีความหมายอย่างไร

MOS เป็นอักษรย่อของภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ Mountain (ภูเขา), Ocean (มหาสมุทร) และ Sun (พระอาทิตย์) แฝงความหมายว่า อัดแน่นด้วยความรักต่อมนุษยชาติและธรรมชาติ ในแบบที่ “สูงส่งอย่างน่าภาคภูมิเช่นภูผา ด้วยหัวใจลึกล้ำและกว้างใหญ่เยี่ยงมหาสมุทร มีความเร่าร้อนเผาผลาญอย่างไร้วันมอดดับอย่างพระอาทิตย์”

 

 

11. Pentel

 

เครื่องเขียนคู่ใจ ใช้กันตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่ มีผลิตภัณฑ์ทั้งเครื่องเขียนและอุปกรณ์ศิลปะ สมัยประถมใช้สีชอล์ก โตขึ้นมาอีกหน่อยใช้ดินสอกดและปากกา เตรียมสอบด้วยปากกาไฮไลท์สีสวย พอเรียนศิลปะยังได้ใช้ปากกาพู่กัน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำสำหรับแบรนด์นี้

ชื่อ “เพนเทล” แสดงจุดยืนของแบรนด์และภาพรวมผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี เพราะรวบเอาความหมายไว้ถึง 2 ข้อ คือ ข้อแรก เป็นการรวมคำว่า Painting+Pastel หมายถึงอุปกรณ์วาดรูป และสีแท่งพาสเทล ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ Pen+Tell หมายถึง ปากกา และการบอกเล่าถ่ายทอด

 

 

12. Kao

 

หากพูดถึง Kao บางท่านอาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดชื่อ บิโอเร ไฮเตอร์ แอทแทค เชื่อว่าทุกคนจะต้องร้องอ๋อ ปัจจุบัน Kao มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย แต่ชื่อแบรนด์ได้มาจากผลิตภัณฑ์ตัวแรก คือสบู่ล้างหน้าคาโอในสมัยก่อน สบู่มีหลายประเภท มีทั้งสำหรับซักผ้าและล้างหน้า ทางบริษัทจึงเรียกผลิตภัณฑ์ตัวเองว่า Kao-Sekken แปลว่า “สบู่หน้า” แต่คำว่า “คาโอะ” ที่แปลว่าหน้าเฉยๆ ดูแข็งและน่าเบื่อเกินไป จึงคิดหาตัวอักษรคันจิความหมายดี เสียงอ่านใกล้เคียง ก่อนตกลงใจเลือก 花王 ซึ่งอ่านว่า “คาโอ” แปลว่าราชันย์แห่งดอกไม้

ส่วนโลโก้ใช้รูปพระจันทร์ เพราะผู้คิดเห็นว่าเป็น “สัญลักษณ์และความงามและสะอาด” ในตอนแรกพระจันทร์หันไปทางขวา แต่ภายหลังเปลี่ยนให้หันไปทางซ้าย เพราะว่าพระจันทร์หันทางซ้ายคือพระจันทร์ข้างขึ้นที่กำลังเคลื่อนสู่พระจันทร์เต็มดวง

 

 

13. DHC

 

เวชสำอาง และอาหารเสริม DHC มีใครเคยสงสัยหรือไม่คะว่า DHC ย่อมาจากอะไร ต้องไม่มีใครคิดฝันแน่นอนว่าคำนี้ย่อมาจาก “Daigaku Honyaku Center” ซึ่งแปลว่า “ศูนย์การแปลมหาวิทยาลัย” เพราะบริษัท DHC เดิมคือ บริษัทแปลเอกสาร ซึ่งเน้นแปลให้แก่ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก แต่ด้วยไหวพริบและวิสัยทัศน์อันนำสมัย จึงตัดสินใจจำหน่ายเวชสำอางที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ เช่นน้ำมันมะกอก 100% และพัฒนาเรื่อยมาจนในปัจจุบัน DHC เป็นเครือบริษัทที่มีทั้งเวชสำอาง เอสเต้ซาลอน ศูนย์การแปล สำนักพิมพ์ สถาบันการศึกษาไปจนถึงกิจการประมงและเฮลิคอปเตอร์เลยทีเดียว!!

 

 

14. Bridge Stone

 

ยางรถยนต์ระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่น เคยสงสัยกันหรือไม่ถึงที่มาของชื่อ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เลยแม้แต่น้อยนี้ เดิม Bridge Stone ใช้ชื่อบริษัทว่า Nippon Tire แต่เมื่อปีค.ศ. 1951 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Bridge Stone ตามชื่อสกุลของผู้ก่อตั้ง ชื่อว่าคุณอิชิบาชิ (Ishibashi) ที่เขียนด้วยตัวอักษรคันจิ 2 ตัวเรียงกันว่า 石橋 แปลทีละตัวได้ว่า ก้อนหิน และ สะพาน เริ่มเดากันได้หรือยังคะ ใช่แล้วค่ะ ชื่อแบรนด์นี้มาจากการแปลนามสกุลของผู้ก่อตั้ง เอามากลับหน้าหลังกันดื้อๆ จาก Stone+Bridge กลับแล้วต่อกันรวมเป็น BRIDGESTONE

 

 

 

15. Casio

 

นาฬิกา Baby-G เทรนด์ติดตลาดวัยรุ่นทุกยุคทุกสมัย เครื่องคิดเลขฟังก์ชันที่เหล่านักเรียนนักศึกษากดกันจนคล่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อีกมากมายนี้ก็เป็นแบรนด์ของญี่ปุ่นเช่นกัน ชื่อของแบรนด์นี้มาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งอีกแล้ว ชื่อ “คาชิโอะ” หากเขียนเป็นภาษาอังกฤษจะได้ว่า Kashio แต่หากเขียนแบบนั้น ไม่ว่าใครอ่านก็จะรู้ว่ามาจากญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งจึงเลือกใช้ชื่อ CASIO ซึ่งมีความ “อินเตอร์” และเข้าถึงคนต่างชาติได้มากกว่า ทั้งยังได้ผลเป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นแบรนด์ของประเทศอิตาลี! และทางบริษัทก็นำประเด็นนี้ต่อยอด โดยออกโฆษณาที่ใช้ Salvatore Cascio นักแสดงเด็กชื่อดังชาวอิตาลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์

 

 

 

16. FUMAKILLA

พูดชื่อ FUMAKILLA คนไทยอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าพูดว่า นี่คือบริษัทผู้ผลิตยากันยุงตราช้างคงคุ้นกันขึ้นมาทันใด ชื่อแบรนด์แปลกหูนี้มีที่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Fly (แมลงวัน) + Mosquito (ยุง) + Killer (ฆ่า) ที่ตัดเฉพาะพยางค์หน้าในภาษาญี่ปุ่นจะได้ออกมาเป็น Fumo Killa แต่ทางบริษัทนำคำดังกล่าวมาเปลี่ยนเสียง เพื่อให้เสนาะหูผู้ฟังมากยิ่งขึ้น จนได้ออกมาเป็น FUMAKILLA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คนไทยอาจคุ้นเคยยากันยุงแบบขดตราช้าง แต่ FUMAKILLA ในญี่ปุ่น จำหน่ายยากันยุงคู่บ้านชาวญี่ปุ่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบขด แบบไฟฟ้า ยาฉีดพ่น ยาทาตัว

 

 

17. SHUBUYA109

ห้างสรรพสินค้าชื่อดังใจกลางย่านชิบุย่า เป็นที่นิยมของทั้งวัยรุ่นชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่รู้หรือไม่จริงๆ แล้วเมืองไทยมีห้างสรรพสินค้าเครือเดียวกันอยู่ด้วย คือโตคิวนั่นเอง ชื่อ 109 มาจากคำว่า To(10) + Kyu(9) เป็นการเล่นคำชื่อของบริษัทโตคิวมาอีกทีหนึ่งค่ะ

 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ