คุณดูซีรีส์ญี่ปุ่นบ่อยแค่ไหนคะ

ฉันน่ะติดตามอยู่เรื่อยๆ เลยละ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้ฝึกภาษา อยู่เมืองไทยโอกาสที่จะได้ฟัง (พูด อ่าน เขียน) ภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยมี

นอกจากจะช่วยให้ไม่ลืมอะ อิ อุ เอะ โอะ แล้ว 😉 ยังได้เห็นภาพสะท้อนชีวิตหรือมุมมองของคนญี่ปุ่นในหลากหลายมิติ

ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันชื่นชอบซีรีส์ญี่ปุ่น คือญี่ปุ่นมีซีรีส์ที่สะท้อนชีวิตคนทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เรื่องที่ดูแล้วอินสุดๆ คือ จิมิ นิ สุโก้ย! โคเอ็ตสึ การุ โคโนะ เอ็ตสึโกะ (地味にスゴイ! 校閲ガール・河野悦子) หรือ Pretty Proofreader (เริ่มออกอากาศ ตุลาคม 2016) ดัดแปลงมาจากนวนิยายของอายาโกะ มิยากิ เล่าถึงหญิงสาวที่มีความฝันอยากทำงานนิตยสารแฟชั่น แต่กลับต้องมาเป็นคนตรวจปรู๊ฟ (พิสูจน์อักษร) ให้สำนักพิมพ์

ในแต่ละตอน ฉันได้เห็นวิธีการทำงานและวิธีคิดของเหล่ามดงานที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตหนังสือ

ปกติเวลาเราเห็นหนังสือสักเล่ม สิ่งแรกที่มักนึกถึงคือคนเขียนหรือคนออกแบบปกใช่ไหมคะ แต่ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้อีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังโดดเด่นขึ้นมา

โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงคนทำอาชีพพิสูจน์อักษร ฉันเดาว่าคงเห็นภาพคนที่มีบุคลิกเงียบขรึม เนิร์ดๆ แต่งตัวเรียบๆ (ในซีรีส์เรื่องนี้ก็ออกแบบให้ตัวละครในทีมพิสูจน์อักษรมีบุคลิกแบบนี้เป๊ะ!) แต่สำหรับตัวเอกของเรื่อง “โคโนะ เอ็ตสึโกะ” น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานในแผนกนี้ไม่เป็นตามสูตรเช่นนั้น เธอสนุกกับการแต่งตัวทุกวัน ประมาณว่าถ้าเห็นเธอเดินผ่านมา คงเดาไม่ออกหรอกว่าทำงานพิสูจน์อักษร เพราะเธอแฟชั่นจ๋า ไม่มีความจืดชืดใดๆ ปรากฏให้เห็น (“จิมิ” ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่าเรียบๆ ขรึมๆ) ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ภายนอกแบบที่เราๆ จินตนาการไว้

ในตอนต้นของเรื่อง โคโนะ เอ็ตสึโกะ ถูกทดสอบให้ตรวจหาคำผิด และเธอก็แสดงให้เห็นว่าไม่ค่อยชำนาญการใช้ภาษาญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ แต่เพราะบุคลิกช่างสังเกตช่างสงสัยของเธอ ทำให้หัวหน้าแผนกเห็นแววและรับเธอเข้ามาร่วมทีม วิธีคิดของเธอที่ดูแปลกแยกจากทีมพิสูจน์อักษรรุ่นพี่ ถือเป็นไฮไลต์ของซีรีส์ชุดนี้เลยละ

เพราะสิ่งที่เธอคิดและทำ (ซึ่งถูกต่อต้านในช่วงแรก) ค่อยๆ สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นในทีมได้เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการทำงานที่ดูเหมือนว่าน่าเบื่อหน่ายให้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ ประมาณว่าทำงานอาชีพไหนก็สนุกได้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับวิธีคิดของคุณเอง!

ฉันประทับใจวิธีการทำงานของเธอ เพราะการพิสูจน์อักษรสำหรับโคโนะ เอ็ตสึโกะ ไม่ใช่แค่เพียงการตรวจหาคำผิดและแก้ไขให้ถูกต้องตามที่พจนานุกรมกำหนดเอาไว้เท่านั้น แต่เธอทำงานออกไปจากกรอบของการนั่งอยู่กับโต๊ะเฉยๆ ความช่างสงสัยหรือชอบติดตามแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ ทำให้เธอมักออกไปหาข้อมูลข้างนอกบริษัท หลายครั้งเธอไปสอบถามข้อมูลจากผู้รู้จริง ไปดูโลเคชั่นที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ หรือเขียนคอมเมนต์ลงไปในต้นฉบับเพื่อแนะนำนักเขียนว่าทำไมไม่เขียนแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งในมุมมองของบรรณาธิการและเพื่อนร่วมงานต่างก็มีความเห็นว่าเธอทำเกินจากกรอบหน้าที่งานพิสูจน์อักษร

แต่ความเป็นตัวของตัวเองและการคิดนอกกรอบของเธอนี่แหละ ทำให้เห็นตัวอย่างสนุกๆ ในการทำงานพิสูจน์อักษร เช่น เธอลองปิดตาและฟันดาบไม้กับเพื่อนร่วมงานเพื่อพิสูจน์ว่าตัวละครในนวนิยายที่กำลังอ่านอยู่นั้นสมจริงมั้ย หรือเพื่อนร่วมงานของเธอทำโมเดลบ้านจำลองขึ้นมา เพื่อตรวจสอบว่าถ้าคนเขียนบอกว่ามองจากประตูนี้แล้วจะเห็นสิ่งของที่ตั้งอยู่อีกห้องจากมุมนั้นๆ ได้หรือไม่

ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ทำให้ฉันสงสัยว่าประเทศญี่ปุ่นมีนักพิสูจน์อักษรที่คิดและทำอะไรแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า (ลืมบอกไปค่ะว่า นอกจากทำงานขีดๆ เขียนๆ แล้ว ฉันยังทำสำนักพิมพ์ด้วย และจากประสบการณ์หลายปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบเคยเจอนักพิสูจน์อักษรที่มีลักษณะนิสัยและความจริงจังอย่างสนุกสนานกับงานเหมือนตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้เลย)

นอกจากนั้น เนื้อหาของเรื่องก็ยังทำให้ฉันตระหนักอีกครั้งได้ว่า การจะทำหนังสือสักเล่มให้ออกมามีคุณภาพหรือประสบความสำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดเพียงคนเดียว

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ